นายกรัฐมนตรีประชุมนบข. ครั้งที่ 4/61 พิจารณาทบทวนโครงการสินเชื่อ ชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 61/62 และการเพิ่มโควตาการส่งออกข้าวไป EU

ข่าวทั่วไป Tuesday September 4, 2018 15:31 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมนบข. ครั้งที่ 4/61 พิจารณาทบทวนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 61/62 และการเพิ่มโควตาการส่งออกข้าวไป EU

วันนี้ (3 ก.ย.61) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 4/2561 สรุปสาระสำคัญของผลการประชุม ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทย ปี 2561/62 ดังนี้

สถานการณ์ข้าวโลก ปี 2561/62 คาดว่าผลผลิตข้าวมีประมาณ 487.57 ล้านตันลดลง 0.97 ล้านตันจากปี 2560/61 (488.54 ล้านตัน) เนื่องจากผลผลิตจีน อินเดีย และปากีสถานจะลดลง เพราะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนข้าว ได้แก่ ข้าวโพด และมันฝรั่ง การบริโภค คาดว่าจะมีปริมาณ 487.81 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีประมาณ 481.50 ล้านตัน เนื่องจากประชากรของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสต็อกข้าวโลกปลายปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณ 143.57 ล้านตัน ลดลง 0.25 ล้านตัน จากปลายปี 61 ซึ่งมีประมาณ 143.82 ล้านตัน

การส่งออกข้าวช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2561 อินเดียส่งออกข้าวสูงสุดอันดับ 1 ของโลก 7.98 ล้านตัน รองลงมาคือ ไทย 6.81 ล้านตัน เวียดนาม 4.65 ล้านตัน ราคาส่งออกข้าวของไทยส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นราคาข้าวหอมมะลิปรับตัวลดลง สำหรับการส่งออกข้าวคุณภาพสูงของไทย (ม.ค.-ก.ค.61) ส่งออกลดลงมีปริมาณ 721,784 ตัน แต่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 690 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 798 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากราคาส่งออกข้าวหอมมะลิปรับตัวสูงขึ้น

สถานการณ์ข้าวไทย ปี 2561/62 การเพาะปลูกรอบที่ 1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดเป้าหมายพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าว 58.21 ล้านไร่ ขณะนี้เพาะปลูกแล้ว 48.22 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 82.84 ของเป้าหมาย และเก็บเกี่ยวแล้ว 3.51 ล้านไร่ ทั้งนี้หลายจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง เช่น จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เช่น จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ประสบสภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้ต้นข้าวขาดน้ำในแปลงนามีวัชพืชมาก ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว การเพาะปลูกรอบที่ 2 กระทรวงเกษตรฯ กำหนดเป้าหมายพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าว 12.21 ล้านไร่ ซึ่งเกษตรกรจะปลูกระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2561 – เมษายน 2562 การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2561/62 รอบที่ 1 ขึ้นทะเบียนแล้ว 3.37 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 84.25 ของเป้าหมาย 4 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 46.18 ล้านไร่ และราคาข้าวส่วนใหญ่ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา ยกเว้นข้าวเปลือกหอมมะลิที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบแผนการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน ที่ได้จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ข้าวและการส่งเสริมการบริโภคข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ดังนี้ 1) ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ข้าวและการส่งเสริมการบริโภคข้าวอินทรีย์ และข้าวสาร Q อย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อต่าง ๆ อาทิ สปอตวิทยุสื่อออนไลน์ แอพพลิเคชั่น 2) รณรงค์ส่งเสริมการบริโภคร่วมกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เช่นห้างสรรพสินค้า สมาคม ภัตตาคาร สถานพยาบาล และ 3) ประชาสัมพันธ์โครงการสนับสนุนผู้ส่งออกข้าวมาตรฐานรับรองออร์แกนิคไทยแลนด์ เช่น การสนับสนุนค่าตรวจรับรองมาตรฐานอินทรีย์ โครงการเชื่อมโยงตลาดอินทรีย์และข้าวสาร Q ครบวงจร เป็นต้น

ที่ประชุมเห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปี 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/62 ตามที่ ธ.ก.ส. เสนอโดย 1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกรให้ปรับปรุงค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกตันละ 1,500 บาท จากมติคณะรัฐมนตรี (24 ก.ค.61) เดิมให้สหกรณ์ตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรได้รับตันละ 500 บาท ปรับเป็นให้เกษตรกรได้รับตันละ 1,000 บาท และสหกรณ์ได้รับตันละ 500 บาท 2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น 3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูง หรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศเพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ และ 4) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ นบข. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

การขอขยายปริมาณการจัดสรรโควตาการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป (EU) ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร ที่ประชุม 1) รับทราบผลการดำเนินงานในปี 2560/61 มีผู้เข้าร่วมโครงการที่เชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ประกอบด้วย ผู้ประกอบการค้าข้าว 28 ราย เกษตรกร 74 กลุ่ม ปริมาณข้าวที่มีการซื้อขาย ปริมาณรวม 6,691.47 ตัน แยกเป็นข้าวอินทรีย์ 1,716.32 ตัน ข้าว GAP 4,975.15 ตัน และผู้ประกอบการ 9 รายที่เชื่อมโยงตามโครงการจัดสรรโควตาได้รับการจัดสรรปริมาณ 2,000 ตัน ส่งออกไป 1,962 ตัน 2) รับทราบเป้าหมายโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรฯ ปี 60 –64 จะมีปริมาณข้าวอินทรีย์ 997,000 ตันข้าวเปลือก 3) เห็นชอบการขอขยายปริมาณการจัดสรรโควตาการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป (EU) ให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ ภายใต้โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจรตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ จากเดิมร้อยละ 10 (2,000 ตัน) ของปริมาณโควตาทั้งหมด เป็นร้อยละ 25 (5,000 ตัน) ของปริมาณโควตาทั้งหมด ภายในปี 2564 และ 4) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาสัดส่วนโควตาที่เหมาะสมตามการประเมินผลผลิตข้าวในโครงการ ของกระทรวงเกษตรฯ และสถิติการส่งออกข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ประมวลได้เป็นรายปีต่อไป

---------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการ นบข.)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ