นายกรัฐมนตรี มอบรางวัล PM Award เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบการไทยที่มีความมุ่งมั่น พัฒนา ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตน ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่

ข่าวทั่วไป Friday August 24, 2018 15:30 —สำนักโฆษก

นายกฯ มอบรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น ปี 2561 PM Award เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบการไทยที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ และส่งเสริมผู้ส่งออกสินค้าและบริการที่มีผลงานดีเด่นให้เป็นที่รู้จักในทั้งในและต่างประเทศ

วันนี้ (24 ส.ค.61) เวลา 10.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น ปี 2561 (Prime Minister’s Export Award 2018) ภายใต้แนวคิด “Leading The Way” สะท้อนถึงเส้นทางเดินแห่งความสำเร็จของนักธุรกิจไทย ซึ่งรางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่รัฐบาลมอบให้แก่ผู้ส่งออกไทย เพื่อยกระดับสินค้าและบริการของไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ สอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนภาคการส่งออกไทยเพื่อมุ่งสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรม และผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าและบริการคุณภาพสูงในอาเซียน จัดโดย สำนักงานส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยมี นางสาว ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ คณะกรรมการตัดสินรางวัล ทูตานุทูตจากประเทศต่าง ๆ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบธุรกิจออก เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน จำนวนประมาณ 500 คน เข้าร่วมงาน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานฯ ว่า รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น (Prime Minister’s Export Award หรือ PM Award) เป็นรางวัลที่กระทรวงพาณิชย์จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อมอบให้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจส่งออกที่มีความโดดเด่นในการแสดงภาพลักษณ์ คุณภาพและมาตรฐานสินค้าไทยในตลาดโลก ปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 27 (จัดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2535) และรางวัลดังกล่าวถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเชื่อมโยงไปสู่ระบบการค้าโลก โดยการสร้างการยอมรับและการมีมาตรฐานในสินค้าและบริการของไทย ควบคู่กับการสนับสนุนการประกอบธุรกิจด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางการค้าที่ทันสมัยและมีความสอดคล้องกับระบบการค้าสากล รวมถึงการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าโดยส่งเสริมมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการทั้งภาคการค้าและภาคธุรกิจบริการทุกระดับ เช่น การจัดตั้งสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ (New Economy Academy) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถประกอบธุรกิจและทำการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันสมัย ให้ความรู้ในเรื่องของการทำการค้าออนไลน์ อาทิ เว็บไซต์ Kongdeetourtahi.com (ของดีทั่วไทย) และ Thaitrade.com และยังร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำ เช่น Alibaba Tmall Amazon และ eBay เพื่อสร้างการรวมกลุ่มและขยายช่องทางการค้าสำหรับผู้ประกอบการไทยในตลาดต่างประเทศ ให้การสนับสนุนภาคบริการให้เติบโตมากขึ้น เพื่อให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการให้บริการของอาเซียน และเพิ่มการสร้างรายได้จากภาคบริการให้มากขึ้น ตลอดจนกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงความสำเร็จของผู้ประกอบการไทยว่า มูลค่าการส่งออกจากปี 2559 ถึงปัจจุบันมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกของปี 2559 เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.5 การส่งออกของปี 2560 มีมูลค่า 236,635 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.86 และมูลค่าการส่งออกใน 6 เดือนแรก ในปี 2561 (ม.ค. – มิ.ย.) มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 125,812 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.95 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ของทั้งปี 2561

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น ปี 2561 (Prime Minister’s Export Award 2018) จำนวน 35 รางวัล 32 บริษัท ประกอบด้วย 7 ประเภทรางวัล ดังนี้ 1) รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกยอดเยี่ยม (Best Exporter) 2) รางวัลสินค้านวัตกรรมที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม (Best Green Innovation) 3) รางวัลแบรนด์ไทยยอดเยี่ยม (Best Thai Brand) 4) รางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design) 5) รางวัลสินค้าธุรกิจบริการยอดเยี่ยม (Best Service Enterprise Award) 6) รางวัลสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม (Best OTOP) และ 7) รางวัลสินค้าฮาลาลยอดเยี่ยม (Best Halal)

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความยินดีและดีใจกับความสำเร็จของผู้ประกอบการไทยที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง พัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ต้องการ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จากเดิมที่เป็นเศรษฐกิจแบบ “ทำมาก ได้น้อย” ให้เปลี่ยนมาเป็น “ทำน้อย ได้มาก” ซึ่งหมายถึงการนำพาภาคธุรกิจ ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการวิจัยพัฒนา โดยนำมาใช้เป็นเครื่องมือหลัก ในการขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกมิติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย จากผู้ใช้แรงงานมาเป็นผู้ใช้แรงงานที่มีฝีมือ เป็นแรงงานคุณภาพ แรงงานที่มีนวัตกรรมและมีความคิดสร้างสรรค์

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น (Prime Minister’s Export Award หรือ PM Award) ว่า รางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศและเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจต่าง ๆ มีความภาคภูมิใจ และมุ่งมั่นตั้งใจในการที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคม คนไทย รวมถึงบริษัทของตนเอง ซึ่งปัจจุบันจำเป็นต้องขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ขณะเดียวกันขอให้ทุกคนได้นึกถึงประชาชนคนไทยทุกกลุ่มที่อยู่ในห่วงโซ่ในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะประชาชนภาคเกษตรที่เป็นต้นทางวัตถุดิบของกระบวนการผลิต อย่างไรก็ตามแม้ปีนี้ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจการส่งออกของประเทศหรือ GDP จะสูงขึ้น แต่ยังมีปัญหาในเรื่องที่มีประชาชนส่วนหนึ่งออกมาระบุว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี หรือการประกอบอาชีพยังมีรายได้น้อย นั้น สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นมาโดยตลอด รัฐบาลปัจจุบันจึงมีความมุ่งมั่นที่จะเชื่อมห่วงโซ่ต่าง ๆ ทั้งระบบตั้งแต่ต้นทาง (ประชาชน/เกษตรกร) กลางทาง (ผู้ประกอบการ) และปลายทาง (การตลาด) เข้าด้วยกัน โดยสิ่งสำคัญขณะนี้คือส่วนของปลายทาง (การตลาด) จะต้องเป็นตัวกำหนดต้นทางเสมอ เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและตลาดอย่างแท้จริงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อทำให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในกระบวนการห่วงโซ่ดังกล่าวมีรายได้ที่เหมาะสมและเป็นธรรม สามารถจำหน่ายได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลดูแลประชาชนทุกลุ่มทั้งผู้ประกอบการ ภาคการเกษตรกร และการตลาด สิ่งสำคัญคือรัฐบาลมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก การออกกฎ ระเบียบ กติกาต่าง ๆ ผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน/ประชาสังคมในรูปแบบกลไก “ประชารัฐ” จึงขอฝากให้ภาคธุรกิจเอกชนซึ่งเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือของกลไกประชารัฐ ได้ช่วยกันดูแลคนไทยได้มีอาชีพและรายได้ที่สูงขึ้น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ Thailand 4.0 ในการที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ขณะเดียวกันต้องมีการเตรียมมาตรการเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ตามแนวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คือการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งประชาชนทุกคนต้องมีการพัฒนาและปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีและสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง เพื่อทำให้การพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนดคือการเดินหน้าไปสู่ Thailand 4.0

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยจะสามารถยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้มีความก้าวหน้าและเติบโตอย่างมีเสถียรภาพได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือและความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนประกอบกันตามกลไก “ประชารัฐ” ในการเปลี่ยนผ่านรูปแบบเศรษฐกิจ จากเดิมให้กลายเป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งต้องอาศัยความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน/ประชาสังคม โดยทั้ง 3 ภาคส่วนนี้จะสนับสนุนเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกันในการจัดทำนโยบาย กฎระเบียบต่างๆ ให้มีความเป็นสากล และสร้างแรงจูงใจ โดยการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจแบบบูรณาการ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมผ่าน 4 ปัจจัยหลักของประเทศ คือ 1) ภาคการเกษตรมีการใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการในการเพิ่มมูลค่าสินค้า 2) ผู้ประกอบการ SMEs ใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสำเร็จ 3) แรงงานมีการพัฒนาทักษะให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีทักษะสูง 4) การเพิ่มมูลค่าธุรกิจบริการต่างๆ จากธุรกิจดั้งเดิมให้เป็นธุรกิจ ที่มีมูลค่าเพิ่ม เป็นธุรกิจบริการเชิงสร้างสรรค์ เพื่อก้าวไปสู่ความก้าวหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ของแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวฝากให้ภาคเอกชน และผู้ประกอบการธุรกิจนำผลงานวิจัยต่าง ๆ ที่อยู่ในสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานต่าง ๆ ไปพัฒนาสู่การปฏิบัติและผลิตออกมาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมด้วย โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ประสานงานกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อดำเนินการต่อไป พร้อมย้ำว่าซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันดำเนินการในการที่จะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนา เพื่อนำไปสู่การผลิตให้ได้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่ม รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจบริการ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อออนไลน์มาใช้ในเรื่องของการตลาดและการค้าเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ปริมาณมากและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น ปี 2561 (Prime Minister’s Export Award 2018) ทั้ง 7 ประเภทรางวัลดังกล่าวด้วย

-----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ