Thailand Industry Expo 2018 แสดงศักยภาพ ยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย

ข่าวทั่วไป Friday August 3, 2018 15:04 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเปิดงาน “Thailand Industry Expo 2018” ภายใต้แนวคิด “CHANGE to SHIFT” เปลี่ยนเพื่อปรับ ยกระดับอุตสาหกรรมไทย แสดงศักยภาพและยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย

วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม 2561 เวลา 15.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Industry Expo 2018 ณ เวทีกลาง อาคารชาเลนเจอร์ 3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ได้สนับสนุนแนวร่วมประชารัฐ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษา ดำเนินภารกิจสำคัญ คือ การส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาก้าวไกล และให้อุตสาหกรรมไทยเป็นพลังเข้มแข็งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตยั่งยืน พร้อมกล่าวรายงานว่า ปัจจุบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีกำลังนำไปสู่การเปลี่ยนรูปแบบ การประกอบกิจการต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนา และการเติบโต ขณะเดียวกันเทคโนโลยีบางประเภทสามารถส่งผลกระทบ รุนแรง ซึ่งหากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน ก็อาจต้องล้มหายไป สำหรับ ผู้ประกอบการไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs ทั้งที่อยู่ในคลัสเตอร์อุตสาหกรรม สนับสนุนและที่ประกอบกิจการอิสระ จำเป็นต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ซึ่งสามารถเกิดขึ้นอย่างฉับพลันนี้ (Disruptive Technology) โดยอุตสาหกรรมไทยที่เป็นจุดเด่นมาแต่ในอดีต เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ก็กำลังเปลี่ยนไปส่นยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมภาคการเกษตรกำลังต่อยอดสู่อุตสาหกรรมชีวภาค ภาคการบริการสู่ยุคดิจิตอล รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยกำลังพัฒนา ล้วนกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือที่เรียกกันว่ายุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งก็คือที่มาของงาน Thailand Industry Expo 2018 ครั้งนี้

งาน Thailand Industry Expo 2018 มิเพียงต้องการแสดงเครื่องมือเครื่องจักรทันสมัย แต่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสริมสร้างความตระหนัก ให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับความสำคัญของการก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงการสร้างความเข้าใจในขบวนการที่ผู้ประกอบการสามารถใช้ปรับเปลี่ยนสู่ เทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น การนำเสนอขบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยี 4.0 ที่ออกแบบให้ใช้งานได้จริงโดยเฉพาะสำหรับกลุ่ม SMEs การนำเสนอขบวนการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ที่อาศัยระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติและการบริหารจัดการบุคลากรอย่างสอดคล้องกัน รวมทั้งการนำเสนอนวัตกรรมในการออกแบบการผลิตเครื่องจักรและซอฟแวร์โดย SMEs ไทยให้ตอบโจทย์ อุตสาหกรรม 4.0 ควบคู่ไปกับการนำเสนอกลไกชุดมาตรการพิเศษเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ครบวงจรภายใต้หลักการปฏิรูป 3 P ประกอบด้วย คน (People) ผลิตภัณฑ์ (Product) ขบวนการ (Process) ที่กระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ เครือข่ายภาคเอกชน และภาคการศึกษา ได้ร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังขับเคลื่อน ซึ่งการปฏิรูปปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติให้ก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจฐานมูลค่า (Value-Based Economy) ที่อาศัยพลังนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูงนั้น จำเป็นต้องยึดโยงกับการปรับตัวของอุตสาหกรรมไทยและผู้ประกอบการไทยให้สอดรับอย่างมีประสิทธิภาพ

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) และดำเนินการผ่านเครือข่ายประชารัฐใน 3 ด้านหลัก คือ

ด้านบุคลากร เน้นการพัฒนากำลังคน โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ Start ups ทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และความเข้าใจในเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้าน Digital, AI และ IoT รวมถึงการจัดเก็บและใช้ข้อมูลที่มีอยู่มากให้เป็นประโยชน์ โดยผ่านความร่วมมือ กับสถาบันการศึกษา สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเอกชน เพื่อพัฒนาโครงการและหลักสูตรเชิงปฏิบัติที่เน้นการพัฒนาบุคลากรยุค 4.0 ด้วย ขบวนการใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมด้วย

ด้านเทคโนโลยี เน้นการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม คุ้มค่า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญยิ่งในการสนับสนุนให้กิจการนั้นอยู่รอดและเติบโตอย่างมั่นคงในโลก 4.0 แต่ทั้งนี้ สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ที่มีทุนและแรงงานน้อยนั้นกลับเป็นเรื่องยากเย็นยิ่ง จึงมีความจำเป็นที่ต้องสนับสนุนให้ SMEs สามารถเข้าถึงและเข้าใจเทคโนโลยีได้ในวงกว้าง สะดวก รวดเร็ว รวมทั้งสามารถเชื่อมต่อแหล่งผลิตงานวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมอย่างใกล้ชิด ให้สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์และเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าสมัยใหม่ทั้งภายในประเทศและในเวทีโลกได้

ด้านพื้นที่ เน้นการขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่ ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งภาคเกษตร ภาคการผลิต ภาคการบริการ การขนส่ง เริ่มตั้งแต่ระดับชุมชนฐานราก ระดับกลาง และระดับบน ที่พร้อมออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและการวิจัยพัฒนาที่ยึดโยงกับการพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่นั้น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง และพร้อมกันนั้นเป็นการสร้างโอกาสและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและชุมชน

กระทรวงอุตสาหกรรม และเครือข่ายคาดหวังให้การขับเคลื่อนงาน ดังกล่าวส่งผลสัมฤทธิ์หลัก คือ

1. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเพิ่มผลิตภาพหรือ Productivity ในระดับของตัวผู้ประกอบการและกิจการของตน (Enterprise Competitiveness) อาทิ การลดของเสีย เพิ่มความรวดเร็ว ลดต้นทุนทั้งการบริหาร การผลิต การบริการ โดยสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างแม่นยำ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และผู้ประกอบการใหม่ Start-ups สามารถเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งภายในประเทศและกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ ให้เกิดความร่วมมือแบบ Win-Win ที่ยั่งยืน (Connectivity และ Collaboration) และที่สำคัญยิ่งเช่นกันคือ การช่วยพัฒนาความสามารถของ ผู้ประกอบการ SMEs และกิจการที่จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Ability to Change)

2. การกระตุ้นนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เช่น สนับสนุนการสร้างเครือข่ายและพื้นที่พิเศษเพื่องานวิจัยพัฒนาระดับสากลในประเทศ ที่จะเกื้อหนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงและต้องพึ่งงานวิจัยพัฒนาไปพร้อมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำพาการปรับเปลี่ยนสู่ อุตสาหกรรม 4.0 และระบบเศรษฐกิจฐานมูลค่า

3. การสร้างสภาพแวดล้อมยุค 4.0 รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยเน้นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ การพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อลดการกระจุกตัวของการเติบโตของอุตสาหกรรม การสร้างความเชื่อมโยงเครือข่าย (Networking) ระหว่างผู้ประกอบการทั้งภายในและ ภายนอกประเทศ ตลอดจนการพัฒนากลไกสนับสนุน เช่น เรื่องการพัฒนามาตรฐานสินค้าใหม่ การจัดหาแหล่งเงินทุน การรักษาดูแลสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการและชุมชน รวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ประกอบการ หรือ Big Data เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางสู่อุตสาหกรรม 4.0 พร้อมไปกับเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมงาน Thailand Industry Expo 2018 ได้สัมผัสกับขบวนการขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรม 4.0 กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานร่วม จึงนำเสนอกลไกหลักที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็น รูปธรรมโดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการใหม่ (Start-up) อาทิ เครือข่ายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industrial Transformation Center ITC 4.0) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังลงทุนพัฒนายกระดับจากศูนย์อุตสาหกรรมภาคเดมิทั้ง 13 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนงาน Agenda ของการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ในระดับพื้นที่ เชื่อมโยงสู่ศูนย์ภาคระดับจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด นอกเหนือจากการปฏิบัติงาน ประจำที่มีอยู่เดิม ควบคู่ไปกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ยกระดับจากการเป็น OEM ผู้ผลิตสินค้าตามสั่งพัฒนาสู่การเป็นผู้ผลิตที่มี Design และในที่สุดมีแบรนด์ของตนเอง รวมถึงนำเสนอเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติใหม่ (Centers of Robotics Excellence หรือ CORE) ทั้ง 8 แห่งแรกที่ตั้งในพื้นที่ภาคต่าง ๆ ซึ่งทำงานด้านการวิจัย อบรม และกำหนดมาตรฐานสำหรับการพัฒนาบุคลากรและระบบหุ่นยนต์ในประเทศ ให้เหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเครือข่าย CORE เกิดจากความร่วมมือประชารัฐของหน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันเครือข่าย และมหาวิทยาลัย ตลอดจนนำเสนอโครงการ Big Brothers ที่ทั้งบริษัทไทยขนาดใหญ่และบริษัทต่างประเทศมาร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs และ Start-ups ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ไปด้วยกัน โดยเครือข่ายศูนย์ ITC ภาคและสำนักงาน จังหวัดจะทำหน้าที่เชื่อมโยงประสานการดำเนินการในทุกพื้นที่ ปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่อาสาเข้าร่วมโครงการ Big Brothers แล้วกว่า 300 บริษัท

“สุดท้ายนี้ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติและวิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 นั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ จึงเป็นที่น่ายินดีที่เราได้รับความร่วมมือสนับสนุนในหลายด้าน ทั้งในระดับรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคการศึกษาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ ประเทศที่ถือว่าเป็นผู้นำเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศเหล่านี้มีความเข้าใจในยุทธศาสตร์ชาติและวิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 จึงแสดงเจตจำนงร่วมมือกับประเทศไทยในโครงการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ระยะยาวร่วมกัน กระผมขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ร่วมแรงร่วมใจขับเคลื่อนการพัฒนาสู่ อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งงาน Thailand Industry Expo 2018 เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสำคัญยิ่งดังกล่าวภายใต้ Theme งาน “CHANGE TO SHIFT เปลี่ยน เพื่อปรับ ยกระดับอุตสาหกรรมไทย 4.0 ให้ก้าวทัน ก้าวไกล และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

-----------------------------------

สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ