สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม 2561

ข่าวทั่วไป Friday August 10, 2018 14:59 —สำนักโฆษก

สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม 2561

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงดำรงฐานะเป็นทั้งสมเด็จพระอัครมเหสีที่ทรงติดตามพ่อหลวง โดยทรงร่วมทุกข์สุข และทรงสนับสนุนพระราชกรณียกิจนานัปการ อย่างมิได้ทรงย่อท้อ อีกทั้ง ทรงเป็นพระราชมารดาผู้ประเสริฐ โดยทรงอบรมสั่งสอนพระราชโอรส พระราชธิดา ให้ตระหนักในหน้าที่ อันพึงทรงบำเพ็ญต่อชาติบ้านเมือง และอาณาประชาราษฎร์ สำหรับในฐานะที่ทรงเป็น “แม่ของแผ่นดิน” พระองค์ทรงพากเพียรและมีพระวิริยะอุตสาหะ ประกอบพระราชกรณียกิจทั้งปวง เพื่อให้ประชาชนหาเลี้ยงชีพได้โดยชอบ เป็นปกติสุข บ้านเมืองมีความมั่นคง ซึ่งหลักการทรงงานของพระองค์ ที่ทรงยึดถือศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ ทรงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในชนบท – ชุมชน ที่เป็นพื้นฐานของประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งผลิต แหล่งอาหารและเกษตรกรรมของคนทั้งประเทศ ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านจิตใจอันจะนำไปสู่ความสุขสันติและการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง อีกทั้งทรงให้ความสำคัญกับการให้โอกาสแก่ราษฎร ที่จะได้รับการพัฒนาและมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร เป็นต้น ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ ที่จะทรง “สืบสาน รักษา ต่อยอด” หลักการทรงงานและศาสตร์พระราชาดังกล่าวเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับปวงชนชาวไทยทุกคนจวบจนทุกวันนี้ และตลอดไป

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 รัฐบาลขอเชิญประชาชนร่วมกิจกรรม เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดี ด้วยการประดับธงชาติไทยคู่กับธงพระนามาภิไธย ส.ก. พระฉายาลักษณ์ และตั้งเครื่องราชสักการะตามหน่วยงาน อาคาร บ้านเรือน พร้อมจัดสถานที่ลงนามถวายพระพร ตลอดเดือนสิงหาคม โดยในวันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม 2561 นี้ เวลา 19.00 น. ขอเชิญปวงชนชาวไทยร่วมพิธีถวายเครื่องราชสักการะ จุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และร่วมร้องเพลง “สดุดีพระแม่เจ้า” อย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ นอกจากนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่าน ร่วมกันสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยทรงส่งเสริมอาชีพและช่วยเหลือราษฎรให้มีอาชีพเสริม เพิ่มพูนรายได้อย่างกว้างขวาง ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมศิลปาชีพและมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ” ทำให้เกิดการเผยแพร่มรดกทางภูมิปัญญา ไปสู่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ เปรียบประดุจทรงเป็นพระประทีปส่องสว่างนำทางพสกนิกรไทยทั้งชาติ ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นแนวทางของศิลปาชีพเดิม ได้ทรงเริ่มต้นไว้ โดยจะจัดงาน “ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี” ระหว่างวันที่ 11 - 19 สิงหาคม 2561 นี้ ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพค เมืองทองธานี

สำหรับ “วันแม่แห่งชาติ” ประจำปี 2561 นี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญ ความว่า “เมื่อเรารวมกำลังกันทั้งชาติ ย่อมสามารถช่วยไทยไขปัญหา ผนึกแรงหลอมรวมร่วมปัญญา จักนำพาชาติตนรอดพ้นภัย” จะเห็นได้ว่าเป็นสัจธรรม ที่ได้พิสูจน์ให้ทั้งโลกได้เห็น “พลังแห่งความสามัคคี” ของคนในชาติ จากความสำเร็จในการกู้ภัย “ทีมเยาวชนหมูป่า” ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ที่ผ่านมานั้น ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และความรู้ รัก สามัคคี นี้ เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จได้เสมอ เช่นเดียวกับโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะช่วยปลูกฝังจิตสาธารณะให้กับประชาชน และเยาวชนไทย ในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาให้แก่สังคม เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 จาก 100 ประเทศ ที่กำลังประสบปัญหาเรื่องการจัดการขยะ โดยในแต่ละปีจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกล่องโฟมจากการบรรจุอาหาร วันละ 138 ล้านใบ กระดาษชำระเกือบ 4 ล้านตันต่อปี ถุงพลาสติก 5,300 ตันต่อปี ขยะจากขวดพลาสติก มากกว่า 3,800 ล้านใบต่อปี หรือแม้แต่หลอดพลาสติก 500 ล้านหลอดต่อวัน ไม่นับรวมขยะอื่น ๆ ทั้งที่ย่อยสลายได้และย่อยสลายไม่ได้ ดังนั้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการลดภาระสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว โดยการช่วยกันลดใช้ขยะพลาสติก ได้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย ภายใต้โครงการ “เที่ยวไทยเท่ ไม่สร้างขยะ ลดโลกเลอะ” ที่มุ่งเน้นการรณรงค์ปลูกจิตสำนึก และกระตุ้นให้นักท่องเที่ยว ร่วมกันรับผิดชอบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการสร้างภาระขยะในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ลดการสร้างขยะ หรือพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ด้วยการใช้ถุงผ้าขวดน้ำ หลอดดูดน้ำจากวัสดุธรรมชาติ หรือที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมถึงการบริหารจัดการน้ำว่า เน้นการบูณาการ ทั้งในเรื่องแผนงาน โครงการ งบประมาณ เครื่องมือ เพื่อความเป็นเอกภาพ สำหรับเตรียมการรับมือและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง เพื่อการเก็บกักน้ำ โดยเฉพาะภาคการผลิตที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์น้ำ ภาคเหนือและภาคกลาง ที่เชื่อมโยงกัน จากการกำหนดให้พื้นที่ 12 ทุ่ง ของภาคกลาง เป็นพื้นที่รองรับน้ำที่สามารถส่งเสริมให้ทำประมงเป็นอาชีพเสริม ทดแทนการทำนาได้ ในช่วงที่มีอุทกภัยหรือน้ำมาก สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มคลี่คลายด้วยระดับน้ำในแม่น้ำโขง เริ่มลดลง แต่เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ยังมีวิกฤตอยู่ และต้องเร่งระบายน้ำออกปริมาณที่เหมาะสม สำหรับการบริหารจัดการน้ำและสถานการณ์น้ำ เขื่อนแก่งกระจาน – เขื่อนวชิราลงกรณ์ ในปัจจุบันระดับน้ำสูง ยังคงต้องเฝ้าติดตามและเตรียมปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุ ซึ่งจะต้องมีการเร่งระบายน้ำลงทะเล เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝนอีกด้วย

นอกจากนี้ ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เพื่อบูรณาการข้อมูล การคาดการณ์สถานการณ์น้ำ ซึ่งจะรองรับทุกระดับของความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนพื้นที่ ที่อาจได้รับผลกระทบให้ชัดเจน เช่น การเตรียมการช่วยเหลือ การเคลื่อนย้ายประชาชน อีกทั้ง มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยง หรือการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เป็นต้น จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จังหวัดเพชรบุรี ที่ผ่านมานั้น (8 ส.ค. 61) การระบายน้ำผ่าน Spill-way จนเกิดความตื่นตระหนกและการเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ชายหาดชะอำ – หัวหิน ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่

สำหรับด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ธนาคารโลกประกาศผลการจัดลำดับความสามารถด้านโลจิสติกส์ ประจำปี 2561 โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 จาก 160 ประเทศทั่วโลก “ดีขึ้น 13 อันดับ” ขณะที่วางแผนไปแล้ว 13 อันดับ ถือเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และอันดับ 7 ของเอเชีย อันดับ 2 ของอาเซียน อีกทั้งเป็นผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์ของการบริหารงานอย่างมียุทธศาสตร์ และจัดสรรงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับ “ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ” ในปัจจุบันของโลกอีกด้วย อีกทั้งต้องคำนึงถึงความสมดุลของความเจริญ ทั้งด้านวัตถุ และจิตใจเพื่อไม่ให้เกิดหนี้สาธารณะ เกินกว่าร้อยละ 60 ตามที่ พรบ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดไว้

นายกรัฐมนตรี กล่าวเน้นย้ำในตอนท้ายว่า ช่องทางการสื่อสารของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกอบด้วย ไลน์แอดข่าวจริงประเทศไทย โดยกรมประชาสัมพันธ์ facebook สายตรงไทยนิยม สำนักนายกรัฐมนตรี และไทยคู่ฟ้า สำนักโฆษกฯ รวมทั้ง GNEWS จากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) เป็นต้น ซึ่งข้อเท็จจริง ที่ปรากฏนั้น เกิดจากการบูรณาการกันอย่างเป็นระบบถามมาตอบไปด้วยข้อมูล ด้วยหลักการ อีกทั้งยังมีรายการเดินหน้าประเทศไทยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และความร่วมมือจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกช่อง ได้ให้มีการปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน รูปแบบที่น่าสนใจยิ่งขึ้น

……………………………………………..

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ