รอง นรม. พล.อ.อ. ประจินฯ ประชุมคณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐบาล (คตน.) ครั้งที่ 7/ 2561

ข่าวทั่วไป Thursday July 26, 2018 13:37 —สำนักโฆษก

ที่ประชุมคณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐบาล (คตน.) รับทราบการดำเนินการลดปริมาณการใช้วัสดุที่ผลิตจากพลาสติก ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี

วันนี้ (25 ก.ค.61) เวลา 15.30 น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (เดิม) ชั้น 2 อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐบาล (คตน.) ครั้งที่ 7/ 2561 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในประเด็นการติดตามเร่งด่วน อาทิ การลดปริมาณการใช้วัสดุที่ผลิตจากพลาสติก นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ว่าตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 เรื่องผลการประชุมขยะทะเลระดับอาเซียน เรื่อง การลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Conference on Reducing Marine Debris in ASEAN Region) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งบริษัท ห้างร้าน หรือสถานประกอบการต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการลดการใช้วัสดุที่ผลิตขึ้นจากพลาสติก เนื่องจากจะกลายเป็นขยะตกค้างที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น การใช้ถุงพลาสติกใส่สินค้าเท่าที่จำเป็นและกระตุ้นให้ผู้ซื้อสินค้านำถุงผ้าใส่สินค้าเอง สำหรับการให้ส่วนลดราคาสินค้ากรณีที่ลูกค้าไม่ใช้ถุงพลาสติกนั้น ให้ ทส. เร่งรัดการดำเนินการตามมติ ครม. ดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับ ทส. กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดมาตรการจูงใจสำหรับบริษัท ห้างร้าน และสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณการใช้วัสดุที่ผลิตจากพลาสติกอีกทางหนึ่งด้วย

ผลการดำเนินงาน สรุปดังนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกแล้ว ที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดตั้ง “คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก” ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเร่งรัดป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกแบบบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการบริหารจัดตั้งการผลิต การจำหน่าย การบริโภคและการจัดการปลายทาง ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีการประชุมคณะอนุฯ ครั้งที่ 1/2561 ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการดำเนินการลดใช้ถุงพลาสติกและงดใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร ได้แก่ ดำเนินโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหารในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทั่วประเทศ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 โดยมีกิจกรรม ประกอบด้วย (1) มาตรการลด และคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ ให้หน่วยงานภาครัฐของทุกกระทรวงดำเนินกิจกรรมการลด คัดแยกขยะมูลมูลฝอยภายในหน่วยงานเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนและภาคเอกชน เริ่มดำเนินการ 1 สิงหาคม 2561 (2) รณรงค์ ทำความดีด้วยหัวใจ ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก เช่น ส่งเสริมห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหาร สร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ (3) การลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหารในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ (4) ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหารในพื้นที่สวนสัตว์ และ(5) การจัดการขยะบกสู่ขยะทะเล ในพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล เป็นต้น

การยกระดับความเข้มแข็งของธนาคารสินค้าเกษตร ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปราชการเพื่อติดตามการดำเนินงาน ตามนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาล ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 และประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัด (กรอ. กลุ่มจังหวัด) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) (จังหวัด) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมโครงการธนาคารข้าว ธนาคารเมล็ดพันธุ์ ธนาคารปุ๋ย ธนาคารผลผลิตทางการเกษตร ฯลฯ เพื่อให้เกษตรกรกู้ยืม และกำหนดแนวทางการบริหารธนาคารข้าวชุมชน รวมทั้งส่งเสริมพืชผลทางการเกษตร ชนิดอื่น ๆ ให้เข้าร่วมโครงการ อาทิ ถั่ว ข้าวโพด เป็นต้น เพื่อให้สามารถนำมาแลกเปลี่ยนผลผลิต และสร้างความเชื่อมโยงในชุมชน

ผลการดำเนินงาน สรุปดังนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ปัจจุบันมีธนาคารสินค้าเกษตร จำนวน 7 ธนาคาร ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคการเกษตร ระยะเวลาดำเนินการ ปีงบประมาณ 2559 - 2563 ประกอบด้วย

1) ธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตาม พระราชดำริ ดำเนินการใน 77 จังหวัด ผลการดำเนินงานในปี 2561 สนับสนุนโคกระบือให้เกษตรกรรายใหม่ 13,087 ตัว มอบกรรมสิทธิ์ให้เกษตรกร ที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขโครงการ จำนวน 11,998 ตัว

2) ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ดำเนินการจัดตั้งไปแล้ว จำนวน 167 ธนาคาร ผลการดำเนินงานในปี 2561 สามารถผลิต ปุ๋ยหมัก 2,956 ตัน ผลิตน้ำหมักชีวภาพ 676,200 ลิตร

3) ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน จำนวน 117 ธนาคาร ผลการดำเนินงานในปี 2561 ดำเนินการ สนับสนุนกระสอบบรรจุเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 2,900 ใบ และชุดปรับปรุง สภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว 40 ชุด และตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธ์ 195 ตัวอย่าง

4) ธนาคารข้าวในสถาบันเกษตรกร จำนวน 79 ธนาคาร ผลการดำเนินงานในปี 2561 ดำเนินการปล่อย ยืมข้าวสารเพื่อบริโภคให้แก่สมาชิก จำนวน 22,145 กิโลกรัม เมล็ดพันธุ์ เพื่อเพาะปลูก 552,003 กิโลกรัม และมีสมาชิกฝากข้าวเปลือกไว้กับ ธนาคาร 135,7481 กิโลกรัม

5) ธนาคารโคนมทดแทนฝูง จำนวน 9 ธนาคาร ผลการดำเนินงานในปี 2561 สมาชิกฝากลูกโคเพศเมีย เข้าธนาคาร 350 ตัว และมีสมาชิกถอนคืนโคสาวท้อง 320 ตัว

6) ธนาคารผลิตเกษตร ด้านการประมง จำนวน 40 ธนาคาร ผลการดำเนินงานในปี 2561 ดำเนินการปล่อย พันธุ์สัตว์น้ำ 2 ล้านตัว

และ 7) ธนาคารหม่อนไหม จำนวน 16 ธนาคาร ผลการดำเนินงานในปี 2561 สนับสนุนเส้นไหม รอกสาวไหม ปุ๋ย ปูนและยาโรยตัวไหม

-------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ