ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ข่าวทั่วไป Monday February 26, 2018 15:37 —สำนักโฆษก

ที่ประชุม กนศ. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา

วันนี้ (26 ก.พ.61) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ครั้งที่ 2/2561 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องชี้แจงให้ประชาชนและสังคมได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนและเข้าใจถึงสาเหตุความจำเป็นในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม รวมทั้งทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมเกิดความไว้วางใจระหว่างกันและพร้อมให้ความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าวไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายคนิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … ซึ่งผ่านการเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี ในการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับเป็นกฎหมายต่อไป

พร้อมทั้งเห็นชอบในหลักการให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ศึกษารายละเอียดการขยายพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เชื่อมโยงกับ 3 จังหวัดเดิม ภายใน 4 เดือน ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง รวมถึงเห็นชอบในหลักการของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา และให้นำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณา โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็น 1 ใน 5 โครงการเร่งด่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อความสำเร็จของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่พัฒนามาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก (ลาดกระบัง-ระยอง) ที่เป็นโครงการเดิม โดยได้ปรับปรุงหลักการให้เข้าเชื่อม 3 สนามบินอย่างไร้รอยต่อ อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชนในอนาคต

การพัฒนา EEC เป็นการสร้างพื้นที่ต่อขยายของเมืองให้กับกรุงเทพฯ โดยรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้มีความสำคัญ 4 ด้านคือ 1) รถไฟความเร็วสูงสายนี้จะเข้าเชื่อมโยง 3 สนามบิน จะเป็นการยกระดับสนามบิน อู่ตะเภามาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ให้ทำงานควบคู่กับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีผู้โดยสารเกินความจุแล้ว 17 ล้านคนต่อปี

2) รถไฟความเร็วสูง เป็นการเปิดพื้นที่การพัฒนาจากกรุงเทพฯ เชื่อม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยจะมีสถานีรถไฟ 5 สถานี (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา) ซึ่งนอกจากจะมีการพัฒนาบริเวณสถานีให้เป็นพื้นที่พัฒนาเชื่อมโยงกับชุมชนชนเก่าแล้ว ประชาชนตลอดเส้นทางสามารถมาใช้บริการโดยนำรถยนต์ไปจอดที่สถานีเหล่านี้ได้ ทำให้ประหยัดเวลาการเดินทางมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนซึ่งรถติดมาก และประเทศได้ประโยชน์จากการลดการใช้น้ำมันและลดความแออัดบนถนน

3) รถไฟความเร็วสูง ที่ความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชม. เป็นช่วงแรกของการเชื่อมโยงพื้นที่พัฒนาไปสู่ ระยอง จันทบุรี และตราดในอนาคตอันใกล้ 4) ผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการประมาณ 700,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน)โดยแบ่งเป็น 50 ปีแรก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 400,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ซึ่งมากกว่าเงินลงทุนประมาณ 200,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) จึงถือว่าเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยผลตอบแทนดังกล่าวมาจาก (1) มูลค่าเพิ่มการนำสนามบินอู่ตะเภามาใช้ประโยชน์ (2) ลดการใช้น้ำมัน ลดเวลาการเดินทาง ลดมลพิษสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถยนต์ (3) ผลตอบแทนทางจากการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดเส้นทาง (4) การจ้างงานและการใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศไทย และ (5) รัฐจะจัดเก็บภาษีต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น เมื่อครบ 50 ปี รัฐบาลจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด รวมรถไฟความเร็วสูง สถานี และอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท สำหรับโครงการนี้ครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภา โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร คือ 1) รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยาย แอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กม.(อยู่ในแผนเดิมที่จะมีการก่อสร้าง ความเร็ว 160 กม./ชม.) 2) รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กม. (ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน ความเร็ว 160 กม./ชม.) 3) รถไฟความเร็วสูงจาก สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. (ปรับจากแผนเดิมของรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก (ลาดกระบัง-ระยอง ความเร็ว 250 กม./ชม.) และ 4) พัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการผู้โดยสาร เช่น สถานีมักกะสันประมาณ 150 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง รวมที่จอดรถและเชื่อมโยงกับรถไฟใต้ดิน สถานีศรีราชาประมาณ 100 ไร่ สำหรับการเป็นสถานี ที่จอดและอู่ซ่อม เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ เป็นต้น รวมทั้ง เมื่อต้องดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะนำโครงการแอร์พอตร์ตลิงก์มารวม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนเรื้อรังของแอร์พอร์ตลิงก์ โดยผู้ลงทุนจะต้องซื้อกิจการในราคาที่เหมาะสม และการรถไฟสามารถนำไปลดหนี้ได้ ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะทำให้ผู้โดยสารแอร์พอร์ตลิงก์ได้รับประโยชน์และความสะดวกสบายมากขึ้น เพราะจะมีขบวนรถไฟมากขึ้นลดความแออัดในปัจจุบัน และสถานีมักกะสัน จะถูกพัฒนาให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันในอนาคตรัฐบาลได้เตรียมรถไฟสายสีแดง (Missing Link) ขึ้นเพิ่มเติมจากบางซื่อ ถึงหัวหมาก ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณปี 2564 สำหรับการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นรูปแบบ net cost เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู คือ ใครยื่นเสนอผลตอบแทนสูงสุดให้รัฐ จะเป็นผู้ชนะการประมูล ส่วนการดำเนินโครงการดังกล่าวจะมีการดูแล การใช้วิศวกรไทย และการใช้ชิ้นส่วนของประเทศไทยให้มากที่สุด ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดการส่งเสริมการลงทุน ที่กำหนดให้ผู้ลงทุนต้องมีการถ่ายทอดความรู้ผ่านสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรไทยและเยาวชนให้เข้ามาทำงานในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงในอนาคต โดยจะให้เข้าร่วมการพัฒนาหลักสูตรในสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC

----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ