นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการประชุมระดับภูมิภาคขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

ข่าวทั่วไป Wednesday December 20, 2017 16:03 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการประชุมระดับภูมิภาคขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

วันนี้ (20 ธันวาคม 2560) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมระดับภูมิภาคขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในหัวข้อ “Global Aviation Security Plan (GASeP) : The Roadmap to Foster Aviation Security in Asia and Pacific” โดยมีผู้บริหารระดับสูงร่วมการประชุม ได้แก่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นางฟาง หลิว (Dr. Fang Liu) เลขาธิการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และเป็นสมาชิกขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ ICAO รัฐบาลไทยจึงมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และยกระดับการบินพลเรือนของประเทศให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับระดับสากลมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศไทยสามารถแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยยะสำคัญด้านความปลอดภัย (Significant Safety Concern – SSC) ได้สำเร็จเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้ปลดธงแดงจากชื่อประเทศไทยภายหลังจากได้รับการตรวจสอบ ICAO Validation Mission ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เพื่อให้การบินพลเรือนของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยการบินพลเรือนของไทยให้ได้รับความเชื่อมั่น และยอมรับในสายตานานาอารยประเทศ

นอกจากบริบทด้านความปลอดภัยการบินพลเรือนแล้ว ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศไทยได้ผ่านการตรวจสอบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ตามโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความ ปลอดภัย ด้วยวิธีการตรวจแบบตรวจตราอย่างต่อเนื่อง(Universal Security Audit Programme, Continuous Monitoring Approach: USAP-CMA) อย่างไรก็ตาม ในสภาวะภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันทำให้ประชาคมการบินพลเรือนระหว่างประเทศตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดทำแผนงานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยด้านการบินระดับโลก ซึ่งในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จะต้องมีการนำแผนงานดังกล่าวมาดำเนินการและปฏิบัติให้สอดคล้องตามแผนงาน (roadmap) อันเป็นที่มาของการจัดการประชุมสัมมนาในครั้งนี้

รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน เห็นได้จากยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี โดยจัดให้อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) เพื่อเป้าหมายในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค รวมถึงแผนในการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการบินแห่งภาคตะวันออก และมีแผนที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นเพิ่มเติม ได้แก่ การสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารอาคาร 2 การสร้างทางวิ่งหรือรันเวย์แห่งที่ 2 ห่างออกไปจากรันเวย์เดิม 1.5 กิโลเมตร และการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน นอกจากนี้ รัฐบาลยังเห็นชอบงบประมาณเพิ่มเติมในการก่อสร้างอาคารเรียนของศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทางการบินอีกด้วย

ในส่วนของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานนั้น ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (TG MRO Complex Development) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ระหว่างบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอร์บัส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทันสมัยมีมาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทั้งนี้ จะทำให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภากลายเป็นท่าอากาศยานที่เชื่อมต่อการเดินทางสำคัญอีกแห่งของภูมิภาค ช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาฝั่งตะวันออกโดยตรง อันจะเป็นการช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว ในพื้นที่และสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นได้อีกด้วย

การพัฒนาอุตสาหกรรมการบินยังสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศ เพื่อเข้าสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” บนวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” ซึ่งเป็นภารกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของไทย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาคนไทย เยาวชนไทย ให้มีทักษะความรู้ความสามารถ เพื่อให้บุคลากรไทยมีความพร้อมในการรองรับความต้องการของตลาดและผู้ประกอบการที่จะมาลงทุนในประเทศ และพร้อมต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยยึดหลักการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ มีเป้าหมายและนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านต่างๆเพื่อให้มีความพร้อมและสามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่ได้

สำหรับแผนงานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยด้านการบินระดับโลก ยังเป็น

กลยุทธ์ในการช่วยให้ประเทศสมาชิกขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ สร้างความร่วมมือและเครือข่ายเพื่อการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนระหว่างรัฐสมาชิกด้วยกัน และระหว่างประเทศสมาชิกกับหน่วยงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยการบินด้วย ทั้งยังจะเป็นการช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมทางด้านการรักษาความปลอดภัยและศักยภาพในการดำเนินการดังกล่าว ด้วยการมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ตลอดจนปรับปรุงพัฒนากรอบแนวคิดเพื่อการกำกับดูแลและการประกันคุณภาพในเรื่องดังกล่าวอีกด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้ายว่า การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสัมมนาระดับภูมิภาคเพื่อนำเสนอแผนงานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยด้านการบินระดับโลกในครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้มีบทบาทสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ในการจัดให้มีเวทีในระดับภูมิภาคเพื่อการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายในด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนระดับโลก และยกระดับด้านการรักษาความปลอดภัยด้านการบินทั่วโลก ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่ผู้แทนจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ได้มีโอกาสพบปะและร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการรักษาความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนร่วมกันด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ