สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 19 มกราคม 2561

ข่าวทั่วไป Monday January 22, 2018 16:22 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 19 มกราคม 2561 เวลา 20.15 น. ในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

วันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ออกรายงานทบทวนรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงทั่วโลก ประจำปี 2560 โดยไม่ปรากฏชื่อย่านการค้าศูนย์การค้าในประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการละเมิดสูงแม้แต่แห่งเดียว ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ ปี 2550 – 2559 ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักของทุกฝ่าย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเอาจริงเอาจังและตรงไปตรงมา ส่งผลดีต่อเนื่องในเรื่องภาพลักษณ์ สร้างความเชื่อมั่น ของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก

นอกจากนี้ ผลสืบเนื่องทางบวกที่เกิดขึ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อมอื่น ๆ อาทิ ตลาดหุ้นปิดตัวในแดนบวก กว่า 1,800 จุด ซึ่งสูงสุดในรอบ 30 กว่าปี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 2560 สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ มากกว่า 35 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 1.8 ล้านล้านบาท และธนาคารโลกออกรายงาน เมื่อปลายปี 2560 ว่าประเทศไทยกำลังก้าวพ้นจากความยากจนสู่ประเทศมั่งคั่ง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาไทยมีย่านการค้า ศูนย์การค้า ที่อยู่ในรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูง มากถึง 13 แห่ง นอกจากนี้ ในรายงานของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ยังได้ชื่นชมถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินการของรัฐบาลไทย ที่ได้ปราบปรามการละเมิดอย่างจริงจัง แน่นอนว่าเราต้องไม่หยุดเพียงเท่านี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการช่วยดูแล ป้องกันไม่ให้ปัญหากลับมาอีก ไม่ให้เกิดซ้ำอีก แม้เราจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช่ดีที่สุด ในขณะที่ประชาชนก็ต้องรับทราบกฎหมาย ไม่สนับสนุนสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านี้ “เมื่อไม่มีผู้ซื้อ ผู้ขายก็จะหมดไป” หากร่วมกันคนละไม้ละมือได้ ยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศและสร้างพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ดีที่ถูกต้องและเป็นสากล สอดรับการปฏิรูปประเทศในระยะต่อไป

การลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (17 ม.ค. 61) นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสลงพื้นที่ เพื่อพบปะ และรับฟังปัญหาความต้องการจากพี่น้องชาวแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะพื้นที่ที่พี่น้องประชาชนยังลำบากอยู่มาก มีรายได้น้อย เพราะ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เพื่อจะได้เร่งผลักดันทุกวิถีทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนด้วยแนวทางที่เหมาะสมกับพื้นที่ให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ตามศาสตร์พระราชาด้วยการมีส่วนร่วมและรับผิดชอบร่วมของทุกภาคส่วนในรูปแบบประชารัฐให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว

จังหวัดแม่ฮ่องสอน “เมืองสามหมอก” เป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่ 377 กว่าหมู่บ้านจากทั้งหมด 445 หมู่บ้าน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวนและรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ ต้นน้ำสำคัญของประเทศ ทำให้มีข้อจำกัดด้านที่ดินทำกินของประชาชน เพราะผลผลิตทางการเกษตรของป่าหรืออะไรก็ตามจากในป่า ไม่สามารถนำมาขายได้เพราะผิดกฎหมาย

ซึ่งมีหลักคิดในการแก้ปัญหาของรัฐบาลนี้ มี 2 หลักใหญ่ ๆ คือ การใช้นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ มาร่วมพิจารณา เพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหา และการไม่ตัดเสื้อโหล คือ แก้ปัญหาบนพื้นฐานความแตกต่าง ไม่ใช้โมเดลเดียวกันทุกปัญหาทั่วประเทศ เพราะข้อเท็จจริงแตกต่างก็ต้องประยุกต์หลักการ หลักกฎหมาย ให้เหมาะสมกับเอกลักษณ์ของพื้นที่

นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสเดินทางไปตรวจเยี่ยมแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและการยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องชาวแม่ฮ่องสอนในด้านต่าง ๆ โดยได้ไปเป็นประธานสักขีพยานในการมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือกให้ที่ทำกินให้ชุมชน ตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นลักษณะของการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง ไม่สามารถขายสิทธิ์ได้แต่ถ่ายโอนให้ทายาทได้ โดยมีพี่น้องประชาชนผู้รับมอบสมุดประจำตัว ทั้งสิ้น 120 ราย รัฐบาลนี้ ได้นำโครงการคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เข้ามาแก้ไข ในอนาคตคนอยู่กับป่าตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ โครงการสร้างป่าสร้างรายได้รัฐได้ป่า ประชามีสุขแก้ไขความยากจน แก้ไขการบุกรุกป่าในพื้นที่ต้นน้ำ เพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ภายใน 20 ปี “พลิกฟื้นผืนป่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

จากเวทีการประชุมคณะรัฐมนตรี ร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ สรุปได้ว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และยกระดับการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ผ่านหลายมิติด้วยกัน อาทิ การแก้ไขปัญหาความยากจน โดยจะกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายทางอากาศ เส้นทางบินตรง กรุงเทพฯ - แม่ฮ่องสอน ซึ่งเร็วๆ นี้ ก็จะมีสายการบินเปิดให้บริการเส้นทางเชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้บริการ การลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะเร่งการจัดที่ดินทำกินตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และการพัฒนาประสิทธิภาพ การเข้าถึงการให้บริการของภาครัฐ ทั้งบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การพัฒนาแหล่งน้ำ และการพัฒนาสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ทั้งในเรื่องไฟฟ้า และอินเตอร์เน็ต ให้กับพี่น้องประชาชน ขอให้ภาคเอกชนเชื่อมั่นต่อการทำงานของรัฐบาล และขอให้บุคลากรของรัฐทุกระดับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน เน้นการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด “ไทยนิยมยั่งยืน”

การพัฒนาประเทศจะต้องทำทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ให้มีความสอดคล้องเกื้อกูลกันในระดับชาติ รัฐบาลต้องเร่งสร้างทั้งบรรยากาศที่ดึงดูดการลงทุน สร้างความเชื่อมั่นและอำนวยความสะดวก ทั้งในเรื่องกฎระเบียบ สิ่งอำนวยความสะดวก การคมนาคมขนส่ง การติดต่อสื่อสาร ส่วนในระดับท้องถิ่น ก็ต้องมียุทธศาสตร์ของตนเอง ที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยวิเคราะห์จุดแข็ง จุดขาย ขยายผลไปสู่การปฏิบัติ ด้วยอาศัยกลไกประชารัฐในพื้นที่ก่อน แล้วรัฐบาลก็จะเข้าไปเสริมเติมเต็มในส่วนที่ขาด ภาพรวมการพัฒนาของประเทศในปัจจุบันมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอยู่ ระหว่างการดำเนินการด้านคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองมอเตอร์เวย์ 3 สายทาง คือ เส้นทางหมายเลข 7 พัทยา – มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร ซึ่งจะเปิดให้บริการได้ในปี 2562 เชื่อมกับชลบุรี – พัทยา ที่สอดคล้องกับแผนการปรับปรุงโครงข่ายทางถนน พื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมทั้งการพัฒนาในพื้นที่ EEC เส้นทางหมายเลข 6 บางปะอิน – นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการได้ในปี 2563 เส้นทางหมายเลข 81 บางใหญ่ – กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการได้ในปี 2563 เช่นกัน

          สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แก่ โครงการ “เน็ตประชารัฐ” พร้อมจัดให้มีจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย (Wi-Fi) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายกับผู้ใช้บริการ หมู่บ้านละ 1 จุดให้บริการครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมายห่างไกลที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึง ซึ่งติดตั้งแล้วเสร็จ         ครบจำนวน 24,700 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ปีที่แล้ว หากนับรวมกับหมู่บ้านที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงอยู่แล้ว 30,613 หมู่บ้าน ก็ถือได้ว่าประเทศไทยจะมีอินเทอร์เน็ตผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงเข้าถึงแล้ว  กว่า 70.37%

ประโยชน์ที่จะได้รับทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ประกอบด้วย การส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ด้อยโอกาส เข้าถึงความรู้และบริการของรัฐ เช่น การรักษาพยาบาลทางไกล การเข้าถึงข้อมูลการดูแลสุขภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเสริมสร้างความรู้พัฒนาฝีมือ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารทางการเกษตรได้มากขึ้น และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปช่วยสร้างมูลค่าทางการค้าเพื่อให้สินค้าเกษตร เป็น Smart Farmer พร้อมทั้ง ด้านเศรษฐกิจ โอกาสการทำธุรกิจ เช่น การซื้อขายในรูปแบบ E-Commerce การค้าขายออนไลน์ ของร้านค้าประชารัฐรักสามัคคี ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน (OTOP) ทั่วประเทศ ให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ สามารถประกอบธุรกิจที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย รวมทั้ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการให้บริการ ให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น สามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทาง ที่พัก ที่ช้อปปิ้ง ร้านค้าและร้านอาหาร

ดังนั้น รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ที่จะสร้างความพร้อมของประเทศ แต่เราต้องปรับตัว และพัฒนาตนเองให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและได้เปรียบ นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลนี้ หวังดีกับพี่น้องประชาชนทุกคน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการหนึ่งที่อยากจะเล่าให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้ฟัง คือ “โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind” ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ผู้พิการตาบอด จำนวน 20 ชีวิต ร่วมกับนักปั่นจิตอาสาปั่นนำ อีก 20 ชีวิต จะรวมพลังสามัคคีปั่นจักรยาน จากกรุงเทพฯ ผ่านสุพรรณบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง และเชียงใหม่ เป็นระยะทางรวมกว่า 867 กิโลเมตร “9 วัน 9 จังหวัด” ระหว่างวันที่ 28 มกราคม ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เพื่อหาทุนสนับสนุนการก่อสร้าง ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยในแต่ละจังหวัดที่ผ่านไปจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ให้คนในสังคมเห็นศักยภาพของผู้พิการ และให้โอกาสผู้พิการในการพัฒนาตนเอง เพื่อเป็นพลังในการพัฒนาสังคมต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีก็อยากให้ทุกคนได้สนับสนุน “นักปั่นที่บกพร่องทางสายตา” แต่มากด้วยศรัทธา และไม่ยอมแพ้โชคชะตา โดยลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่น่ายกย่องดังกล่าว

…………………………………..

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ