สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2561

ข่าวทั่วไป Friday June 22, 2018 14:51 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2561 เวลา 20.15 น.

นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 20 - 26 มิถุนายน 2561 นี้ ทั้งนี้ ได้น้อมนำพระบรมราโชวาท ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานไว้ เกี่ยวกับ “การปิดทองหลังพระ” ในใจความตอนหนึ่งว่า “...การทำงานด้วยใจรัก ต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ แม้จะไม่มีใครรู้ ใครเห็น ก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้น จะเป็นประจักษ์พยาน ที่มั่นคง...” ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมานั้น นายกรัฐมนตรีได้รับเชิญให้ไปเยือนประเทศญี่ปุ่น จีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกาและอินเดีย อย่างเป็นทางการ ภายหลังจากที่สหภาพยุโรป มีมติข้อผ่อนปรนให้กับประเทศไทย สามารถเดินหน้าสานต่อความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ได้

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าจากการเยือนอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ คือ “เส้นทางสู่ความสำเร็จร่วมกัน” ของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ตลอดจนการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะมิติการค้า การลงทุน ที่จะช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงตลาดให้กับผลผลิตของพี่น้องเกษตรกร รวมทั้งผู้ประกอบการ SME เพื่อให้ขายสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาล และ คสช.ได้วางแผนปฏิรูปและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยดำเนินการได้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล พร้อมทั้งสร้างความโดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศ ควบคู่กับการส่งเสริมผลประโยชน์ของคนไทยต่อไป ปัจจุบันความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน มีการเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2560 มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปี 2559 แม้ว่าบริบทการต่างประเทศจะมีการแข่งขันกันสูงมากในปัจจุบัน แต่ประเทศไทยยังคงสามารถดำเนินนโยบาย ได้อย่างสมดุล โดยมีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศและได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก นอกจากนี้ รัฐบาลได้ริเริ่มและเป็นเจ้าภาพการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐาน ที่ไม่ปกติ อีกทั้ง ได้เลื่อนสถานะของไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ประจำปี ค.ศ. 2016 จาก Tier 3 ขึ้นเป็น Tier 2 Watch List (คงสถานะเดิม ในปี ค.ศ. 2017)

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคที่สำคัญ ๆ คือ การประชุม ASEAN-EU Ministerial Meeting และการประชุม ACD Summit ครั้งที่ 2 ซึ่งล้วนแต่เป็นเวทีที่ไทยประสบความสำเร็จ ในการผลักดันประเด็นความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาของภูมิภาค และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น (15-16 มิ.ย. 61) ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี เจ้าพระยาและแม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ 8 และการประชุม ACMECS CEO Forum ครั้งที่ 1 ณ กรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อ “การก้าวสู่ประชาคมแม่โขงที่เชื่อมโยงกัน” โดยมีผู้นำจากประเทศสมาชิก CLMVT ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เข้าร่วมด้วย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประชาคม ให้เป็น “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา” ที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน การค้าชายแดน และการข้ามพรมแดนของประชาชนอย่างไร้รอยต่อ “ภายใต้แผนแม่บท 5 ปี (2562 – 2566) ” เพื่อทำให้ประเทศสมาชิกเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจและเป็นสะพานเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกได้อย่างสมบูรณ์แบบเพื่ออำนวยความสะดวก ลดเวลาและต้นทุน ในการเดินทาง อีกด้วย

การประชุมครั้งนี้ ยังได้มีการรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ เป็นการส่งเสริมความเชื่อมโยง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการจัดตั้งกองทุน ACMECS เพื่อเป็นกลไกการระดมทุน เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศ ตามนโยบาย “Thailand 4.0” ตลอดจนการพัฒนาระบบ e-Commerce และมีบทบาทในการแสวงหาแนวทางปฏิบัติ พร้อมทั้งช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และชี้ช่องทางเศรษฐกิจแก่ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ผ่านการให้ข้อมูลเชิงลึกของตลาดที่มีศักยภาพ รวมถึงด้านการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นการวางรากฐานด้านการต่างประเทศให้มีความเข้มแข็งสามารถช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า โดยในอนาคตนั้น ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด APEC ในปี 2565

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมานั้น (21 มิ.ย. 61) ได้หารือกับ นาง เทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งผลของการหารือ มีสาระสำคัญดังนี้ ด้านของความมั่นคงและส่วนของภูมิภาค ทั้งในภูมิภาคอาเซียน และอื่น ๆ ตลอดจนด้านเศรษฐกิจมีการเพิ่มมูลค่าการลงทุนค้าขาย ระหว่างไทยกับอังกฤษ และยุโรป หลังจากที่ได้มีการปฏิบัติตามมติของสหภาพยุโรป เป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดี อีกทั้งด้านการส่งเสริมและพัฒนาด้านทรัพยากรบุคคลด้านอุตสาหกรรมดิจิตอล ของบริษัทเพียสัน ซึ่งเป็นหลักสูตรด้านอาชีวะศึกษา ในขณะนี้ประเทศไทยนั้นให้ความสำคัญด้านการศึกษาทวิภาคีมากขึ้น เป็นลำดับ การผลิตตามความต้องการของประเทศโดยเฉพาะใน EEC และในประเทศไทย เพื่อช่วยกันในการศึกษาวิเคราะห์หาแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในอนาคต นับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการเดินทางมาเยี่ยมเยือน สหราชอาณาจักรในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จ

.............................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ