สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 5 มกราคม 2561

ข่าวทั่วไป Friday January 5, 2018 16:43 —สำนักโฆษก

สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 5 มกราคม 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา

สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 5 มกราคม 2561เวลา 20.15 น.ในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

เนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2561 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพรปีใหม่ แก่พสกนิกรชาวไทยทุก ๆ คน โดยทรงพระราชทานพรและความปรารถนาดี ให้ปวงชนชาวไทยมีกำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญาที่แจ่มใส เข้มแข็ง มีความสุขความเจริญอันเป็นมงคลยิ่งๆ ขึ้นไป อีกทั้ง ทรงขอพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวง ให้ปกป้องคุ้มครองพสกนิกรชาวไทยทุกคนและมีขวัญกำลังใจ ในการที่จะเป็นพลังที่เข้มแข็งต่อประเทศ และชาติบ้านเมืองสืบต่อไป นอกจากนี้ ทรงมีพระราชดำรัสว่า ในรอบปีที่ผ่านมา บ้านเมืองของเราได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายอย่าง ซึ่งเราทั้งหลายก็คงจะตระหนักทราบดีอยู่แล้ว โดยทรงพระราชทานสติ ไม่ว่าเหตุการณ์ใดๆ จะเกิดขึ้น ก็ขอให้เราคนไทยสามารถฝ่าฟันไปด้วยกันได้อย่างดี ด้วยความขันติ ใจเย็น ค่อยคิดค่อยทำไปอย่างต่อเนื่อง มุ่งมั่นด้วยสติและเหตุผลอันพอเหมาะพอควร เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ทั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานที่น่าชื่นชมว่า กิจกรรม “สวดมนต์ข้ามปี” ซึ่งจัดต่อเนื่องมาทุกปี ปีนี้ มีพี่น้องสาธุชนเข้าร่วมมากถึงราว 20 ล้านคน จากทุกศาสนา ในราชอาณาจักรไทย หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าไม่เพียงแต่การท่องบทสวดมนต์เท่านั้น แต่ได้นำหลักธรรมไปปฏิบัติในการคลองชีวิตประจำวัน ย่อมช่วยยกระดับจิตใจทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ และช่วยสร้างความเจริญให้กับบ้านเมืองพร้อมมอบสิ่งที่ดีให้แก่กันและกัน คือการ “คิดดี พูดดี ทำดี” แก่กัน พร้อมทั้งสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ควบคู่กันไปอย่างสมดุล ชีวิตจึงจะมีความสุขส่งผลให้ประเทศชาติมีการพัฒนาทั้งทางวัตถุและทางความรู้สึกนึกคิด จึงจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัญหาหนี้สินเป็นประเด็นสำคัญที่เป็นภาระของผู้มีรายได้น้อย ที่ฉุดรั้งการพัฒนาคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยหนี้ครัวเรือนของประเทศอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง คือภาระหนี้ของประชาชน คิดเป็นเกือบร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายสาธารณะ ที่ไม่ส่งเสริมการออมแม้ 3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขหนี้ครัวเรือนจะลดลงบ้าง แต่ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า เพราะด้วยเศรษฐกิจที่อ่อนแอเป็นเวลานาน และการฟื้นตัวอาจยังไม่ทั่วถึง ทำให้หนี้สินไม่ได้ลดลงมากนัก แม้รัฐบาลจะมีมาตรการหลาย ๆ ด้าน ทั้งการปรับโครงสร้าง การพักชำระหนี้ของพี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ รวมถึง “คลินิกแก้หนี้” สำหรับผู้ที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว นอกจากในเรื่องของการเพิ่มรายได้ที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือในหลายด้านแล้วก็ต้องอาศัยการปรับตัวของพี่น้องประชาชน โดยร่วมกันคนละไม้ละมือ เรื่องเพิ่มวินัยทางการเงิน มีการเก็บออมกันให้ได้มากขึ้น ทั้งนี้การออมเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราต้องใส่ใจ และปลูกฝังเยาวชนไทยในวันนี้ ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้เรายังมีงานทำ มีรายได้ มีเรี่ยวแรงในการทำมาหาเลี้ยงชีพหรือไม่ หรือต่อไป เมื่อเราเกษียณอายุไปแล้ว หากไม่มีรายได้ ไม่มีเงินออมไว้ในอดีตที่เพียงพอเลี้ยงตัวเองได้ ยิ่งหากใครไม่มีลูกหลาน ไม่มีใครให้พึ่งพา แล้วจะทำอย่างไร คงจะต้องคิดไว้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 6 ของประชากรทั้งประเทศ และผู้มีอายุ 35 - 60 ปี ที่เป็นวัยแรงงานของเราในวันนี้ ก็กำลังเข้าสู่วัยชราในอนาคตอันใกล้ โดยสัดส่วนวัยแรงงาน กับ วัยชราจะเปลี่ยนไปอย่างน่ากังวล จากปัจจุบันประชากรวัยแรงงาน 4 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน แต่ในอีก 25 ปี จะเหลือประชากรวัยแรงงานเพียง 2 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ส่งผลให้ภาพรวมของประเทศ วัยแรงงาน ต้องแบกภาระ เพิ่มเป็น 2 เท่าโดยต้องทำงานหนักขึ้น แต่ต้องรักษาระดับการผลิตไม่ลดลงจากเดิม รวมทั้ง ยังคงต้องพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันหรือทัดเทียมนานาอารยประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องเตรียมการเพื่อสิ่งนี้ และคนไทยทุกคนก็ต้องเตรียมตัวเองเช่นกัน นับเป็นความมั่นคงอีกรูปแบบหนึ่ง ที่รัฐบาลนี้ตระหนักดี และขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคน

การออมเพื่อมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณได้ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร โดยจะมีเงินจากรัฐบาล หรือนายจ้าง มาช่วยสมทบเงินออมด้วย เพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มมีเงินใช้หลังเกษียณผ่านกองทุนประกันสังคม และกองทุนการออมแห่งชาติ โดยรัฐบาลจะช่วยสมทบการออมให้กับทุกคนด้วย ซึ่งกองทุนการออมแห่งชาตินี้ จัดตั้งขึ้นในปี 2558 โดยรัฐบาลนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการออมให้กับพี่น้องประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระ โดยสมัครใจและเป็นการออมที่ต้องวางแผนเพื่ออนาคตเมื่อเกษียณแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีถือว่า“การออม”ในวันนี้จะเป็นสิ่งสำคัญช่วยสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้กับทุกคน โดยนายกรัฐมนตรีไม่ได้ต้องการให้ทุกคนรวย แต่นายกรัฐมนตรีต้องการให้ทุกคนมี “ค่าใช้จ่ายที่พอเพียงแก่ตน” ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำหรับผู้มีรายได้น้อย คือ จะออมอย่างไร ในเมื่อรายได้ทุกวันนี้ ก็ไม่พอจะใช้จ่ายอยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีก็ขอเป็นกำลังใจ โดยขอให้ลองตรึกตรองถึงการเติมน้ำใส่ตุ่มที่ก้นรั่วการเติมน้ำคือ รายได้ส่วนน้ำรั่วคือรายจ่ายหากเราต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็ต้องเติมน้ำให้ได้มากกว่าน้ำรั่วอยู่เสมอ หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของตนให้สูงขึ้น ตามจำนวนลูกค้า ซึ่งสามารถทำสถิติช่วงเวลาของวัน และแต่ละวันในสัปดาห์ได้อีกวิธีคือการอุดรูรั่วจะทำได้ก็ต้องมีการทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งช่วยวิเคราะห์ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นจัดลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วนและวางแผนการเก็บเงินเพื่อค่าใช้จ่ายในอนาคตที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งปีใหม่นี้ นายกรัฐมนตรีก็อยากให้ทุกคนทบทวนตนเอง และพัฒนาตนเอง รวมทั้งฝากให้ได้คิดว่า ยิ่งเริ่มออมได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะทำให้อยู่ได้อย่างมั่นใจ

ประเด็นบทบาทของท้องถิ่นและการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งในแต่ละปี งบประมาณท้องถิ่นจะประกอบด้วย รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บได้เอง เช่น ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ เป็นต้น และเงินภาษีที่รัฐจัดสรรให้รวมถึงเงินอุดหนุนเพิ่มเติม เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถนำไปใช้บริหารจัดการ และดำเนินการโครงการต่าง ๆ ตามความต้องการของชุมชนได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อย่างตรงจุดด้วยโดยในปีงบประมาณ 2561 นี้ รายได้ทั้งหมดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อยู่ที่ 720,000 ล้านบาท

นอกเหนือไปจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรลงสู่ท้องถิ่นโดยตรงแล้ว รัฐบาลยังมีการจัดสรรงบประมาณไปสู่กระทรวงต่างๆ ในการใช้จ่ายสำหรับการบริหารจัดการโครงการในภาพรวมของประเทศ เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำในขนาดใหญ่ การดูแลโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารของประเทศ หรือการก่อสร้าง พัฒนา ซ่อมแซมทางหลวงสายหลักที่เชื่อมจังหวัด หรือภูมิภาค เป็นต้น ส่วนถนนสายรองๆ ลงไป ก็จะอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละท้องถิ่นในการบริหารจัดการจากงบประมาณ ตามที่ได้รับการจัดสรรไป โดยในส่วนของการใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น สามารถดำเนินการได้ตามโครงการที่ได้รับอนุมัติและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยงบอุดหนุนเฉพาะกิจที่จะระบุโครงการชัดเจน หากเหลือก็ต้องนำส่งคืนคลัง ส่วนเงินที่เหลือจ่ายจากงบประมาณที่ อปท. ได้รับไว้ภายในวันสิ้นปีงบประมาณของทุกปี จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) ร้อยละ 25 เก็บไว้เป็นเงินทุนสำรองเงินสะสมและ (2) อีกร้อยละ 75 ให้ถือเป็นเงินสะสมเพื่อให้ อปท. มีฐานะการเงินการคลังที่มั่นคง พร้อมรับภาระและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในอนาคต ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ หรือนำไปจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง และเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดีเงินสะสมก้อนนี้ สามารถนำออกมาใช้ได้ แต่ไม่ทั้งหมด ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไข และตามสัดส่วน ที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยส่วนหนึ่งถูกกันไว้เพื่อสำรองเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร เงินรายจ่ายประจำที่ต้องจ่ายให้กับประชาชน เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเงินเบี้ยความพิการ และกรณีเกิดสาธารณภัย เป็นต้นนอกจากนี้ เพื่อความโปร่งใส หากมีการนำเงินสะสมออกไปใช้ในโครงการต่างๆ อปท. จะต้องรายงานให้จังหวัดทราบ ซึ่งจังหวัดจะติดตามและรายงานผลการใช้เงินผ่านทางระบบ E-plan มาสู่ส่วนกลาง ให้สามารถตรวจสอบได้ด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าเงินสะสมบางจังหวัดอยู่ในระดับสูง บางจังหวัดก็มีไม่มากนัก จึงอาจเป็นข้อจำกัดด้านโครงสร้าง ที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมในระยะต่อไปด้วย รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นการให้โอกาส หรือช่องทางสำหรับพื้นที่และชุมชนในการพัฒนาตนเอง ให้ได้ตามความต้องการมากขึ้น โดยท้องถิ่นต้องรู้ในศักยภาพของตนเอง พร้อมพัฒนาจุดนั้นให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างอัตลักษณ์ สร้างแบรนด์ให้กับพื้นที่ของตน รวมทั้งส่งเสริมการค้าและการลงทุนแล้ว ยังเป็นการพัฒนาที่เป้าหมายที่ชัดเจนซึ่งจะทำให้ทั้งท้องถิ่นเดินหน้าไปด้วยกันได้ดีขึ้น โดยใช้ทรัพยากรและงบประมาณที่คุ้มค่าต้องสอดคล้องกับภาพรวมของประเทศ หรือยุทธศาสตร์ชาติ

หาก อปท. และส่วนภูมิภาคเข้าใจในนโยบายนี้ดี ก็จะรู้รัฐบาลนี้ พยายามที่จะกระจายความเจริญ ไปสู่ทุกจังหวัดที่มีเมืองหลัก เมืองรอง เมืองท่า เมืองชายแดนมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีเครือข่ายการคมนาคม ทั้งทางบก ราง น้ำ อากาศ ให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาจราจรช่วงเทศกาลเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของคนไทยทั้งประเทศได้ภาคภูมิใจในถิ่นเกิดของตน ไม่ต้องมาแสวงโชคในเมืองจนเกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย ทั้งยาเสพติด อาชญากรรม แต่ละ อปท. จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค ต้องมีแผนการพัฒนา โดยชูศักยภาพ จุดขาย จุดแข็งของตน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะส่งเสริมกันในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนเพื่ออนาคตที่พยายามเป็น Smart City และอีกหลายจังหวัดที่ก็สามารถส่งเสริมเป็นMICE City ได้ ทั้งนี้ ธุรกิจการประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การประชุมนานาชาติและการจัดแสดงสินค้าและนิทรรศการต่างๆ นับเป็นเครือข่ายธุรกิจที่กำลังเติบโต มีอนาคตไกล สามารถเชื่อมเรื่องการทำงาน การประกอบธุรกิจ เข้ากับการท่องเที่ยวได้ โดย นักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ เพราะเป็นนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ ที่มีการใช้จ่ายเป็นค่าที่พัก เดินทาง อาหารสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป กระจายรายได้แทรกซึมไปอย่างทั่วถึง ทุกสาขาอาชีพ ของสังคมในท้องถิ่น

ทั้งนี้วิสัยทัศน์การพัฒนาท้องถิ่นแบบนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือกลไกประชารัฐในแต่ละชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค ประเทศในภาพรวมเชื่อมโยงกัน โดยการใช้งบประมาณต้องมีประสิทธิภาพอาจเป็นงบประมาณท้องถิ่นเอง งบประมาณแผ่นดินที่ต้องเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ หรือการร่วมทุนกับเอกชน หรือ PPP ก็ตาม สิ่งสำคัญที่นอกจากความร่วมมือในด้านการพัฒนาแล้ว เราทุกคนต่างมีหน้าที่พลเมืองในการสอดส่อง ป้องกัน การทุจริตอีกด้วย

..................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ