รัฐบาล อนุมัติร่าง พรบ.ที่มีระบบค่าตอบแทนแก่บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาที่มีความเหมาะสมมากขึ้น พร้อมอนุมัติร่างกฎกระทรวงสงเคราะห์บุตรผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม

ข่าวทั่วไป Monday May 28, 2018 14:47 —สำนักโฆษก

รัฐบาล อนุมัติร่าง พรบ.ที่มีระบบค่าตอบแทนแก่บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาที่มีความเหมาะสมมากขึ้น พร้อมอนุมัติร่างกฎกระทรวงสงเคราะห์บุตรผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

วันนี้ (28 พฤษภาคม 2561) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป 2. ให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ และคณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างหน่วยงานและระบบค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 3. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองซึ่งต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ

ทั้งนี้ โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวกำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็น ก.พ.อ. อาจกำหนดให้ข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษาได้รับการเยียวยาโดยให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งตามที่เห็นสมควร รวมทั้งกำหนดให้กรณีที่ ก.พ.อ. เยียวยาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาในครั้งแรก ให้คำนึงถึงเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนประเภทอื่นในสถานศึกษาประกอบด้วย

2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ รง. รับความเห็นของกระทรวงการคลังไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการตามที่ รง. เสนอ ดังนี้

1. พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป นั้น มาตรา 75 ตรี ได้บัญญัติให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน และต่อมาได้มีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 2 คน และให้เหมาจ่ายเป็นเงินในอัตรา 400 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน

2. โดยที่กฎกระทรวงดังกล่าวได้ใช้บังคับมานานแล้ว สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน อันจะเป็นการช่วยเหลือบุตรของผู้ประกันตน ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตร จำนวน 1,202,009 ราย จำนวนบุตร 1,326,695 คน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้

โดยมีสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง ดังนี้

1. กำหนดให้กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

2. กำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรจากอัตราเหมาจ่ายเป็นเงิน 400 บาทต่อเดือน ต่อบุตร 1 คน เป็นอัตราเหมาจ่าย 600 บาทต่อเดือน ต่อบุตร 1 คน โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561

3. กำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ จากจำนวนคราวละไม่เกิน 2 คน เป็นจำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน ทั้งนี้ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558

................................................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ