นายกรัฐมนตรีปาฐกถาพิเศษ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน”

ข่าวทั่วไป Tuesday April 10, 2018 14:46 —สำนักโฆษก

รัฐบาลพร้อมผลักดันการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ อยากเรียนต้องได้เรียน เด็กด้อยโอกาสต้องมีโอกาสเข้าถึงครูเก่ง ชื่นชมจุฬาฯ เป็นสถานบันการศึกษาผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพที่จะนำพาประเทศสู่ความเจริญ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

วันนี้ (9 เม.ย. 2561) เวลา 08.30 น. ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน” ภายใต้หัวข้อ “บทบาทสถานศึกษากับการขับเคลื่อน Thailand 4.0” ให้แก่ผู้บริหารและบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมบทบาทของสถานศึกษาให้มีส่วนร่วมในการนำทิศทางการปรับเปลี่ยนประเทศเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล และบทบาทมหาวิทยาลัยไทยในยุคสังคมนวัตกรรม เพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินงานตามนโยบายของประเทศได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุด โดยมี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอาจารย์ นิสิติ และบุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 1,000 คน เข้าร่วมงาน

เมื่อเดินทางถึงจุฬาฯ นายกรัฐมนตรี ได้วางพวงมาลัยถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เพื่อความเป็นสิริมงคล

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้มาเยี่ยมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันนี้ ได้มาสัมผัสบรรยากาศที่คุ้นเคยอีกครั้ง เพราะส่วนหนึ่งของชีวิตครอบครัว ลูกสาวทั้งสองคนอยู่สาธิตจุฬาฯ และได้เข้าศึกษาต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ ส่วนภรรยาก็เคยเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาฯ เช่นกัน จึงรู้สึกมีความใกล้ชิดกับจุฬาฯ และมีความยินดีเป็นอย่างมากที่มีโอกาสมาพูดเรื่อง“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน” เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน โดยระยะเปลี่ยนผ่านถือเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญที่จะเปลี่ยนไปสู่ทั้งสิ่งที่ดีขึ้นและไม่ดี เพราะฉะนั้นในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นคลี่คลายไปในทางที่ดี พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือเป็นสถาบันการศึกษาอันทรงเกียรติและเป็นสถานบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งอยู่คู่สังคมไทยมายาวนานกว่า 101 ปี และผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก สถาบันแห่งนี้ จึงเป็นหนึ่งในเรือธงที่จะนำพาประเทศสู่ความเจริญ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามเป้าหมายของแผนการปฏิรูปประเทศที่รัฐบาลได้วางไว้แน่นอนว่าการปฏิรูปประเทศจำเป็นต้องคิด ในกรอบใหม่และพัฒนามูลค่าและคุณค่าให้ได้ทั้งในระดับผลิตภัณฑ์ทั้งทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีคุณภาพ รวมทั้งต้องเตรียมพร้อมและพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของโลก ตลอดจนตรงกับการพัฒนาประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้จบการศึกษาออกมามีงานทำและมีรายได้สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไปสู่วิสัยทัศน์ 4.0 มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

รัฐบาลพร้อมผลักดันเรื่องการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ อยากเรียนต้องได้เรียน เด็กด้อยโอกาสต้องมีโอกาสเข้าถึงครูเก่ง Contents ดีผ่าน Digital platform โดยคณะรัฐมนตรีเตรียมเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลสวนเบญจกิติฯ (รพ.ยาสูบ) เป็นศูนย์กลาง (hub) เร่งแก้ไขโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและรักษาผู้สูงอายุที่ค่าใช้จ่ายน้อย เพื่อให้คนไทยสุขภาพดีได้ไม่ขึ้นอยู่กับฐานะ

อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการมอบนโยบายให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศว่า การดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ได้เน้นย้ำให้พิจารณาดำเนินการในเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อนอันดับแรกเพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศตามนโยบายรัฐบาล ขณะที่เรื่องของการศึกษาก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยเฉพาระยะแรกจะต้องพิจารณาแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของนักเรียน ครู และผู้ปกครองโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่บุคคลดังกล่าวจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง รวมถึงการสร้างคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 คือเป็นผู้ที่มีความรู้ ทักษะ ความสามารถ มีจิตสาธารณะ และเป็นคนไทยที่รับผิดชอบต่อสังคม เป็น Digital Thai และเป็นคนไทยสากล (Global-Thai) ด้วย

เพราะฉะนั้น หน้าที่ของมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา คือการผลิตบัณฑิต ให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม และเป็นไปตามแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้มหาวิทยาลัย เข้าสู่มหาวิทยาลัย 4.0 เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ Thailand 4.0 ขณะเดียวกันการพัฒนาคนต้องพัฒนาคนทุกช่วงวัย และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของจุฬาฯ ซึ่งมีโครงการและกิจกรรมทั้งทางวิชาการ และกิจกรรมเพื่อบริการสังคมในภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีโครงการด้านนวัตกรรม เพื่อพัฒนาสินค้า รวมถึงกระบวนการผลิต และทรัพยากรมนุษย์ในฐานะนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้ในส่วนนี้จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง สมกับบทบาทเชิงรุกในฐานะ “เรือธง” ที่จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และทุกภาคส่วนในสังคมทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และประชาสังคม เป็นขบวนเรือที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 คือความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

สำหรับการสร้างหลักสูตรนานาชาติเพื่อผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมสำคัญตามความต้องการของประเทศในด้านต่างๆ เช่น ด้าน Data Sciences และ Artificial Intelligence รวมถึงด้าน Bio-Medical และด้าน Medical Robotics นั้น การดำเนินการดังกล่าว ปริญญาทุกใบต้องมีความหมายมีเกียรติยศและศักดิ์ศรี ให้สังคมยอมรับ เป็นบุคคลที่มีคุณค่า ทำประโยชน์ให้กับตนเอง ครอบครัวและประเทศชาติให้สมกับปริญญาที่ได้รับ ขณะเดียวกันต้องรู้จักนำ Big Data มาวิเคราะห์ไปสู่การปฏิบัติในการบริหาราชการและพัฒนาประเทศชาติ พร้อมย้ำให้คิดแบบตะวันตกคือคิดเร็วและทำแบบตะวันออก คือทำด้วยความละเอียดรอบคอบ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า จุฬาฯ ต้องเป็นหลักของการสร้างระบบเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนนวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างสังคมบนฐานรากของคุณธรรม จริยธรรม การสร้างนิติธรรม เคารพกฎหมายและสิทธิของผู้อื่น โดยทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อพัฒนาประเทศไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกล่าวขอบคุณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณาอาจารย์ นิสิต ที่ช่วยเหลือประเทศตลอด มานับเป็น 101 ปีแห่งความภูมิใจใน “เกียรติภูมิจุฬา” และหวังว่าทุกคนจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ต่อไป

ด้าน อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า การเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล มีปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญคือ การพัฒนาคนและสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา นอกจากนี้ประเทศไทยต้องมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างเทคโนโลยีของตนเองเท่านั้น จึงจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพื่ออย่างยั่งยืนได้ โดย จุฬาฯ ในฐานะที่เป็นสถานศึกษาหลักของไทยที่อยู่คู่สังคมมากว่า 101 ปีจนถึงปัจจุบัน พร้อมเป็นต้นแบบของการปรับเปลี่ยนสู่มหาวิทยาลัย 4.0 ที่เน้นการเรียนรู้เชิงลึกและกว้างเพื่อตอบโจทย์สังคมที่พรั่งพร้อมด้วยผู้นำที่ประกอบด้วย ความคิดอย่างมีวิสัยทัศน์ มีใจรักในสิ่งที่ทำ และลงมือปฏิบัติจริง ขณะเดียวกันจุฬาฯ มีความพยายามและพร้อมที่จะร่วมพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และเป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมบ่มเพาะนักเรียน นิสิต ซึ่งจะเป็นอนาคตสำคัญของประเทศไทยให้พร้อมเป็นพลเมืองคุณภาพอยู่ในสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานรากของคุณธรรมและจริยธรรม และเมื่อใดที่สังคมมีปัญหาประเทศชาติต้องการความช่วยเหลือ จุฬาฯ มุ่งมั่นที่จะมีบทบาทเชิงรุกในฐานะ “เรือธง” ทางวิชาการของบ้านเมืองพร้อมทำหน้าที่ชี้นำและเตือนสติสังคมให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรม ธำรงภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของจุฬาฯ ในการรับใช้สังคมให้สมกับเป็น “มหาวิทยาลัยของแผ่นดิน” ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระผู้สถาปนาจุฬาฯ

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี รับชมวีดิทัศน์ “CU Calibre Shaping the nation’s future” โดยเป็นการแสดงถึงภาพอดีตและปัจจุบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการยอมรับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศ จากสถาบันจัดอันดับการศึกษาระดับโลก ถึง 3 แห่ง และมีสาขาวิชาที่ติดอันดับโลกรวมถึง 22 สาขาวิชา และปัจจุบันได้เริ่มกระบวนการปรับเปลี่ยน (Transformation) ในมิติต่าง ๆ เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้จากนิสิตไปสู่บุคคลบุคคลทั่วไป ปรับเปลี่ยนการบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างองค์ความรู้ผ่านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม เพื่อการใช้ประโยชน์จริงทั้งในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ

รวมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้รับข้อเสนอสำคัญของจุฬาฯ จากอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะช่วยผลักดันให้จุฬาฯ สร้างคนให้ EEC และสร้างเทคโนโลยีให้ประเทศ ประกอบด้วย 1) จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (University Technology Center) เพื่อเป็นกลไกในการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการสร้างคนและสร้างเทคโนโลยีในยุตต่อไป 2) จุฬาฯ จะขยายความร่วมมือกับภาคเอกชน นักลงทุนอิสระ และองค์กรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงและขยายผลการดำเนินการของเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม(Siam Innovation District) เพื่อสร้างนวัตกรรมและผลผลิตนำมาสู่การสร้างเสริมสังคมไทยสู่วิถีไทยในการใช้ชีวิตการเรียนรู้และความคิดที่สร้างสรรค์ และ 3) จุฬาฯ ร่วมกับโรงพยาบาลสวนเบญจกิติฯ ผลักดันพันธกิจใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบสาธารณสุขและคนไทย เป็นต้น โดยนายกรัฐมนตรี ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมและให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยี่ยมชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ณ ห้องประชุมชั้น 12 รวมทั้งเยี่ยมชมและทดลองใช้งานระบบ Telemedicine ณ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร ชั้น 18 โซน A อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬา พร้อมเยี่ยมชมการจัดแสดงผลงานและนิทรรศการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District) ณ อาคารสยามสแควร์วัน ก่อนเดินทางกลับทำเนียบรัฐบาล

-----------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ