นายกรัฐมนตรีประชุมบอร์ด คนร. ครั้งที่ 2/61 เห็นชอบหลักการของกรอบหลักการ และแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ ฉบับปรับปรุง

ข่าวทั่วไป Wednesday May 30, 2018 14:50 —สำนักโฆษก

นายกฯ ประชุมบอร์ด คนร. เห็นชอบหลักการของกรอบหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ ฉบับปรับปรุง พิจารณาการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง สั่งการ บมจ.การบินไทยลดต้นทุนบริหารจัดการบางส่วนโดยไม่กระทบต่อการให้บริการหรือมาตรฐานความปลอดภัย

วันนี้ (30 พ.ค.61) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 2/2561 โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดประชุม โดยแสดงความห่วงใยในเรื่องของสื่อโซเชียลมีเดียว่า ขณะนี้ทุกคนต้องระมัดระวังในการทำงานให้มากที่สุด อะไรที่จะเป็นจุดอ่อน อะไรที่จะเป็นปัญหาในช่วงนี้ก็ขอให้พิจารณาให้รัดกุม เพราะจะต้องตอบคำถามมากมาย โดยเฉพาะเรื่องความไว้วางใจ และวันนี้ในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็แรงขึ้น ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ฉะนั้นอะไรที่มีความเสี่ยงสูงก็ต้องดูความเหมาะสมอีกครั้ง จะต้องลดปัญหานี้ให้ได้มากที่สุด เรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจใดก็ตาม ขอฝาก ผอ.สคร. ช่วยกำกับดูแลการให้ข่าว การชี้แจงให้ทันเวลาและเหตุการณ์ เรื่องใดที่จะต้องทำ ก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบก่อนว่าทำเพื่ออะไร อย่างไร มิฉะนั้นจะถูกบิดเบือนไปทั้งหมด โดยขอฝากไปถึงทุกรัฐวิสาหกิจด้วย

ภายหลังการประชุม นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ผอ.สคร.) พร้อมด้วย นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา รองผู้อำนวยการ สคร. และ นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. ได้แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุม คนร. เห็นชอบในหลักการของกรอบหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ ฉบับปรับปรุง ตามมติของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและพัฒนาระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ (คณะอนุกรรมการ ฯ) และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาในรายละเอียดของหลักการและแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจในแต่ละหมวดต่อไป โดยในเรื่องนี้ ผอ.สคร. กล่าวว่า คนร. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีของรัฐวิสาหกิจ ในส่วนนี้เดิมมีหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ ปี 2552 ซึ่ง คนร. เห็นสมควรที่จะมีการปรับปรุงหลักการและแนวทางเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับ ดังนั้น คนร. จึงได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นเมื่อการประชุม คนร. ครั้งที่ 1/2561 โดยวันนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้นำเสนอกรอบหลักธรรมาภิบาลใหม่ ที่ปรับจากหลักการและแนวทางเดิมในปี 2552 ซึ่งจะมีจำนวนหมวดที่แตกต่างกัน และคณะอนุกรรมการฯ ได้นำหลักในส่วนของแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ของธนาคารโลก (World Bank) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. มาประกอบการพิจารณาด้วย โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้แบ่งหมวดต่าง ๆ ในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีออกเป็น 10 หมวดเพื่อให้สอดคล้องกับหลักที่เป็นสากล และนำเสนอที่ประชุม คนร. ให้ความเห็นชอบในกรอบที่คณะอนุกรรมการฯ ได้ทำการศึกษามา เพื่อที่คณะอนุกรรมการฯ จะได้ใช้เป็นแนวทางลงรายละเอียดในแต่ละหมวด และจะนำเสนอ คนร. ในคราวประชุมครั้งต่อไป

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม คนร. ได้พิจารณาการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง ซึ่งในภาพรวม รัฐวิสาหกิจทั้ง 6 แห่งได้นำเสนอการดำเนินการแก้ไขปัญหาอยู่ในระดับที่ถือว่าดีขึ้นเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง โดยอย่างไรก็ดีในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่าน หรือในเรื่องต่าง ๆ ขณะนี้ที่มีผลกระทบกับพนักงานนั้น นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับเรื่องพนักงานเป็นอย่างมาก โดยนายกรัฐมนตรีขอให้มีมาตรการดูแลไม่ให้พนักงานได้รับผลกระทบ พร้อมกับให้มีการพัฒนาบุคลากร เพิ่มทักษะความชำนาญให้กับพนักงาน และมอบหมายให้กระทรวงแรงงานไปศึกษาแผนการดูแลคน รวมถึงให้ศึกษาแผนรองรับคนเกษียณอายุที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอนาคตด้วย สำหรับผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจทั้ง 6 แห่ง มีดังนี้

1. บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มีผลการดำเนินงานส่วนใหญ่ที่ดีขึ้น โดย บมจ.การบินไทย ได้จัดทำกรอบแผนยุทธศาสตร์ในเรื่องเครือข่ายเส้นทางการบิน ที่มีการจัดเที่ยวบิน ทั้งเส้นทาง ความถี่ และเวลา ให้รองรับการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อเที่ยวบินของภูมิภาค ซึ่งเป็นกรอบระยะยาวของ บมจ. การบินไทย ทั้งนี้ คนร. ได้มอบหมายให้ บมจ.การบินไทย ปรับรูปแบบการให้บริการ เช่น การให้บริการบนเครื่องบิน อาหารบนเครื่องบิน เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการ รวมทั้งให้พิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายบางส่วนที่สามารถลดได้โดยไม่กระทบต่อการให้บริการ หรือความปลอดภัย ขณะที่ในเรื่องการปรับระบบการจำหน่ายบัตรโดยสาร คนร. ให้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการปรับระบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ช่องทางดิจิทัลต่าง ๆ ทั้งแอพพลิเคชั่น อินเทอร์เน็ต โดยให้ บมจ.การบินไทย ไปพิจารณาสัดส่วนการจำหน่ายตั๋วในช่องทางดังกล่าวให้มากขึ้น นอกจากนี้ คนร. ก็ได้เร่งรัดเรื่องการดำเนินการโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยมอบหมายให้ไปจัดทำแผนรายละเอียดให้ชัดเจน

“โดยภาพรวมขณะนี้ ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายเฉพาะส่วนของน้ำมันสูงกว่าเป้าหมาย 17% ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ ของการบินไทยก็มีแนวโน้มที่จะลดลง แต่จะมีค่าใช้จ่ายบางส่วนเรื่องการดูแลซ่อมแซม ซึ่งทางคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้ ต้องกำชับลงไปว่าการลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ต้องดูควบคู่กับมาตรฐานความปลอดภัย ฉะนั้น จึงไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายแต่เพียงอย่างเดียว และค่าใช้จ่ายบางส่วนที่เกิดขึ้น มาจากค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลเครื่องบินที่ยังไม่ได้ขาย ซึ่งความคืบหน้าในการขายเครื่องบินขณะนี้ก็มีความชัดเจนมากขึ้น” นายชาญวิทย์ รอง ผอ.สคร. กล่าวเพิ่มเติม

2. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขณะนี้ ขสมก. ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความพร้อมมาให้บริการแก่ประชาชน ทั้งเรื่องการดูเส้นทางเดินรถบนแอพพลิเคชั่น การชำระค่าโดยสารผ่านคิวอาร์โค้ด ที่คาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ในบางเส้นทางได้ในเดือนมิถุนายนนี้ และในปัจจุบัน ขสมก. ได้ทำการศึกษาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น Via BUS ที่จะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลการเดินทางของรถบนระบบ GPS ซึ่ง ขสมก. จะได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้เพิ่มขึ้นในอนาคต และเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของ ขสมก. คนร.จึงได้มอบหมายให้ ขสมก. ไปดูเรื่องเส้นทางการเดินรถ จำนวนรถที่จะใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปเส้นทาง โดยให้ศึกษาทั้งเรื่องประเภทรถที่จะนำมาใช้ จำนวนสัดส่วนของรถที่จะใช้ รวมทั้งดูเรื่องประมาณการทางการเงินด้วย สำหรับในเรื่องการจัดหารถนั้น คนร. ขอให้ ขสมก. ไปดูเรื่องการที่จะให้มีผู้ผลิตในประเทศสามารถเข้ามาเสนอ หรือเข้าร่วมกระบวนการจัดหารถด้วย

3. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำเสนอความคืบหน้าในการจัดเส้นทางต่าง ๆ ต่อที่ประชุม คนร. โดยในส่วนของกรอบแผนยุทธศาสตร์ในภาพใหญ่ คนร. เห็นว่าเนื่องจากรถไฟเป็นเครือข่ายที่มีการเชื่อมโยงของประเทศทั้งหมด และเชื่อมโยงกับต่างประเทศด้วย จึงมอบหมายให้ รฟท. ไปดำเนินการเรื่องเส้นทางการเดินรถของรถไฟในอนาคต 5 – 10 – 20 ปีข้างหน้า เพื่อที่จะได้เห็นว่าความเชื่อมต่อของเส้นทางรถไฟภายในประเทศและภูมิภาค มีความเชื่อมต่ออย่างไร นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ รฟท. ดูเรื่องการกำกับการให้บริการของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ หรือ ARL ทั้งในเรื่องของจำนวนรถที่ให้บริการ เรื่องการแก้ไขปัญหาในเวลาที่รถมีปัญหา ส่วนเรื่องกรณีการพัฒนาสินทรัพย์ นายกรัฐมนตรีอยากให้ไปดูเรื่องที่ดินแปลงใหญ่ และที่ดินของ รฟท. โดยให้ไปทำแผนให้ชัดเจน ซึ่งในเรื่องนี้ รฟท. ได้ทบทวนแผนที่จะจัดตั้งสองบริษัท คือ 1. บริษัทที่จะบริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีแดง 2. บริษัทบริหารทรัพย์สิน โดย รฟท.จะไปทบทวนทั้งเรื่องกรอบ รูปแบบ การดำเนินงาน ประมาณการทางการเงิน และจะนำเสนอกลับมาที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแก้ไขปัญหา ภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อนำเสนอที่ประชุม คนร. ต่อไป ทั้งนี้ คนร. ยังมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปดูการจัดทำแผนแม่บทการคมนาคมขนส่ง ที่รองรับระบบการขนส่งทั้งประเทศ ในระยะ 5 ปี 10 ปี 15 ปี เพื่อจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนของระบบการขนส่งด้วย

4. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท. หรือไอแบงก์) ที่ผ่านมา ธอท. มีผลการดำเนินการที่ขาดทุนมาโดยตลอด แต่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 ธอท. เริ่มมีกำไรขึ้น สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น และมีการบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ หรือ NPF รายย่อยมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ ในเรื่องของกฎหมายการเพิ่มทุนให้ ธอท. ขณะนี้ได้ผ่าน สนช.เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเมื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีการดำเนินการเพิ่มทุนให้ ธอท. ทันที โดยกระทรวงการคลังพร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มทุนงวดแรก 2,000 ล้านบาท และเงินเพิ่มทุนส่วนที่เหลือ อีก 16,100 ล้านบาท จะเป็นเงินจากกองทุนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยขณะนี้มีการปรับกระบวนการการทำงาน และอยู่ระหว่างการเตรียมการสรรหา CEO สำหรับเรื่องการสรรหาพันธมิตร ถ้า ธอท. มีความพร้อม ก็ยังให้ดำเนินการสรรหาพันธมิตรต่อไปได้

5. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT) และ 6. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) เนื่องจากที่ผ่านมา TOT และ CAT มีการจัดตั้ง บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) คนร. ได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไปดูรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมรวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น ในการที่จะจัดตั้งบริษัท ทั้งเรื่องการถ่ายโอนทรัพย์สิน ทิศทางของ TOT และ CAT เพื่อให้ 4 บริษัทที่มีอยู่ขณะนี้สามารถดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน โดยให้เสนอกลับมาที่ คนร. อีกครั้ง

----------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ