นายกรัฐมนตรีประชุม กนช.เห็นชอบ 5 แผนงานโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหลาก

ข่าวทั่วไป Monday May 21, 2018 14:07 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม กนช.ครั้งที่ 2/61 เห็นชอบ 5 แผนงานของโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหลาก พร้อมให้เร่งสร้างการรับรู้แผนเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากปีนี้

วันนี้ (21 พ.ค.61) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2561 โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ซึ่งภายหลังการประชุม นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (เลขาธิการ สทนช.) ในฐานะเลขานุการ กนช. และคณะ ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญดังนี้

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ที่ประชุม กนช.ได้พิจารณาวาระที่สำคัญหลัก ๆ คือ การเสนอผลงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านมา ที่มีการรวบรวมโครงการต่าง ๆ แบบเป็นรายกลยุทธ์ และมีการติดตามงานที่เกิดขึ้นทั้งหมด ที่งานต่าง ๆ จะต้องมีผลสัมฤทธิ์ถึงภาคประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า งานที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ ตั้งแต่ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคเหนือ ที่มีหลายโครงการมากกว่า 90 แห่งนั้น จะต้องมีการติดตามให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบการความก้าวหน้าของ (ร่าง) พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... รับทราบปฏิญญาระดับรัฐมนตรีในการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 8 ณ กรุงบราซิเลีย และปฏิญญาเสียมราฐ ที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามปฏิญญา ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา

สำหรับเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูฝน เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ที่ได้ประชุมรับทราบผลการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งที่ผ่านมา ที่ในฤดูแล้งที่ผ่านมา มีพายุฤดูร้อนเข้ามาทำให้ประเทศไทยไม่มีการประกาศพื้นที่ภัยแล้ง จากเดิมที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีพื้นที่ภัยแล้งภาคการเกษตรประมาณ 23 จังหวัด แต่ปรากฏว่าไม่มี ทั้งนี้ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กนช. ได้สั่งการให้มีการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาและแหล่งน้ำที่มีความจุปริมาณน้ำมากกว่า 80% รวมถึงแหล่งน้ำที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลรับผิดชอบ โดยมอบหมายให้กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไปสร้างการรับรู้ภาคประชาชน และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมชลประทานนำแผนบริหารจัดการน้ำหลากรายพื้นที่ รายจังหวัด ที่กรมชลประทานทำอยู่แล้ว ไปปรับปรุงร่วมกับจังหวัด ให้สร้างการรับรู้ในระดับพื้นที่ โดยให้มีการมอบหมายหน้าที่อย่างชัดเจน ให้มีเจ้าภาพหลัก และให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานกับจังหวัดซักซ้อมแผนเตือนภัย วิกฤติภัยต่าง ๆ

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแผนงานสำคัญ ๆ 5 เรื่อง ได้แก่ 1. การปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ ซึ่งจากการรายงานของ สทนช. พบว่า งบประมาณบูรณาการด้านน้ำ ปี 2562 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 63,271 ล้านบาท แต่ยังคงมีบางหน่วยงานนำเสนอแผนงานด้านน้ำเพื่อขอรับงบประมาณจากแหล่งเงินอื่น ๆ อีก เช่น งบจังหวัด งบกลุ่มจังหวัด หรือในลักษณะบูรณาการอื่น ๆ ที่ประชุมจึงมีมติให้ สทนช. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ พิจารณาแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและโครงการจากทุกแหล่งเงิน เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับแผนงานอื่น

2. การขับเคลื่อนแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ปี 2562 – 2565 ที่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีทั้งหมด 30 โครงการ เพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำรวมทั้งหมดได้ 4,320 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 4.5 ล้านไร่ มีโครงการที่ผ่านการพิจารณากรอบวงเงินปี 2562 จำนวน 3 โครงการ คือ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย และโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำพร้อมคลองผันน้ำ 4 สาย จ.สกลนคร และมีโครงการอยู่ระหว่างการออกแบบ จำนวน 3 โครงการ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ จ.ชัยภูมิ โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร พร้อมอาคารประกอบ จ.พระนครศรีอยุธยา โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร ซึ่งที่ประชุมได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอรายละเอียดโครงการสำคัญเหล่านี้ให้ กนช. พิจารณาในการประชุมคราวถัดไป

3. โครงการระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จ.หนองบัวลำภู เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก วงเงินประมาณ 210.82 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่จังหวัดขอรับการสนับสนุนงบประมาณในคราวที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ ให้ จ.หนองบัวลำภูไปดำเนินการปรับแผนใช้เงินเหลือจ่ายของหน่วยงานในเบื้องต้นก่อน แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้งบกลาง ให้ประสานกับสำนักงบประมาณ และให้กระทรวงพลังงานสนับสนุนระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

4. การปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2550 ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้ สทนช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยเน้นการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ให้ สทนช. เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำ พร้อมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ร่วมพิจารณาตัดโอนอัตรากำลังที่สอดคล้องกับภารกิจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักงบประมาณ สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการต่อไป

5. การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ด้านนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ประชุมเห็นชอบให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักด้านนโยบายในการประสานงานการบริหารจัดการน้ำกับองค์การนานาชาติ องค์การระหว่างประเทศ ความร่วมมือทวิภาคี พหุภาคี และให้เป็นหน่วยงานหลักในการกระจายภารกิจที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานอย่างเป็นเอกภาพ โดยให้ สทนช. กพ. กพร. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการดำเนินการดังกล่าว และเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม กนช. ยังรับทราบผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตั้งแต่ปี 2557-2560 การดำเนินงานตามมติ กนช. และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเรื่องสำคัญ เช่น การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ที่ยังคงเหลือหมู่บ้านที่ไม่มีระบบประปาจำนวน 256 หมู่บ้าน จะดำเนินการเร่งรัดให้ครบทุกหมู่บ้านภายในปี 2562 การปรับปรุงร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศ การกำหนด Area Based 66 พื้นที่ ให้ สทนช.ดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนงานโครงการสำคัญในพื้นที่ดังกล่าว การดำเนินการปรับปรุงสิ่งกีดขวางลำน้ำในพื้นที่ภาคใต้ 111 แห่ง กำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 การขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ป่าอนุรักษ์ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการคู่ขนานกันและประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดไว้

ในส่วนของแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2561 ซึ่งคาดว่าจะมีค่าฝนเฉลี่ยน้อยกว่าปกติ 5 – 10 % และน้อยกว่าปี 2560 โดยอาจจะเกิดฝนทิ้งช่วง ในเดือนมิถุนายน และจะมีโอกาสเกิดพายุเข้าประเทศไทยจำนวน 1 - 2 ลูก ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน มีการวางแผนเพาะปลูกข้าวในช่วงฤดูฝน จำนวน 60 ล้านไร่ และจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในทุกภาคส่วน รวม 88,771 ล้าน ลบ.ม. หลังสิ้นฤดูฝนคาดว่าจะมีน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่การเกษตรฤดูแล้ง ปี 2561/62 ประมาณ 60,064 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2560 จำนวน 10,910 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในปีนี้นั้น ที่ประชุมได้สั่งการให้กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหลาก โดยให้ สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลาก การจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ตลอดจนการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ภาคประชาชนในการรับมือน้ำหลาก ในปีนี้ สทนช.เตรียมจัดงาน “การเตรียมความพร้อมจัดการน้ำหลาก ปี 2561” ในวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานและได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมจัดนิทรรศการเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การบูรณาการเตรียมความพร้อมของรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากปี 2561 นี้ ซึ่งการดำเนินงานในช่วงต่อจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อสร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชนต่อไป

ด้านนายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่กำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูฝน แต่ยังไม่มีการประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในปัจจุบันมีปริมาณพอสมควร แต่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่เป็นตัวบ่งชี้ของฤดูฝนยังไม่มีเข้ามา ขณะนี้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เข้ามาเฉพาะในเขตอันดามันทางภาคใต้ สำหรับภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ยังเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ ฉะนั้นยังไม่สามารถประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนในวันนี้ได้ เมื่อลมมรสุมประจำฤดูมาถึงแล้ว กรมอุตุนิยมวิทยาจึงจะประกาศให้ทราบถึงการเข้าสู่ฤดูฝน

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำว่า กรมชลประทานได้นำเสนอที่ประชุม กนช. ถึงการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนขนาดกลาง จากข้อมูลเมื่อ 3 พ.ค.61 มีเขื่อนขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% รวม 60 แห่ง แต่ข้อมูลในปัจจุบันมีเขื่อนขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ลดลงเหลือ 44 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยมีการระบายน้ำทุกวันในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และเป็นการระบายเพื่อการเพาะปลูก ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นเดือน พ.ค.61 หรือสัปดาห์แรกของเดือน มิ.ย.61 ปริมาณน้ำในเขื่อนทั้ง 44 แห่งจะมีเหลืออยู่น้อยกว่า 80% สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ มีการเพาะปลูกเต็มพื้นที่ 100% รวม 382,000 ไร่ ขณะที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในขณะนี้มีการเพาะปลูกแล้ว 26% จาก 1.15 ล้านไร่ รวมพื้นที่เพาะปลูกรวมของพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกรวมทั้งหมด 45% คาดว่าจะมีการเพาะปลูกเต็มที่ในสัปดาห์แรกของเดือน มิ.ย.61

ด้านการวิเคราะห์ความเสี่ยงของพื้นที่ที่จะเกิดอุทกภัย อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า กรมชลประทานได้สร้างทางเลือกไว้ 5 ทางเลือก คือ 1. ฝนเฉลี่ย 2. ฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 8% 3. ฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย 8% 4. ฝนเทียบเคียงปี 2528 ตามข้อเสนอของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. 5. ฝนเทียบเคียงกับฝนปี 2537 ตามข้อเสนอของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งกรมชลประทานได้นำทั้ง 5 ทางเลือกดังกล่าวมาสร้างแบบจำลองวิเคราะห์ว่าในแต่ละเดือนตั้งแต่ มิ.ย.ถึง ต.ค.61 มีพื้นที่ใดบ้างที่มีความเสี่ยง ในช่วงเวลาใด และมีระดับน้ำที่จะล้นตลิ่งเท่าใด โดยการวิเคราะห์จะสามารถบอกได้ในทุกมิติ ทั้งมิติเชิงพื้นที่ มิติช่วงเวลา มิติของระดับน้ำที่จะล้นตลิ่ง เช่น ในเดือน มิ.ย. ยังไม่มีพื้นที่ใดที่จะได้รับผลกระทบ เมื่อเข้าสู่ ก.ค. จะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบคือภาคอีสานที่จังหวัดอุบลราชธานี และภาคเหนือตอนล่าง และเมื่อเข้า ส.ค.-ต.ค. พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะอยู่ในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคอีสานจังหวัดอุบลราชธานี ฉะนั้น ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย. จังหวัดอุบลราชธานีจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำล้นตลิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ประธาน กนช. ได้เสนอให้กรมชลประทานเพิ่มอีกหนึ่งทางเลือกคือกรณีที่มีพายุ โดยให้รวมกรณีที่มีพายุเข้าไปใน 5 ทางเลือกด้วย หรือจะสร้างเป็นทางเลือกที่ 6 เป็นกรณีที่มีพายุในเดือน ส.ค.-ก.ย.

นอกจากนี้ นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการกองบัญชาการป้องกันสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดทุกพื้นที่ได้เตรียมความพร้อมรับอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีแนวทางให้แต่ละจังหวัดวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ เตรียมความพร้อมในเรื่องกายภาพ ทางน้ำไหลทางน้ำระบาย เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เตรียมแผนเผชิญเหตุ และซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ รวมถึงเตรียมความพร้อมการแจ้งเตือนประชาชนเมื่ออาจจะเกิดภัยขึ้น โดย ปภ. มีการประชุม Conference เตรียมความพร้อมและซักซ้อมการเตรียมความพร้อมกับทุกจังหวัดในทุกวันพฤหัสบดี

----------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการ กนช.)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ