นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม ก.น.จ.ครั้งที่ 3/60 เห็นชอบตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคและพื้นที่

ข่าวทั่วไป Thursday October 19, 2017 15:11 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีประชุม ก.น.จ.ครั้งที่ 3/60 เห็นชอบตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคและพื้นที่ เป็นกลไกบริหารยุทธศาสตร์ชาติสู่ระดับพื้นที่ทั่วประเทศ ให้การจัดสรรงบประมาณ แผนงานจังหวัด กลุ่มจังหวัดและภาคมีความเชื่อมโยง เตรียมเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า

วันนี้ (19 ต.ค.60) เวลา 09.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ครั้งที่ 3/2560 โดยมี พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ภายหลังการประชุม นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (เลขาธิการ ก.พ.ร.) กรรมการและเลขานุการ ก.น.จ. พร้อมด้วย นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (เลขาธิการ สศช.) กรรมการ ก.น.จ. ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า ที่ประชุม ก.น.จ. ได้พิจารณาเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับพื้นที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการให้การบริหารในระดับพื้นที่เป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น และพยายามที่จะปรับระบบปรับกลไกให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้รวดเร็วขึ้น ที่ประชุม ก.น.จ. จึงได้มีการนำเสนอการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 เนื่องจากในมาตรา 4 ของพระราชกฤษฎีกาฯ สามารถกำหนดเรื่องที่สมควรจะดำเนินการ หรือเรื่องที่จะต้องปฏิบัติแบบมีเงื่อนไขได้ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาว่า ในส่วนของระบบ ก.น.จ. เดิม จะต้องมีการปรับให้สามารถบูรณาการและมีความรวดเร็วมากขึ้น โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกว่าคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคและพื้นที่ หรือ ก.บ.ภ. โดย ก.บ.ภ. จะคล้ายกับเป็นซูเปอร์บอร์ดที่จะดูแลการทำงานของ ก.น.จ. ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบแนวนโยบายเรื่องของงบประมาณว่า ในส่วนของจังหวัด กลุ่มจังหวัด ให้สามารถเสนอจากข้างล่างขึ้นมา แล้วให้ข้างบนสามารถลงไปอุดช่องว่างความต้องการต่าง ๆ ได้ โดยจะมี ก.บ.ภ. ช่วยแก้ปัญหาการบริหารงานในระดับพื้นที่ ซึ่งจะมีการออกแบบเป็น 6 ภาค มีกลุ่มจังหวัดที่อยู่ในแต่ละภาค เพื่อเป็นคลัสเตอร์ในแต่ละเรื่อง ทั้งคลัสเตอร์ในเชิงมิติพื้นที่ หรือคลัสเตอร์ในเชิงวาระต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว การเกษตร ซึ่งจะทำให้ระบบการบูรณาการมีความชัดเจนมากขึ้น และการจัดสรรงบประมาณจะลงไปตามความต้องการได้เพิ่มขึ้น โดยในส่วนของรายละเอียดจะมีการแก้ไขของดใช้พระราชกฤษฎีกาฯ และมีการปรับปรุงในบางเรื่อง รวมทั้งจะมีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อวางระบบการทำงานในระบบภาคให้มีความเชื่อมโยงกับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดได้ดีขึ้น โดย ก.น.จ. จะนำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ดำเนินการทันที

“คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคและพื้นที่ หรือ ก.บ.ภ. เป็นเหมือนซูเปอร์บอร์ดที่ครอบลงมาในระบบ ก.น.จ. เดิม เพื่อที่จะทำให้การจัดสรรงบประมาณ แผนงานจังหวัด กลุ่มจังหวัดและภาคเชื่อมโยงกัน และมีการเสนองบประมาณได้ทั้งจากล่างขึ้นบน และจากบนลงล่าง เพื่อที่จะช่วยอุดช่องว่างของกันและกัน และจะพยายามออกแบบกลไกอย่างนี้เพื่อให้ทำงานได้เร็ว ไม่ล่าช้าตามระบบราชการเดิม ซึ่งเป็นจุดที่จะมีการปรับเปลี่ยนโดยเร็ว และหลังจากที่มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว จะได้นำรายละเอียดโครงการต่าง ๆ มาชี้แจงต่อไป” เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าว

ด้านเลขาธิการ สศช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่มาของการปรับกลไกการทำงานก็เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าจะต้องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติลงไปในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติของประเทศ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประสบความสำเร็จ ฉะนั้นจะต้องมีการบริหารยุทธศาสตร์ของประเทศลงไปสู่ระดับพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งในกลไกเดิมมีในส่วนของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยให้กลุ่มจังหวัดประสานเรื่องต่าง ๆ ในจังหวัดขึ้นมาเป็นคลัสเตอร์ แต่คงยังไม่เห็นภาพที่จะตอบโจทย์ ฉะนั้นจึงมีการปรับมาเป็นกรรมการบูรณาการในเชิงภาครวม 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) โดย ก.บ.ภ. จะไปจัดทำแผนเชิงยุทธศาสตร์ภาคขึ้น เพื่อดูโครงการหรือแนวทางขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่จะถ่ายทอด ส่งเสริมยุทธศาสตร์ชาติได้ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งในภูมิภาคจะมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงทั้งจากในภาคไปภาคต่าง ๆ เชื่อมโยงไปจากส่วนกลาง จากกรุงเทพฯ หรือเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ในเรื่องการปรับปรุงฐานการผลิตที่เป็นฐานอยู่ในภาคต่าง ๆ เช่น เรื่องทรัพยากร เอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ การท่องเที่ยว สังคมสิ่งแวดล้อม ลักษณะที่เฉพาะของภาค เรื่องป่าไม้ หมอกควัน น้ำ ความเป็นเมืองสำคัญ ๆ ในแต่ละภาค การจราจร ขยะ เป็นต้น ที่จะทำให้เกิดความชัดเจนของภาคขึ้นมา โดยมีกรรมการภาคเป็นกลไกขับเคลื่อน

“ยกตัวอย่างยุทธศาสตร์เชิงภาคได้จากการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในส่วนภูมิภาค ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคกลาง จะเห็นแนวทางของภาคที่ได้มีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช ที่อนาคตจะมีการเชื่อมต่อไปที่ชายแดน จะเกิดการพัฒนาเมืองพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ สร้างโอกาสการค้าขาย เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือในเรื่องของน้ำ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็เป็นฐานการเกษตรที่สำคัญ ซึ่งคณะกรรมการ ก.บ.ภ. จะทำหน้าที่ติดตามขับเคลื่อน” เลขาธิการ สศช. กล่าว

เลขาธิการ สศช. กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของจังหวัดในความรับผิดชอบของ ก.น.จ. เดิม จะยังอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ ฉะนั้นในส่วนของแผนภาคแต่ละแผน จะเป็นโครงการขนาดค่อนข้างใหญ่ในเชิงยุทธศาสตร์ โครงการระดับจังหวัดที่มีแต่ละจังหวัดในภาค ก็ยังเป็นโครงการที่จะต้องดูแลในระดับย่อยลงมาโดยเฉพาะ ในเรื่องของขอบข่ายความรับผิดชอบของจังหวัด ในการดูแลเรื่องทุกข์สุขของประชาชนในจังหวัด ซึ่งจังหวัดจะเชื่อมโยงในระดับพื้นที่ อำเภอ ตำบล ชุมชน ขึ้นมาถึงแผนจังหวัด ฉะนั้น จะมีแผนภาคและแผนจังหวัดที่แบ่งกันชัดเจน ครอบคลุมประเด็นทั้งเชิงตอบสนองยุทธศาสตร์ของประเทศ และตอบสนองเรื่องการดูแลทุกข์สุขของประชาชนในระดับย่อย ทั้งหมดนี้จะเป็นโครงสร้างใหม่ที่จะเกิดขึ้นมาทดแทน และจะเป็นแนวทางของการบริหารยุทธศาสตร์และนโยบายของประเทศ ที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนต่อจากนี้ไป ทั้งนี้ จะได้นำมติในที่ประชุมไปดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 เพื่อเร่งจัดตั้ง ก.บ.ภ. ขึ้นมาดำเนินงาน ซึ่งเมื่อจัดตั้งแล้วก็จะดำเนินงานทันที

------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ