สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 13 เมษายน 2561

ข่าวทั่วไป Friday April 13, 2018 14:29 —สำนักโฆษก

สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 13 เมษายน 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 13 เมษายน 2561 เวลา 20.15 น. ในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางลงพื้นที่และประชุม ณ ต่างประเทศที่สำคัญ ซึ่งนายกรัฐตรีกล่าวว่าสังคมควรตระหนัก รับรู้ และร่วมมือกัน รวมทั้งประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟัง สำหรับการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนนั้น ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดพร้อมรับฟังปัญหาต่าง ๆ ของประชาชนเพื่อนำมาแก้ไขตามแนวทางของรัฐบาลต่อไป

งานชุมนุมลูกเสือจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ จังหวัดปัตตานี นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับลูกเสือ เนตรนารี จำนวนกว่า 3,500 คน จากทั่วประเทศ พร้อมทั้งลูกเสือจากต่างประเทศ อีกกว่า 400 คน และประเทศไทยได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตร โดยการเป็นลูกเสือและลูกเสือชาวบ้านจะช่วยปลูกฝังความเป็นผู้มีระเบียบวินัย มีความซื่อสัตย์ เสียสละ อดทนต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีกฎเกณฑ์ และยินดีช่วยเหลือผู้อื่น โดยถือคติพจน์ที่ว่า “จงเตรียมพร้อม” เพื่อเตรียมการล่วงหน้าอย่างมียุทธศาสตร์

สำหรับการเดินทางไปแสดงปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “บทบาทสถานศึกษากับการขับเคลื่อน Thailand 4.0” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2561) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาอันทรงเกียรติ และเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีมายาวนานกว่า 101 ปี นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสเยี่ยมชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมของนิสิตจุฬาฯ พร้อมได้กล่าวถึง “เทเล เมดิคอล” (Telemedicine) ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับสังคมของคนไทยในอนาคต ที่กำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัย” ประกอบด้วย (1) การให้ความสำคัญกับแพทย์ปฐมภูมิ (2) การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือเน็ตประชารัฐ และ (3) การเชื่อมโยงข้อมูล BIG DATA ภาครัฐ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลแพทย์ จากสถาบันการศึกษา โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ เป็นต้น พร้อมกับได้กล่าวเน้นย้ำการให้ความสำคัญต่อพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ไว้ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” คือ การคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ก่อนประโยชน์ส่วนตน

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือ การสร้างอาชีพให้คนรุ่นใหม่และชุมชน รวมถึงการเพิ่มผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรให้มีทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมกับสถาบันการศึกษาได้โดยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การพัฒนากลุ่มคนทุกช่วงวัย เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นการกระจายองค์ความรู้ เพื่อเข้าสู่ระดับภูมิภาคพร้อมการกระจายรายได้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับการเดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) ซึ่งเป็นความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่ประเทศสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม โดยได้ร่วมลงนามความตกลงไว้ในปี พ.ศ. 2538 ภายใต้ความร่วมมือเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติร่วมกัน นอกจากนี้ สมาชิกทั้ง 4 ประเทศ เป็นประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน และเมียนมา รวมถึงผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ด้วย โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขงให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความขัดแย้งและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกประเทศต่าง ๆ

พร้อมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง 6 ประเทศในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ถือได้ว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมของการเพาะปลูก ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของภูมิภาคด้วย พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้แจ้งที่ประชุมว่าไทยสนับสนุนการพัฒนาโครงการความร่วมมือข้ามพรมแดนที่มีนัยสำคัญต่อการบริหารจัดการลุ่มน้ำ รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทของ MRC ให้เป็นศูนย์กลางความรู้ด้านทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและให้ประเทศสมาชิก หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนา และประชาชน สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้เปิดเผยรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุด ซึ่งได้มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 นี้ ร้อยละ 4.1 ซึ่งถือเป็นการเติบโตในอัตราสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา และสอดคล้องกับการปรับประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการเติบโตอย่างรวดเร็วของการส่งออกเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นได้ส่งสัญญาณว่า การบริโภคในประเทศกำลังฟื้นตัว การปฏิรูปกฎระเบียบ รวมถึงเสถียรภาพของนโยบายเศรษฐกิจในความเชื่อมั่นทางธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มการแข่งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ เป็นกุญแจสำคัญในการกระตุ้นนวัตกรรมและยกระดับประเทศไทยให้ก้าวไปสู่เส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ที่สูงขึ้นในระยะยาวได้ รวมทั้งเน้นถึงความสำคัญของนวัตกรรมที่ส่งผลต่อการเติบโตระยะยาว โดยดัชนีนวัตกรรมโลกได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 52 จาก 128 ทั่วโลกเมื่อปี พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีโอกาสจะดึงดูดผู้ประกอบการที่มีคุณภาพสูง และส่งเสริมการลงทุนด้านนวัตกรรมทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ด้วยการดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับนวัตกรรม อีกด้วย

ในส่วนการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ก้าวทันทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงตามที่ตั้งเป้าไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั้น เป็นแผนปฏิรูปประเทศและร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาประเด็นสำคัญในแผนปฏิรูปประเทศและหารือในส่วนที่มีความสอดคล้อง รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ เพื่อการขับเคลื่อนในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเป็นเข็มทิศชี้ทางให้กับแผนพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย

……………………………………………..

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ