สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2560

ข่าวทั่วไป Saturday December 30, 2017 16:01 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2560 เวลา 20.15 น. ในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง แก่พสกนิกรชาวไทย ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานหนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์ แก่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อนำไปแจกให้แก่ประชาชน ที่เข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ณ วัดหรือสถานที่จัดกิจกรรมทั่วประเทศ โดยหนังสือสวดมนต์พระราชทานนี้ จะประกอบด้วยบทสวดมนต์บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย 3 บท และบทเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล 34 บท พร้อมคำแปล เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเข้าใจความหมายของบทสวดมนต์แต่ละบทที่จะสวดด้วย ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และในโอกาสอื่น ๆ

กิจกรรม “สวดมนต์ข้ามปี ถวายเป็นพระราชกุศล เสริมสิริมงคลทั่วไทยส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีธรรม พุทธศักราช 2561” นี้ เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้บูรณาการร่วมกับภาครัฐ เอกชน และองค์การศาสนา “ทุกศาสนา” จะได้ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์อธิษฐานขอพรตามหลักธรรมทางศาสนา จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนได้มาร่วมในกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มชีวิตในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง เพื่อเตือนใจให้ตั้งมั่นในความดี และตั้งใจหมั่นทำความดี “คิดดี พูดดี ทำแต่สิ่งดี ๆ” ต่อไป

การจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ภาคเหนือ พร้อม พบปะประชาชนในจังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย รับฟังเรื่องราวร้องทุกข์ ที่ต้องการให้มีการพัฒนา ความคิดเห็น ข้อเสนอต่างๆ โดยได้มีโอกาสหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือ ทั้ง 17 จังหวัด รวมถึง ตัวแทนของพี่น้องประชาชน ซึ่งก็ถือว่าเป็นการรับฟังความต้องการของชุมชนท้องถิ่น “โดยตรง” ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องนำรายละเอียดมาไตร่ตรองและหาข้อมูล ข้อเท็จจริง ทำให้ได้ข้อสรุป เพราะว่าเป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องใช้ทั้งหลักการ ทั้งวิชาการ ทั้งเอกสาร ทั้งการายงานต่างๆ ประกอบกับการลงพื้นที่ เพื่อจะดำเนินการจัดทำลำดับความเร่งด่วน แผนงาน และโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการบริหารงบประมาณ ซึ่งต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับห้วงระยะเวลา ตรงกับความต้องการและการแก้ปัญหาได้ตรงจุด เพื่อให้พี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ ได้มีโอกาสพูดคุยผ่านทั้งช่องทางของราชการ และช่องทางของท้องถิ่น เพื่อให้ส่งถึงนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง ในระยะเวลาอันรวดเร็วขึ้น

ก่อนสิ้นปีนี้นั้น นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยือนพี่น้องประชาชน พร้อมดูแลถามไถ่ทุกข์สุขอย่างใกล้ชิด ถือว่า “ครบทุกภูมิภาคของประเทศ” แล้ว ซึ่งการทำงานวันนี้นั้น รัฐบาลใช้กลไก “ประชารัฐ” เป็นกลไกที่มีการขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน ต่อเนื่อง และครอบคุลมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ผลการเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนภาคเหนือ มี 6 ด้านด้วยกัน ได้แก่ เรื่องที่ 1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพราะเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ มีศักยภาพที่จะต่อยอด ในเรื่องการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและเชื่อมกับประเทศ CLMV เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้ง พัฒนาเส้นทางมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก แล้วก็การขยายช่องทางจราจรทางหลวงแผ่นดินเพื่อจะรองรับการเดินทางและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ตลอดจนมีการศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องการพัฒนารถไฟฟ้ารางเบา ในเขตเมือง โดยดำเนินการในเรื่องของรถไฟทางคู่ หรือทางเดี่ยวที่ยังไม่มี สำหรับรถไฟความเร็วสูงก็ต้องพิจารณาถึงงบประมาณ ในเรื่องของการลงทุน เพื่อจะไปจัดลำดับความสำคัญ จัดลำดับความเร่งด่วน โดยมีคณะกรรมการพิจาณาอยู่แล้ว เรื่องที่ 2. ด้านการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งกำเนิด แม่น้ำปิง-วัง-ยม-น่าน รวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายหลักของประเทศไทย แล้วก็ทำให้ภาคกลางเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ถือว่าเป็น “เส้นเลือดหลัก” เพื่อจะหล่อเลี้ยงภาคการผลิต เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมของประเทศ รักษาระบบนิเวศ น้ำอุปโภค และบริโภค โดยมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ มีข้อมูลเดียวกัน นำพื้นที่มาจัดโดยมีการพิจารณาวางแผนและใช้งบประมาณร่วมกัน เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระบบ

เรื่องที่ 3. ด้านเกษตรและการแปรรูป โดยสนับสนุนโครงการเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อการส่งออกของภาคเหนือ ใช้ผักและผลไม้นำร่อง เช่น กล้วยหอม ซึ่งเหมาะกับดินในภาคเหนือ สับปะรด กระเจี๊ยบเขียว ขิง มะม่วง ข้าว ไผ่ และ พืชสมุนไพร เช่น ส้มซ่า รวมทั้งครอบคลุมการผลิตตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อจะเป็นอาหาร และสินค้าส่งออก โดยเป็นสินค้านวัตกรรมให้ได้โดยเร็ว เพื่อจะไปสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น และเพิ่มมูลค่าให้มากยิ่งขึ้น โดยต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับการโซนนิ่งพื้นที่ไปด้วย โดยขอให้ทุกคนไปดูแอปพลิเคชั่นเพื่อการเกษตร ที่เรียกว่า “Agri-Map”

เรื่องที่ 4. ด้านการค้าและการลงทุน โดยเร่งสนับสนุนในเรื่องของการอำนวยความสะดวกทางการค้า การค้าชายแดน จุดผ่านแดน เส้นทางการท่องเที่ยว และการลงทุนต่างๆ ระหว่างไทยกับเมียนมา ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการเรื่อง Visa on Arrival (VOA) ณ ด่านชายแดนไทยกับเมียนมา การทำความตกลงทวิภาคี การเปิดเดินรถส่วนบุคคล การอนุญาตให้รถขนส่งของเมียนมาเข้ามาขนส่งสินค้าในฝั่งไทย ด้านด่านแม่สอด จังหวัดตาก ลักษณะเป็นการค้าหรือการขนส่งต่างตอบแทน โดยเท่าเทียมกัน ตลอดจนจะมีการพัฒนา “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตก” ในพื้นที่จังหวัดตาก พิษณุโลก และสุโขทัย ซึ่งจะได้พิจารณาในเรื่องการสนับสนุน การจัดงานแสดงศักยภาพสินค้าเกษตรของภาคเหนือ งานแสดงสินค้าและมีการจับคู่ธุรกิจ เพื่อขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นต่อไป

เรื่องที่ 5. ด้านการแพทย์ การบริการผู้สูงอายุ และสังคม ซึ่งจะต้องมีการจัดทำแผนแม่บท ในเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร พร้อมผลักดันนโยบาย “เมืองสมุนไพร” (Herb City) และ การแพทย์แผนไทย ที่มีคุณภาพ โดยเน้นความสะอาดเป็นสำคัญ เพื่อความเป็นเลิศในเรื่องการแพทย์แผนไทย และสามารถนำไปขยายผลต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

และสุดท้าย เรื่องที่ 6. ด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีรายได้สูงในปีที่ผ่านมา แล้วก็ปีนี้ด้วย โดยปีนี้ก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยกว่า 3.5 ล้านคน แต่ต้องมีการควบคุมคุณภาพ โดยไปดูแลไกด์ ร้านค้า และทัวร์ให้เป็นไปตามกฎหมาย พร้อมกันนี้ มีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด ภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชนด้วย โดยให้คนในท้องถิ่นมีส่วนแบ่งในรายได้นี้ด้วย รวมไปถึงเรื่องดิจิทัลเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมต่อทุกภาคส่วน การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การลงพื้นที่ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เป็นสักขีพยานในการมอบหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินทำกิน ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัด รวม 21 พื้นที่ เพื่อมอบให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยและมีที่ทำกินให้ถูกต้องตามกฎหมาย “โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช” ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวทางไว้ ทั้งสิ้น 8 โครงการ คงเหลือโครงการนี้อีก 1 โครงการที่ยังค้างอยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ปี 2531มีน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 50 ปี ประชาชนเดือดร้อนกว่า 6 แสนคน สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน และพื้นที่ทำกิน ไม่ต่ำกว่า 7.5 พันล้านล้านบาท หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข เหตุอุทกภัยมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี ปี 2539 มูลค่าความเสียหายกว่า 63 ล้านบาท ปี 43 เสียหายกว่า 192 ล้านบาท และปี 54 เสียหายกว่า 2,300 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ กรมชลประทาน ได้เริ่มศึกษาสภาพปัญหาและหาแนวทางแก้ไขแล้ว โดยเน้นการมีส่วนร่วม มาตั้งแต่ปี 2531 - 2545 รวม 14 ปี แต่จนบัดนี้ ผ่านไป 15 ปี ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งรัฐบาลนี้ ได้นำโครงการนี้ขึ้นมาดำเนินการใหม่เพราะเป็นโครงการพระราชดำริฯ ภายหลังจากการลงพื้นที่ภาคใต้ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา และรัฐบาลได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว โดยแบ่งการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

(1) ระยะเร่งด่วน เน้นในพื้นที่ชุมชนเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ เขตเทศบาลเมือง พื้นที่สาธารณะต่างๆเพื่อเป็นการให้บริการแก่ประชาชน

(2) ระยะยาว ครอบคลุมทั้งในและนอกเขตเมืองอย่างเป็นระบบ โดยการหาพื้นที่เหมาะสม ขุดคลองผันน้ำใหม่ หากสามารถดำเนินการได้สำเร็จ นอกจากจะแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่นี้ได้อย่างยั่งยืนให้กับ 32,000 ครัวเรือนแล้ว ยังสามารถเก็บกักน้ำต้นทุน สำหรับกิน/ใช้ และเพื่อการเกษตรในหน้าแล้งได้กว่า 5.5 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่รับผลประโยชน์อีก 17,400 ไร่ด้วย

การพัฒนาประเทศในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา

ประชาชนคงสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศไม่มากก็น้อย นอกจากการพัฒนาทางโครงสร้างพื้นฐานที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยง มีแผนงาน รวมทั้งรัฐบาลตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT หรือ “เน็ตประชารัฐ” เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงองค์ความรู้จากทั่วโลก โดยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในยุคดิจิทัล เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างเต็มที่ ในเรื่องการค้า การพัฒนาคุณภาพชีวิต ความรู้ การสาธารณสุข ทุกอย่างใช้ดิจิทัลทั้งสิ้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยต้องเร่งสร้างความเข้มแข็ง และหาแนวทางแก้ไขให้เกิดความยั่งยืนควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาหนี้สิน ได้แก่ เรื่องกฎหมายขายฝาก ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปได้ในไม่ช้า โดยสืบเนื่องมาจาก “สัญญาขายฝาก” เพราะพี่น้องเกษตรกรยากไร้ ขาดเงินทุน และเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบ อย่างเช่นธนาคาร หรือสถาบันการเงินต่าง ๆ จึงต้องหาแหล่งเงินกู้นอกระบบ ก็ถูกนายทุนเงินกู้เรียกร้องให้นำโฉนดที่ดินมาเป็นหลักประกัน โดยการทำ “สัญญาขายฝาก” โดยพี่น้องเกษตรกรเหล่านั้นไม่รู้ทั้งเนื้อหาของสัญญา ไม่รู้ทั้งกฎหมายขายฝาก และสมัยก่อนบางทีก็อ่านหนังสือไม่ได้ด้วย ส่งผลให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของพี่น้องเกษตรกร ตกเป็นของผู้รับขายฝากทันที ยกเว้นแต่ผู้ขายฝากหรือพี่น้องเกษตรกรจะมาไถ่ถอนตามกำหนดเวลาเท่านั้น

การก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2561 สิ่งที่ นายกรัฐมนตรี คาดหวังเช่นคนไทยทุกคนเหมือนกันคือ การเห็นบ้านเมืองมีความสุขมากขึ้นและคนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น รัฐบาลก็พยายามจะมองไปข้างหน้า และต้องมีการประเมินสถานการณ์ และคาดการณ์ล่วงหน้าถึงความเป็นไปได้ในหลายๆ มิติ เพื่อให้ “คนไทยและประเทศไทย” ก้าวทันเทคโนโลยี และโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยขอให้คนไทยได้ร่วมกันมองเห็น “ภาพอนาคต” จากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC อันเป็น “โครง การนำร่อง” ของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอีก 10 แห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อจะทำให้ทุกภูมิภาคเข้มแข็ง และมียุทธศาสตร์การดำเนินการตามนโยบาย และเป็นไปตามวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศ ตามนโยบาย “Thailand 4.0” ให้เป็นรูปธรรม ที่รัฐบาลต้องการมอบเป็นของขวัญกับประชาชนคนไทยทุกคนและเป็น ของขวัญให้กับลูกหลานคนไทยทุกคน เพื่อให้เข้าถึงโอกาสดีๆ ทั้งคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพดีๆ มีการศึกษาที่ดีรวมทั้งมีรายได้ที่ดีขึ้นในอนาคตด้วย

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวอวยพรขอให้คนไทยทุกคนและ “ครอบครัว” มีความสุข ในช่วงวันหยุดเทศกาล “ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่” ด้วยความสดใสและเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง พร้อมเดินทางไป – กลับโดยสวัสดิภาพ และปลอดภัยทุกคน

..........................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ