รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี

ข่าวทั่วไป Wednesday September 27, 2017 15:43 —สำนักโฆษก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี

วันนี้ (พุธ 27 ก.ย. 60) เวลา 15.30 – 16.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายวิลเบอร์ รอสส์ (Mr. Wilbur Ross) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีบุคคลระดับสูงของรัฐบาลร่วมหารือประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นางอภิรดี ตันตาภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างสองประเทศ และแสวงหาแนวทางในการสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันเพื่อ ประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้สรุปการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวซาบซึ้งในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ นำคณะลงนามแสดงความเสียใจในสมุดหลวงต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้งแสดงความเสียใจต่อภัยพิบัติจากเฮอริเคนฮาร์วีย์ เออร์มา และมาเรีย ซึ่งไทยได้มอบเงินช่วยเหลือ 1 ล้านบาท ผ่านสภากาชาดอเมริกัน (American Red Cross) ไทยนั้นเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2561 ทั้งสองประเทศ จะครบรอบ 185 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และจะครบรอบ 200 ปีของความสัมพันธ์ในระดับประชาชน

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการบริหารงานตลอดช่วง 3 ปีว่า รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างมา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับ IUU ICAO การค้ามนุษย์ และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งขจัดอุปสรรคการค้า การลงทุน และเร่งปฏิรูปเพื่อเสริมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจ สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้าการลงทุนด้วย โดยมุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือพัฒนาประเทศให้ “มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน” สำหรับพัฒนาการทางการเมืองนั้น รัฐบาลเดินหน้าตาม Roadmap เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในช่วงเวลาที่เหมาะสม

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวชื่นชมการลงทุนของทั้งไทยและสหรัฐ ฯ ว่า มีแนวโน้มที่ดี และขอให้สหรัฐอเมริกาช่วยดูแลนักลงทุนไทยในสหรัฐ ฯ ด้วย ที่ผ่านมามีเอกชนไทยจำนวนมากที่ได้เข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา ช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับชาวอเมริกัน ภายใต้สนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย – สหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1966 นักลงทุนสหรัฐอเมริกาได้รับสิทธิพิเศษเทียบเท่ากับคนไทย การลงทุนจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนทั้งสองฝ่าย

สำหรับประเด็นข้อห่วงใยด้านการค้าและการลงทุนต่างๆ นั้น อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นสหรัฐ ฯ ทราบถึงความจริงจังและจริงใจของรัฐบาลไทย และมั่นใจว่า การเดินทางเยือนสหรัฐ ฯ และการร่วมหารือกับประธานาธิบดีทรัมป์จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ยังได้ร่วมพูดคุยกับคณะนักธุรกิจจาก บริษัทชั้นนำของสหรัฐ ฯ ประกอบด้วย นายคีธ วิลเลียมส์ (Mr. Keith Williams) ประธาน ประธานบริหารและกรรมการบริษัท Underwriters Laboratories. (UL) นาย สกิป บอยซ์ (Mr. Skip Boyce) ประธาน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท Boeing นาย สตีเฟน ดับเบิลยู กรีน (Mr. Stephen W. Green) ประธานบริษัท Chevron Asia-Pacific Exploration and Production Company นายมาร์ก คอฟมาน (Mark Kaufman) ประธาน Ford ASEAN นายวาวเตอร์ แวน เวิร์สช (Wouter Van Wersch) ประธานและประธานบริหาร อาเซียนบริษัท General Electric นายจอน อี ฮิวเนมานน์ (Jon E. Huenemann) รองประธาน กิจการบรรษัทในสหรัฐอเมริกาและระหว่างประเทศ บริษัท Phillip Morris International และผู้แทน U.S.-ASEAN Business Council (USABC) ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐ ฯ ยืนยันที่จะลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนร่วมในการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิตอล รวมทั้งการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูง ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ที่มุ่งยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทยให้โปร่งใสและสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก ด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ