สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม2561

ข่าวทั่วไป Friday May 11, 2018 15:16 —สำนักโฆษก

สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม2561 เวลา 20.15 น. ในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

เนื่องในโอกาสวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 นี้ ตรงกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงซึ่งสะท้อนถึงความผูกพันอันใกล้ชิดระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับปวงชนชาวไทยโดยกำหนดให้เป็นพระราชพิธีประจำปีที่สืบทอดมายาวนาน ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงปัจจุบันนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร ให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก ซึ่งนับว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นฤดูทำนา อันเป็นอาชีพหลักของคนไทย อีกด้วยนอกจากนี้วันพืชมงคลถือเป็นวันเกษตรกรประจำปีซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ได้ทราบข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยว่า ครึ่งปีแรก ประเทศไทยครองแชมป์ส่งออกข้าวได้เป็นอันดับ 1 ของโลก โดยส่งออกข้าวได้กว่า 4.99 ล้านตัน และกรมการค้าต่างประเทศ ได้รายงานว่า มีการปรับเป้าหมายการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ เพิ่มขึ้น จาก 9.5 ล้านตัน เป็น 10 ล้านตัน ทำให้มูลราคาส่งออกข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (7–8 พ.ค. 61) นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล โดยหารือแนวทางแก้ไขปัญหาและรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน อีกทั้งสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน รวมถึงกลไกการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการวางรากฐานการพัฒนา พร้อมการลงทุนเพื่ออนาคต โดยมองถึงผลประโยชน์และตอบสนองความต้องการของคนไทยได้อย่างยั่งยืน โดยการประชุมผู้แทนองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่นและเกษตรกรกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 1 หรือกลุ่มจังหวัด นครชัยบุรินทร์ : นครราชสีมา–ชัยภูมิ-บุรีรัมย์-สุรินทร์ นั้นคณะรัฐมนตรีได้รับทราบข้อมูลเชิงลึก ได้เห็นศักยภาพของกลุ่มจังหวัดนี้ จึงนำมาพิจารณาเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติต่อไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญศักยภาพของการขับเคลื่อนและยกระดับให้กลุ่มจังหวัดนี้ เป็นประตูสู่อีสานและ CLMV เพื่อเชื่อมโยงกับแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) และโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ตามที่มุ่งหวังไว้

สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ไหม ได้แก่หมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่าง ซึ่งเริ่มจากพระราชเสาวนีย์พร้อมด้วยเงินก้อนแรกของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่อาจารย์วีระธรรม ตระกูลเงินไทยซึ่งเป็นอาจารย์วิทยาลัยในวังชาย และเป็นลูกหลานของบ้านท่าสว่าง จึงได้เกิดโรงทอจันทร์โสมาขึ้น เพื่อผลิตผ้าไหมยกทอง รูปแบบราชสำนักโบราณ และเคยใช้ตัดเสื้อมอบแก่ผู้นำ APEC ทำให้ผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่าง เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยในปี 2560 บ้านท่าสว่างได้รับงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดเพื่อพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เวทีกลาง และพิพิธภัณฑ์บ้านท่าสว่าง รวมถึงได้รับการพัฒนาเป็นหมู่บ้านสัมมาชีพชุมชน ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหม มีครัวเรือนที่เข้าร่วมจำนวน 20 ครัวเรือน และได้ขยายครัวเรือนเพิ่มอีกเป็น 26 ครัวเรือน ในปี 2561

ในช่วงปี 2561 ได้สานต่อความสำเร็จของโครงการมุ่งสร้างความต่อเนื่อง และต่อยอดกิจกรรมพัฒนาชุมชนผู้ผลิตที่ได้จากการประกวดในปี 2560โดยการรวมตัวเป็น Cluster เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต และการต่อยอดทางธุรกิจให้แก่ผ้าขาวม้าผ่านกิจกรรม “การเฟ้นหาทายาทผ้าขาวม้าไทย”เป็นแรงบันดาลใจ ให้กับชุมชนผู้ผลิตต้นแบบที่ยังคงสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป รวมทั้ง การประกวดออกแบบผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด “นวอัตลักษณ์” 3 สาขา ได้แก่ ด้านแฟชั่นเคหะสิ่งทอ และการออกแบบลายผ้าขาวม้า จากตัวอย่างชุมชนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ด้วยศักยภาพของชุมชนทอผ้าขาวม้า จังหวัดอำนาจเจริญ ภายใต้แบรนด์“นุชบา”ถือได้ว่าเป็นคลัสเตอร์ผ้าขาวม้าเงินล้านตลอดจนมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์การแปรรูปผ้าขาวม้า ให้เป็นสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีการใช้วัตถุดิบใการผลิตด้วยสีธรรมชาติพร้อมได้รับการสนับสนุนช่องทางการตลาด ทั้งการออกร้านการจำหน่ายสินค้าและตลาดออนไลน์

การส่งเสริมพัฒนาการค้าการลงทุนและการค้าชายแดนที่จุดผ่านแดนถาวรช่องจอมและโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรช่องจอม เป็นช่องทางข้ามแดนไทย-กัมพูชา ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งการค้าชายแดนบริเวณนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2557 โดยจังหวัดสุรินทร์มีโครงการด่านศุลกากรช่องจอมขึ้น เพื่อรองรับศักยภาพการค้าชายแดนและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมสนับสนุนการให้บริการแบบจุดเดียวของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้การบริการสะดวก รวดเร็ว มีมาตรฐานสากล รวมถึงช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยด้วย รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ทั้งระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกภายใต้ความร่วมมือ GMS และเป็นประตูเชื่อมโยงกลุ่ม 3 ประเทศสามเหลี่ยมมรกต ได้แก่ กัมพูชา ลาว และไทย

การยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นโครงการตามแนวทางประชารัฐ เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน Homestay บ้านสนวนนอก เป็นอีกตัวอย่างที่ได้เห็นการร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให่แก่ชุมชน โดยในชุมชนมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 165 ครัวเรือน ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก และมีการประกอบอาชีพเสริม นอกจากนี้ ชุมชนสนวนนอกยังเป็นชุมชนคุณธรรมที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นต้นแบบ เนื่องจากการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การทอผ้าไหม เป็นวิถีดั้งเดิมของชนเผ่าในภาคอีสาน ทั้งชนเผ่าไทยอีสาน ไทยลาว ไทยส่วย ไทยเขมร สืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น จึงมีการผสมผสานศิลปวัฒนธรรมจนเกิดเป็นลายผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์ ประกอบกับรายได้จากอาชีพเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพหลักจึงเกิดการส่งเสริมให้คนในหมู่บ้านมีอาชีพเสริมดังกล่าว ซึ่งพัฒนามาจากองค์ความรู้และภูมิปัญญาในท้องถิ่นของตนเอง

หมู่บ้านสนวนนอกจึงได้ผลักดันกลุ่มทอผ้าไหมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องจนได้ลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ ผ้าหางกระรอกคู่ตีนแดงซึ่งมีคุณภาพ มีชื่อเสียง และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยมีผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตไหม เป็นแนวคิดหลัก จนทำให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ผ่านทั้งสื่อสังคมออนไลน์ จนเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของนักท่องเที่ยวที่อยากเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน ชมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้ฝึกทำและชิมขนมพื้นเมือง ชมการแสดงพื้นบ้าน นั่งรถกระสวยอวกาศ ชมธรรมชาติ รวมถึงการพักโฮมสเตย์ส่งผลให้กลุ่มทอผ้าไหม มีความเข้มแข็ง และสามารถขายผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง

จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ไปตรวจเยี่ยมความพร้อมของประเทศไทย สำหรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก สนามที่ 15 รายการ PTT Thailand Grand Prix ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ซึ่งประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้จัดการแข่งขันรายการระดับโลกนี้ เป็นครั้งแรกระยะเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 5 – 7 ตุลาคมนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม กว่า 2 แสนคน นอกจากนี้ จะมีการถ่ายทอดผ่านช่องกีฬาชั้นนำกว่า 200 ช่อง ใน 207 ประเทศ สู่สายตาชาวโลก กว่า 800 ล้านคู่อีกด้วย

ทั้งนี้ ความพร้อมของประเทศไทยเพื่อรองรับการเติบโตของกิจกรรมต่าง ๆ ของจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการแข่งขันดังกล่าว ทางภาครัฐจึงได้สนับสนุนการปรับปรุงท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ให้เป็นสนามบินศุลกากรที่มีระบบรองรับผู้โดยสารจากต่างประเทศตามมาตรฐานสากล โดยในปัจจุบันจะมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว สำหรับการขยายทางวิ่ง เพื่อรองรับมหกรรมระดับโลกครั้งนี้อีกด้วยซึ่งเป็นการสร้างความภาคภูมิใจแก่คนไทยทุกคน

.......................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ