สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2561

ข่าวทั่วไป Friday March 9, 2018 13:26 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2561 เวลา 20.15 น.
ความจริงของโลกที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ มนุษย์ทุกคนมีตาอยู่ข้างหน้า ย่อมหมายถึง ธรรมชาติต้องการให้มองไปข้างหน้า เดินไปข้างหน้า ได้แก่ การพัฒนาตนเองอยู่เสมอ แต่หนทางเดินย่อมมีอุปสรรค มีขวางหนามก็ต้องไม่เพียงใช้ตามอง แต่ต้องใช้ปัญญานำทางด้วย การที่จะยกระดับศักยภาพของประเทศ รวมถึงเร่งการพัฒนาให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้พร้อมๆ กันได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงปัญหาและความท้าทายสำคัญ ที่ประเทศจะต้องเผชิญในอนาคต เพื่อที่จะสามารถเตรียมการ คิดค้นกลไก สำหรับบริหารจัดการและวางแนวทางต่าง ๆ ที่สามารถรับมือกับทุก ๆ ปัญหาได้อย่างเหมาะสม โดยในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำลังดำเนินอยู่ ได้มีการพิจารณาถึงความท้าทายของประเทศในอนาคตเช่นกัน

หนึ่งในความท้าทายที่กำลังจะต้องเผชิญอย่างเต็มรูปแบบ คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยคาดว่าในปี 2563 ไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด หมายถึง สัดส่วนของประชากร วัยแรงงานจะลดลงต่ออย่างเนื่อง ปัญหาที่ประเทศไทยต้องเจอ ประกอบด้วย (1) ประชากรวัยทำงานต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น (2) รัฐบาลมีภาระด้านงบประมาณมากขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ หากไม่มีการสนับสนุนการออม หรือมีสวัสดิการที่เหมาะสม (3) จำนวนแรงงานสำหรับป้อนภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ ไม่เพียงพอต่อเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวในอนาคต และ (4) แรงงานต่างด้าว กลับถิ่นฐาน เนื่องจากถึงจุดอิ่มตัว รวมถึงประเทศไทยจะขาดแคลนทั้งประชากรวัยทำงานในประเทศ และแรงงานต่างด้าว แม้ว่าในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ประโยชน์มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวก ลดต้นทุนการผลิต หรือทดแทนแรงงานได้

ปัญหาโลกร้อนและความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ แปรปรวนมากขึ้น โดยในช่วงสัปดาห์ ที่ผ่านมาส่งผลกระทบที่หลากหลาย เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง ทำให้เกิดความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน การเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคการผลิตหลักของประเทศ รวมทั้งระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนในกลไกประชารัฐ ทั้งภาคเอกชน ต้องเตรียมความพร้อมสร้างความเข้มแข็งและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างกฎเกณฑ์ เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน สามารถได้รับโอกาสที่จะพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่โดยเป้าหมายของการพัฒนาคนไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น คือ การทำให้ประชาชนทุกคน ทุกกลุ่มเป็นคนที่สมบูรณ์ มีสมรรถนะทางกายมีจิตใจและจิตสำนึกที่ดีงาม พร้อมมีสติปัญญามีการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยรัฐบาลสร้างอนาคตและหัวใจของการเตรียมคน การสร้างหลักคิดและกระบวนทัศน์ที่เหมาะสมสำหรับคนไทย ในสังคมวันนี้ และโลกในวันข้างหน้า

คณะอนุกรรมการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 จึงร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน จัดงานสร้างกระบวนทัศน์และหลักคิดที่เหมาะสมสำหรับคนไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถือเป็นเวทีแรกของการตกลงพันธะสัญญาเพื่อสร้างความร่วมมือและความมุ่งมั่นในการดำเนินงาน สร้างกระบวนทัศน์ และหลักคิดที่เหมาะสมสำหรับคนไทยร่วมกันซึ่งมีภาคีเครือข่ายมาร่วมงาน เกือบ 300 เครือข่ายจะร่วมกันสร้างกระบวนทัศน์และหลักคิดคนไทย ให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึงต่อไป ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเห็นความสำคัญ และทรงย้ำเตือนอยู่เสมอ ในเรื่องการทำเพื่อชาติบ้านเมือง โดยมีทัศนคติที่ถูกต้อง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง และการเป็นพลเมืองที่ดีของชาติบ้านเมือง

นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้มีโอกาสลงพื้นที่ ไปยังจังหวัดสมุทรสาครและเพชรบุรี ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในหลายเรื่อง เช่น เรื่องแรงงานต่างด้าว เพื่อดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รวมถึงการดูแลความปลอดภัยในการทำงานและสิทธิ พร้อมสวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน พร้อมยังได้เดินทางไปยังองค์การสะพานปลา จ.สมุทรสาคร เพื่อติดตามการแก้ปัญหาแรงงาน ปัญหาด้านประมง ซึ่งต้องการแสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ปัญหาแรงงานภาคประมง และเรื่องของ IUU อย่างจริงจัง โดยได้ดำเนินการมานานกว่า 4 ปีแล้ว และต้องการเห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในเรื่องการขึ้นทะเบียนและพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานข้ามชาติ การติดตั้งระบบ VMS ในเรือประมง รวมถึงการทำความเข้าใจกับต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลคุ้มครองแรงงานตามหลักมนุษยธรรมอย่างเป็นระบบ

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่เกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ และแนวทางแก้ไข ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งจะต้องสร้างความเข้าใจและเร่งสร้างการรับรู้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ควบคู่ไปด้วย ด้านการท่องเที่ยว สร้างกลไกเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ OTOP รวมทั้ง ด้านการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน ในการยกระดับพื้นที่ให้เป็นนครแห่งครัวโลก และแนวทางพัฒนาตลาดทะเลไทยให้เป็นศูนย์แสดงสินค้าและบริการด้านอาหารแบบครบวงจร พร้อมให้ดำเนินการโครงการเพาะพันธุ์ปูทะเลเพื่อก่อสร้างโรงเพาะเลี้ยงปูทะเลและบ่อเลี้ยงแพลงตอนและขยายผลของธนาคารปูม้าที่ดำเนินการอยู่ ณ ชุมชนแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี สามารถช่วยคืนปูม้าสู่ทะเลไทยได้ เป็นผลความสำเร็จ และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ในปัจจุบัน ธนาคารปูม้าได้มีการดำเนินการแล้วที่จังหวัดสงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานีประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เพื่อขยายผลธนาคารปูม้าไปสู่ชุมชนรอบอ่าวไทยและฝั่งอันดามันทั่วประเทศ โดยเน้นหลักความร่วมมือของชุมชน พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณ เพื่อขยายผลธนาคารปูม้าไปทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อทำเสร็จแล้วจะมีจำนวนลูกปูม้าในธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของท้องถิ่น เมื่อผนวกเข้ากับกลไกประชารัฐในระดับชาติขยายผลสำเร็จสู่วงกว้างให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึง

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำในตอนท้ายอีกว่า มีเรื่องที่น่ายินดี CNN ได้จัดอันดับ 50 สุดยอดอาหารเด็ดจากทั่วโลก ปรากฏว่าแกงมัสมั่นคว้าอันดับ 1 ลักษณะเด่น คือ การเคี่ยวเนื้อวัวกับน้ำพริกแกงมัสมั่นและกะทิ เพิ่มกลิ่นหอมจากเม็ดและใบกระวาน ต้มยำกุ้ง อันดับที่ 8 โดยเฉพาะสูตรน้ำข้น หอมกะทิและเครื่องสมุนไพร และส้มตำอันดับที่ 46 ที่มีความหลากหลาย ทั้งส้มตำปู ไม่หรือไม่ใส่ปลาร้า ก็สามารถปรุงรสจัดจ้าน ได้ตามชอบใจ กินกับข้าวเหนียว ไก่ย่าง และผักสด สำหรับอาหารไทยแล้ว นายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นมากกว่าของกินเพื่อสุขภาพ เพื่อประทังความหิว หรือเพื่อมีชีวิตรอด แต่มีจิตวิญญาณ ความเชื่อ อุดมคติ และวัฒนธรรมการทำอาหารแฝงอยู่แสดงออกถึงความเป็นไทย ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร เครื่องเทศ พืชพันธุ์ธัญญาหาร การเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อม สะท้อนวัฒนธรรมการกินของคนไทยอย่างลุ่มลึกผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาที่สั่งสมมาช้านานเป็นวัฒนธรรมการกิน การทำอาหารที่มีประวัติศาสตร์และเรื่องราวอันเป็นอีกหนึ่งไทยนิยมจากรุ่นสู่รุ่น จากท้องถิ่นสู่สากล พร้อมกล่าวเชิญชวนคนไทยทุกคนไปร่วมงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” ซึ่งในวันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคมนี้ เป็นวันสุดท้ายของงาน โดยจัดขึ้น ณ พระลานพระราชวังดุสิต และสนามเสือป่า เพื่อให้คนไทยทุกคนได้ร่วมภาคภูมิใจในความเป็นไทย พร้อมพาลูกหลานร่วมแต่งกายย้อนยุค หรือชุดสุภาพ มาศึกษาประวัติศาสตร์ และเก็บภาพบักทึกความทรงจำดี ๆ ภายในงาน อีกด้วย

.....................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ