สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2561

ข่าวทั่วไป Friday May 4, 2018 14:40 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2561 เวลา 20.15 น.

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาป่าไม้ถูกบุกรุกทำลายเพื่อขยายพื้นที่ทางการเกษตร และเกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่ประกอบอาชีพของตนเอง เกิดจากการชี้นำ การว่าจ้างของนายทุน หรือการขยายเมือง การขยายชุมชนเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่มากขึ้น หรือการทำรีสอร์ทที่พักเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งทำให้พื้นที่ป่าของประเทศที่เคยอุดมสมบูรณ์ ประมาณ 171 ล้านไร่ และลดลงเหลือ 102 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 32 ของพื้นที่ประเทศ เนื่องจาก ป่าไม้เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของประเทศที่ถูกทำลายเพราะไม่มีผืนป่าดูดซับน้ำและระบบบริหารจัดการลำน้ำที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากทางเศรษฐกิจ นำไปสู่ปัญหาสังคม โดยเฉพาะกับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ไม่มั่นคงและขึ้นอยู่กับกลไกการตลาดที่ไม่สามารถควบคุมได้

การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวคิดปลูกป่าในใจคน ซึ่งเปรียบการปลูกจิตสำนึกเป็นเสมือนต้นกล้าที่จะเจริญเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ในวันข้างหน้า ถ้าคนไทยทุกคนร่วมมือ ร่วมใจ ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จิตสำนึกของคนไทยจึงมีความสำคัญ อีกทั้ง พระองค์ทรงมุ่งหวังให้พสกนิกรได้รับประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งด้านเกษตรกรรม วนศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคม โดยทรงแนะนำการปลูกป่าในเชิงผสมผสาน ได้แก่ การปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง นอกจากจะช่วยรักษาพื้นที่ต้นน้ำ โดยช่วยซับน้ำฝน รวมถึงการอุดช่วงไหลตามร่องเขาและการพัฒนาเป็นชลประทานได้อีกด้วย ทั้งนี้ ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาดังกล่าว มาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายสาธารณะและมาตรการต่าง ๆ เป็นต้น

มาตรการปกป้อง รักษา และฟื้นฟูผืนป่านั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งให้เกิดการขับเคลื่อนด้วยการผนึกกำลังจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าแห่งชาติ (คปป.) ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติการระดับพื้นที่ การมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนการปลูกป่าทุกกิจกรรม ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไม่มีที่ดินประกอบอาชีพ ให้สามารถอาศัยอยู่ที่เดิมของตนได้ ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมากำกับดูแลในแต่ละกิจกรรม เป็นการเฉพาะอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีบทบาทสำคัญ ในการยับยั้งการบุกรุกทำลายป่าที่ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน โดยมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) เพื่อการทวงคืน รวมทั้งหน่วยงานเฉพาะกิจของกรมต่าง ๆ ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ชุดปฏิบัติการพิเศษ ฉลามขาว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนโครงการฟื้นฟูป่าไม้เมืองน่านแบบบูรณาการ ให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างยั่งยืน

สำหรับการฟื้นฟูและปลูกป่าโดยเฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ 273 ศูนย์ และ 943 ฐานปฏิบัติการฟื้นฟูต้นน้ำ เพื่อป้องกันการบุกรุกซ้ำหรือขยายพื้นที่การบุกรุก และปลูกฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ในพื้นที่สูงชัน (เขาหัวโล้น) โดยเฉพาะพื้นที่ทางเหนือ ปัจจุบันได้มีการฟื้นฟูและปลูกป่าได้ ทั้งสิ้น 700,000 กว่าไร่ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการแก้ปัญหาการบริหารจัดการป่าเพื่อความสุขของคนไทย พร้อมทั้ง แก้ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรและการรุกล้ำเขตป่าสงวน กระจายสิทธิการถือครองให้แก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รุกล้ำ เพื่อรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสร้างสมดุล ระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ป่าชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ที่ได้รับรางวัลป่าชุมชนชนะเลิศ ระดับประเทศ ประจำปี 2560 ในปัจจุบันชุมชนมีการฟื้นฟูสภาพป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์ โดยเห็นคุณค่าของทะเลว่าเป็นสมบัติอันล้ำค่า เป็นแหล่งที่อยู่ของกุ้ง หอย ปู และผืนป่า ซึ่งชุมชนได้เรียนรู้ พร้อมได้รับการปลูกฝังจิตสำนึกให้มีการจัดการชุมชนเพื่อปกป้อง ดูแลรักษาให้ชุมชนมีการดำเนินชีวิตของผู้คนให้มีความสุข ในการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพ ภูมิอากาศ และลักษณะภูมิประเทศ เพื่อรักษาผลประโยชน์ชุมชน +ให้รอดพ้นจากภัยคุกคามจากการขยายตัวของท่องเที่ยวในอนาคต

.......................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ