ผลการประชุมคณะกรรมการเตรียมการโครงการจิตอาสาเพื่อการพัฒนาลำน้ำกับชีวิต บนวิถีแห่งความพอเพียง เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน ครั้งที่ 1/2561

ข่าวทั่วไป Thursday March 8, 2018 14:52 —สำนักโฆษก

รมต.นร. สุวพันธุ์ฯ เป็นประธานการคณะกรรมการเตรียมการโครงการจิตอาสาเพื่อการพัฒนาลำน้ำกับชีวิต บนวิถีแห่งความพอเพียง เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน ครั้งที่ 1/2561

วันนี้ (8 มีนาคม 2561) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการคณะกรรมการเตรียมการโครงการจิตอาสาเพื่อการพัฒนาลำน้ำกับชีวิต บนวิถีแห่งความพอเพียง เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน ครั้งที่ 1/2561 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ประธานแจ้งที่ประชุมรับทราบถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ กรอบแนวทางการดำเนินงานโครงการจิตอาสาเพื่อการพัฒนาลำน้ำกับชีวิต บนวิถีแห่งความพอเพียง เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน เพื่อสืบสานรักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชาพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริและพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยการศึกษา วิเคราะห์รูปแบบ การส่งเสริม ช่วยเหลือ และสนับสนุนการดำเนินโครงการ และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่มีวิถีชีวิตริมน้ำ และการขยายผลการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาเป็นไปอย่างเป็นระบบและแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน อีกทั้ง สร้างความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ภาคีเครือข่ายสนับสนุนและการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในโครงการจิตอาสาเพื่อการพัฒนาลำน้ำกับชีวิต บนวิถีแห่งความพอเพียง เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชนอีกด้วย

ที่ประชุมเห็นชอบชุมชนต้นแบบ ที่จะดำเนินโครงการ รวม 76 แห่ง (76 จังหวัด) โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทุกแห่งคัดเลือกชุมชนต้นแบบจังหวัดละ 1 แห่ง ส่งให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีลักษณะ ดังนี้ 1. เป็นชุมชนที่มีวิถีริมน้ำ หมายถึง ชุมชนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ ริมคลอง หนอง บึง หรือคลองชลประทาน ที่ไม่ใช่แม่น้ำสายหลัก 2. เป็นชุมชนที่มีปัญหากับลำน้ำ เช่น น้ำเน่าเสีย คลองตื้นเขิน มีวัชพืช ที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการสัญจร เป็นต้น 3. เป็นชุมชนที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ต้องการแก้ปัญหาให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 4. เป็นชุมชนที่มีความพอเพียง มีความพอดีในการดำรงชีวิต สามารถบริหารจัดการในลำน้ำของตนเองได้ และ 5. เป็นชุมชนที่มีจิตอาสาเข้มแข็ง มีการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในชุมชนของตนเอง

สำหรับรูปแบบและแนวทางการแก้ไขปัญหาของชุมชนต้นแบบมี 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ชุมชนที่มีปัญหาผักตบชวา จำนวน 21 แห่ง กลุ่มที่ 2 ชุมชนที่มีปัญหาวัชพืช จำนวน 24 แห่ง และกลุ่มที่ 3 ชุมชนที่มีปัญหาน้ำเน่าเสียและแหล่งน้ำตื้นเขิน จำนวน 31 แห่ง

ทั้งนี้ การกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินการของชุมชนต้นแบบ มีดังนี้ 1.การลงทะเบียนจัดตั้งกลุ่ม โดยมีประธานและกรรมการบริหารกลุ่มและสมาชิกกลุ่ม เพื่อ ค้นหา รวบรวม วิเคราะห์ปัญหา หาแนวทางแก้ไข และการเสนอโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการบริการโครงการของชุมชน โดยให้ อบจ. หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เทศบาล จิตอาสาในเขตพื้นที่ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน ช่วยเหลือให้คำปรึกษาในการดำเนินโครงการฯ 2. การระดมจิตอาสา เพื่อพัฒนาลำน้ำและชุมชน

3. แนวทางการพัฒนาของชุมชนต้นแบบ

โดยชุมชนเป็นผู้เสนอโครงการ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน (CSR) อาทิ

1) การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากลำน้ำ เช่น การกำจัดขยะ วัชพืช บำบัดน้ำเสีย การชุดลอก คู คลอง สระ ฯลฯ โดยใช้แรงงานจิตอาสาเป็นหลัก

2) การพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนริมน้ำ สร้างระบบการออม การจัดทำบัญชีครัวเรือน การดำเนินชีวิตภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

3) การจัดให้มีโรงงาน / ศูนย์การเรียนรู้ เป็นแหล่งฝึกฝน สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อดำเนินการเป็นอุทยานการเรียนรู้ ส่งเสริมการผลิต ต่อยอดอาชีพเสริมรายได้ และเกิดวิถีชีวิตคนริมน้ำ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณตามโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

4) แนวทางในการพัฒนาอาชีพ หรือการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ตามความต้องการของชุมชน และสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความพร้อมของชุมชน เพื่อเป็นการส่งเสริมการร่วมแรงร่วมใจ สร้างงานและจ้างงาน โดยใช้ประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก

5) เป็นชุมชนต้นแบบในการขยายผลการพัฒนาไปยังชุมชนอื่น ๆ

…………………………………

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ