รองนายกรัฐมนตรีย้ำรัฐบาลเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุและพัฒนาคนในทุกช่วงวัย

ข่าวทั่วไป Monday April 9, 2018 14:42 —สำนักโฆษก

รองนายกรัฐมนตรีย้ำรัฐบาลเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุและพัฒนาคนในทุกช่วงวัย

วันนี้ (9 เมษายน 2561) เวลา 09.00 น. ณ อาคารรัฐสภา พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนา สังคมผู้สูงอายุในยุคไทยแลนด์ 4.0 และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายแห่งรัฐ : ระเบียบวาระแห่งชาติในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” จัดโดย กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดงานฯ ว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงปฏิรูปประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 โดยมีเป้าหมาย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” และใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแนวทางในการขับเคลื่อน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเตรียมและพัฒนาคนในทุกช่วงวัย โดยทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ มุ่งเน้นโครงสร้างของประชากรทั้งหมด ได้แก่ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มแรงงาน ให้ประชาชนมีความมั่งคั่ง มั่นคงและมีสุขภาพที่ดีตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ และเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพและมีคุณค่าต่อสังคมได้

พร้อมกล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งถือเป็นการเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” และในปี 2575 จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด ถือว่าเข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” ปัจจุบันมีผู้สูงอายุจำนวน 11 ล้านคนเศษ และส่วนใหญ่พึ่งพารายได้จากบุตร และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นหลัก มีส่วนน้อยที่ยังประกอบอาชีพหารายได้ มีการออมน้อย ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ จึงอยู่ในภาวะพึ่งพิง

ขณะเดียวกัน ยังคงมีปัญหาผู้สูงอายุที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง และถูกทอดทิ้งเพิ่มมากขึ้น ผู้สูงอายุไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขและบริการอื่น ๆ ของภาครัฐได้อย่างทั่วถึง จึงส่งผลต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การแก้ไขปัญหาสังคมเฉพาะหน้าสังคมผู้สูงอายุจึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงอายุโดยเร่งวางนโยบาย กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีคุณค่าต่อสังคม ครอบคลุม 4 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อม โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 เห็นชอบมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ 4 มาตรการ ดังนี้ มาตรการที่ 1 การจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อสร้างหลักประกัน / ความมั่นคงในเรื่องรายได้ของผู้สูงอายุให้สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ยาวนานขึ้น มาตรการที่ 2 การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้มีการสร้างที่พักอาศัยทั้งในรูปแบบมีความเหมาะสม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นการเฉพาะให้กับผู้สูงอายุ มาตรการที่ 3 สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse mortgage) เป็นการให้เงินกู้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 80 ปี ผู้สูงอายุที่ไม่ได้เป็นข้าราชการบำนาญไม่มีเงินสำรองเพียงพอต่อการใช้ชีวิต และไม่มีลูกหลานไว้คอยดูแล วงเงินกู้ไม่เกิน รายละ 10 ล้านบาท ใช้ที่อยู่อาศัยที่ปลอดภาระหนี้ของผู้สูงอายุ เป็นหลักประกัน มาตรการที่ 4 การบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ มาตรการนี้จะให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่ในหารกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาและกำกับดูแลระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศและจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อเป็น “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ” สำหรับแรงงานในระบบ ครอบคลุมทั้งลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ พนักงานราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีอายุ 15-60 ปี ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยให้มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนจาก 2 ฝ่าย คือ ลูกจ้าง และนายจ้าง ซึ่งลูกจ้างจะได้รับบำนาญหรือบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปี เพื่อให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวมีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีวิตหลังเกษียณ โดยกำหนดให้ กบช. เปิดรับสมาชิกตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการที่ผ่านมารัฐบาลมียุทธศาสตร์ นโยบาย แผนงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ชัดเจนแต่ปัญหาคือ การนำไปสู่การปฏิบัติ หน่วยงาน ภาคส่วนต่างๆ ยังขาดความเข้าใจในบทบาทการมีส่วนร่วมในระดับปฏิบัติ ขาดการบูรณาการ จึงได้ประชุมหน่วยงาน/กระทรวง ที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ หาแนวทางในการบูรณาการการทำงานอย่างเป็นองค์รวม โดยมอบหมายให้ กรมกิจการผู้สูงอายุ ประสานนักคิด นักวางแผน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมาร่วมระดมความคิดเห็น

โดยวันที่ 22 มีนาคม 2561 กรมกิจการผู้สูงอายุ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายเตรียมความพร้อมรองรับผู้สูงอายุ มีผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุมและที่ประชุมได้กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนงานในปี พ.ศ. 2561 จำนวน 10 เรื่อง ได้แก่ 1) กำหนดให้เรื่องผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ 2) การทำงานและการสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุ 3) การปรับสภาพแวดล้อมชุมชน / เมือง ให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ 4) มีฐานข้อมูลที่ดี ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย 5) การสร้างระบบคุ้มครอง และสวัสดิการผู้สูงอายุ 6) ระบบการดูแลระยะยาว 7) แนวทางการในการปรับเปลี่ยนกฎหมาย 8) นวัตกรรมรองรับสังคม ผู้สูงวัย 9) ประชาพิจารณ์ปรับนิยามผู้สูงอายุ และเรื่องธนาคารเวลา 10) การปรับทัศนคติ สร้างความตระหนัก เพื่อเตรียมความพร้อมในทุกมิติ

ตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการคัดเลือกอำเภอที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในบางพื้นที่แล้ว อาทิ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ( ปี 2560 ) อำเภอเมืองจังหวัดลำพูน (ปี 2558) และมีการระดมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 จากโมเดลตัวอย่าง ดังกล่าว หน่วยงาน/ภาคส่วนต่าง ๆ จะได้เห็นภาพบทบาทเพื่อนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่น การดำเนินการทั้งหมดเป็นผลงานของรัฐบาลที่ดำเนินการอยู่ ไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน หน่วยงานและภาคส่วนอื่นเป็นหน่วยสนับสนุน รวมทั้งข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการ และภาคส่วนต่าง ๆ เป็นประโยชน์ในการนำไปปรับใช้ในการขับเคลื่อนต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ