ผลการประชุมหารือคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา

ข่าวทั่วไป Wednesday July 19, 2017 15:10 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมหารือคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยย้ำให้เร่งรัดดำเนินการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และขอให้ทุกคนร่วมมือกันดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่กำหนด ทำงานประสานสอดคล้องกันทุกภาคส่วนทั้งบ้าน วัด โรงเรียน

วันนี้ (19 ก.ค.60) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา คณะอนุกรรมการ 6 คณะ ภายใต้คณะกรรมการอิสระฯ ได้แก่ คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก คณะอนุกรรมการครู คณะอนุกรรมการการเรียนการสอน คณะอนุกรรมการกองทุน คณะอนุกรรมการโครงสร้าง และคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อที่ประชุมฯ ว่า คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ภายใต้คณะกรรมการอิสระฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือว่ามีส่วนสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนด ที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามอย่างเต็มที่ในการปรับระบบการศึกษาของประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบที่ถูกแบบแผน เพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการปฏิรูปประเทศ โดยได้น้อมนำแนวทางตามหลักศาสตร์พระราชาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาดำเนินการ รวมถึงการหาแนวทางในการขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดความประสานสอดคล้องกัน พร้อมกล่าวว่าคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นคณะกรรการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งต้องเร่งจัดตั้งขึ้นให้รวดเร็วและทันตามห้วงเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยจะต้องมีการดำเนินการให้ประสานสอดคล้องกับคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนนำผลการศึกษา ข้อมูล ข้อเสนอแนะ ประสบการณ์เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่าน เช่น แผนการศึกษาของชาติ 20 ปี (กระทรวงศึกษาการ) รายงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะกรรมาธิการการศึกษา ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตลอดจนประเด็นด้านการปฏิรูปการศึกษาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และบทวิเคราะห์สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย ฯลฯ มาประกอบการพิจารณาดำเนินการเพื่อให้การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปอย่างรอบคอบ นำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการศึกษาของประเทศไทยว่า ที่ผ่านมาไม่ได้เกิดความล้มเหลว เพียงแต่ยังไม่สมบูรณ์แบบเท่าที่ควร จึงต้องดำเนินการจัดทุกอย่างให้เข้าระบบ มีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหรือวิกฤตในวันข้างหน้า ที่สำคัญต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาและผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องและตรงกับความต้องการของการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคตตามเป้าหมายที่กำหนด

สำหรับผลการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา จำนวน 25 คน โดยศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานกรรมการ และมีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ อาทิ (1) ศึกษาและเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบาย แนวทาง และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย (2) ศึกษาและเสนอแนะกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ให้ได้ผู้ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู ต่อคณะรัฐมนตรี (3) ศึกษาและเสนอแนะแนวทาง หลักเกณฑ์ และวิธีการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด ต่อคณะรัฐมนตรี (4) ศึกษาและเสนอแนะแนวทาง หลักเกณฑ์ และวิธีการปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ต่อคณะรัฐมนตรี (5) ร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู ตามมาตรา 54 วรรคหกของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวภายหลังการประชุมฯ ว่า คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จะต้องทำงานให้ประสานสอดคล้องกับคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้การทำงานปฏิรูปการศึกษาเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีความเป็นเอกภาพ

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาว่า ต้องเร่งรัดดำเนินการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทั้งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ และประเด็นปัญหาสำคัญของระบบการศึกษาของประเทศไทย ที่จะต้องดำเนินการไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตคน ผลิตครู การเรียน การสอน การสอบ การประเมินผล การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ฯลฯ โดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้ นอกจากสอนให้มีความรู้ทางวิชาการแล้วยังต้องสอนให้คนรู้จักคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อต่อยอดเป็นนักวิจัยและพัฒนาได้ในอนาคต ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ทุกช่วงวัยตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐาน เริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ปฐมวัย ขยายไปสู่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา และอาชีวะ ตลอดจนครอบคลุมถึงการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยด้วย โดยเฉพาะการหาแนวทางในการที่จะนำบุคคลที่มีเหตุจำเป็นต้องออกจากระบบการศึกษาไปก่อน เพื่อไปทำงานหรือหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวให้สามารถกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาอื่น ๆ หรือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอีกครั้งในอนาคต เพื่อจะได้พัฒนาศักยภาพตนเองและศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

ขณะเดียวกันในส่วนของการใช้จ่ายงบประมาณในด้านต่าง ๆ ทั้งงบฯ ในเรื่องของครู นักเรียน ต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นและตรงกับเป้าหมายที่กำหนด ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน อาจมีการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินการดังกล่าวอีกทางหนึ่ง เช่น การทำบัตรประจำตัวนักเรียน เพื่อการใช้จ่ายงบฯที่ถูกต้องตรงกับเป้าหมาย อันจะนำไปสู่การแก้ไขและป้องกันปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณสนับสนุนรายบุคคลที่ซ้ำซ้อน

สำหรับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศในห้วงเวลาที่เหลืออยู่ 1 ปี ของรัฐบาลนั้น นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำว่า ต้องเร่งดำเนินการในส่วนที่เป็นโครงสร้าง และปัญหาที่สาหัสหรือวิกฤตให้ได้โดยเร็ว ส่วนที่เหลือซึ่งต้องใช้เวลาให้ดำเนินการตามแผนแม่บทการศึกษาที่วางไว้ ซึ่งแบ่งเป็นช่วงละ 5 ปี ๆ สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่าง ๆ ของประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมกล่าวว่าการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคนในประเทศที่จะต้องร่วมมือกันดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่กำหนด และต้องประสานสอดคล้องกันทุกภาคส่วนทั้งบ้าน วัด โรงเรียน รวมไปถึงการน้อมนำแนวทางศาสตร์พระราชา เกษตรทฤษฎีใหม่ และแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการ ปฏิบัติ และขับเคลื่อนประเทศให้ได้ โดยเฉพาะการพัฒนาคนของประเทศไปสู่อนาคต รองรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาของโลก โดยการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ทุกคนต้องรับฟังและยอมรับตกลงตามความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องไม่มีกระบวนการที่จะนำไปสู่การดำเนินการที่ไม่ถูกต้องจนทำให้ได้มาซึ่งความไม่ชอบธรรม

-----------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ