สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2561

ข่าวทั่วไป Sunday September 30, 2018 15:17 —สำนักโฆษก

สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2561

สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2561 เวลา 20.15 น. ในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ประสบความสำเร็จเร็วขึ้นด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG” B คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) C คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ G คือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ทั้งนี้ การนำแนวคิดเศรษฐกิจทั้ง 3 มาหลอมรวมเพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีหลักคิด 3 ประการ คือ (1) โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) (2) เศรษฐกิจ BCG จะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และ (3) เศรษฐกิจ BCG เป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (หรือ SDG) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ต้องการร่วมกันพัฒนาความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติ และดูแลโลกของเรา ในทุกมิติ

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเศรษฐกิจชีวภาพ ว่าเป็นการพัฒนาความเข้มแข็งจากภายในหรือศักยภาพที่มีอยู่แล้ว ประกอบด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพ และการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรของโลก ด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้ร่วมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร ชีวภาพ และผลผลิตทางการเกษตร โดยเน้นสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากในบ้านเมืองเรา เพียงแต่เราต้องไม่หยุดค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ ได้แก่ ข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งเป็นข้าวที่มีมูลค่าสูง ที่ได้รับการพัฒนาให้มีลักษณะดีด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สารสกัดจากพืชสมุนไพร เพื่อเป็นเครื่องสำอางหรืออาหารเสริม ซึ่งเพิ่มคุณค่าให้กับสมุนไพรไทยหลายเท่าตัว การผลิตเอทานอลและไบโอดีเซล สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่งของประเทศ ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันได้ปีละนับแสนล้านบาท จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจชีวภาพนี้ ช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคเกษตรกรรมของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตดั้งเดิม ซึ่งไม่ใช่การขายเป็นวัตถุดิบ แต่เป็นการขายสินค้าแปรรูป โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ ดังนั้น ถือได้ว่าเศรษฐกิจชีวภาพเป็นกลไกสำคัญ ในการส่งเสริมการกระจายรายได้ และความเจริญไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเน้นย้ำว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะดึงวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพ เข้ามา ช่วยในระบบบริหารและบริการของรัฐ โดยการจัดงานสตาร์ทอัพ แฟร์ (Government Procurement Transformation) ภายใต้แนวคิด “ปลดล็อคข้อจำกัด พัฒนาสตาร์ทอัพ สู่ตลาดภาครัฐ” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 - 29 กันยายนนี้ ณ ฮอลล์ 5-6 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อเบิกทางสตาร์ทอัพสู่เส้นทางจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งนับว่าเป็นตลาดใหญ่ของสตาร์ทอัพ ที่มีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท (หรือร้อยละ 1 ของงบประมาณภาครัฐ) อีกทั้ง เป็นการสร้างมิติใหม่ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพทางนวัตกรรมของภาครัฐ ที่มุ่งยกระดับ การให้บริการประชาชนในวันข้างหน้า ในยุคดิจิทัล อีกด้วย

ทั้งนี้ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ผ่านมานี้ นายกรัฐมนตรีได้พบปะพูดคุยกับตัวแทนสตาร์ทอัพ ทั้ง 5 ราย ที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ โดยมีผลงานเป็นคู่ค้ากับภาครัฐแล้ว

และพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนของภาครัฐ ได้แก่ 1) นวัตกรรมด้านความมั่นคง “แพลตฟอร์มระบบเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์” (Situation Awareness System) ที่สามารถเชื่อมโยงอุปกรณ์ได้จากหลายประเภท เช่น กล้อง CCTV กล้องติดยานพาหนะ กล้องบุคคล อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ให้ผู้ใช้ระบบหรือผู้ควบคุมสถานการณ์ สามารถมองเห็น และวิเคราะห์ระบบ ได้จากทุกมุมมอง และทุกอุปกรณ์ไว้ในระบบเดียว 2) นวัตกรรมแพลตฟอร์มสื่อกลาง ระหว่างจิตแพทย์ นักจิตวิทยา กับคนไข้ (Ooca) ที่ช่วยให้สามารถพูดคุยออนไลน์ ปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยาผ่าน video call ในคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือได้ เพื่อความเป็นส่วนตัว ปลอดภัย และมีระบบนัดแนะกันล่วงหน้าได้ 3) นวัตกรรมแอพพลิเคชั่นจองคิวร้านอาหาร และศูนย์บริการครบวงจร (QueQ) ทราบว่าได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากสอดคล้องกับชีวิตประจำวันและแก้ปัญหาพื้นฐานของทุก ๆ คน เช่น โดยเฉพาะระบบจองคิว โรงพยาบาล นัดหมอ และแจ้งเตือนผ่าน Smartphone เป็นต้น ทำให้มียอดดาวน์โหลดครบ 1 ล้านคน และมีผู้ใช้งานกว่า 1 แสน 5 หมื่นคนต่อเดือน 4) นวัตกรรมโมเดลธุรกิจเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน (Local Alike) ที่ชนะการประกวดในโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (หรือ Booking.com Booster 2017) จากผู้ร่วมแข่งขัน 700 ทีม จาก 102 ประเทศทั่วโลก คว้าเงินรางวัลกว่า 11 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวกับชุมชน 70 แห่งทั่วประเทศ สร้างรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่นกว่า 20 ล้านบาท และ 5) นวัตกรรมแพลตฟอร์มที่ช่วยจัดระเบียบงานอีเว้นท์ (ZipEvent) ที่ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ MICE ที่นับวันประเทศไทยของเรา เป็นจุดหมายปลายทาง ทั้งการท่องเที่ยว การจัดงานอีเว้นท์ต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจอย่างมาก ในภูมิภาคนี้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงกิจกรรมงาน Innovation Thailand Expo 2018 จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 4 - 7 ตุลาคมนี้ ณ ฮอลล์ 98 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยในปีนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้สร้างสรรค์งานขึ้นใหม่ ในรูปแบบเทศกาลนวัตกรรม ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสถาบันการศึกษา ตั้งแต่การให้ทุนวิจัย การพัฒนาทุนมนุษย์และงานวิจัย การใช้ประโยชน์งานวิจัย การสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อนำเสนอผลงานนวัตกรรมระดับประเทศ 250 ผลงาน จาก 150 หน่วยงานให้สมกับที่ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีการพัฒนานวัตกรรมอย่างรวดเร็ว (Innovation Fast Move Nation) พร้อมทั้งเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า และมูลนิธิประชาปลอดภัย ภายใต้โครงการ “การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) : กรณีศึกษาการใช้แนวคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ในกลุ่มเยาวชนไทย เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยทางถนน” เพื่อเตรียมความพร้อมของคนในสังคม โดยดึงเยาวชนในสถานศึกษาให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม และปลูกฝัง จิตสำนึกความปลอดภัยบนท้องถนน ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดว่ามีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง รัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความปลอดภัยด้านการจราจร ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับการประชุมระดับโลก ว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018 - The 13th World Conference on Injury Prevention and Safety Promotion) ซึ่งในปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 - 7 พฤศจิกายน 2561 ณ กรุงเทพมหานคร

ตอนท้ายของรายการฯ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้จัดทำดัชนีประสิทธิภาพระบบสุขภาพ (Health Care Efficiency Index) เพื่อจัดอันดับประเทศที่มีความคุ้มค่าด้านระบบดูแลสุขภาพ ซึ่งจะคำนวณเปรียบเทียบระหว่างค่าใช้จ่ายกับอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนในประเทศ โดยปี 2561 นี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก จาก 56 ประเทศ นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุด้วยว่า

เรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย มีความก้าวหน้าอย่างมากอีกด้วย ในขณะที่องค์การอนามัยโลกชื่นชมประเทศไทย ว่าเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเห็นว่าเป็นระบบที่ยั่งยืน เพราะสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยกว่า 48.8 ล้านคน (73.7 %) จากจำนวนประชากรกว่า 61 ล้านคน ที่มีสิทธิ์ในหลักประกันสุขภาพที่ช่วยคุ้มครองดูแลสุขภาพ ในด้านการรักษาโรค ป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ และฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามข้อบ่งชี้ของแพทย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท รักษาทุกโรค) ได้แก่ (1) รักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลรัฐ อาจจะสร้างความลำบากให้กับผู้ที่อยู่ไกลจากโรงพยาบาลรัฐมาก (2) ไม่คุ้มครองการรักษา ที่เกินความจำเป็นพื้นฐาน (3) ไม่คุ้มครองการรักษาที่มีงบประมาณจัดสรรโดยเฉพาะ โดยให้เป็นผู้ป่วยใน เกินกว่า 15 วัน การบำบัดผู้ติดยาเสพติด ผู้ที่เกิดอุบัติเหตุทางรถ โดยมี พ.ร.บ. คุ้มครองอยู่ ซึ่งจะต้องใช้สิทธิ พ.ร.บ. ให้ครบก่อน (4) ไม่คุ้มครองกรณีโรคเรื้อรัง และโรคที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยในเกินกว่า 180 วัน ยกเว้นหากมีความจำเป็นจริง ๆ เป็นต้น

…………………………………………………………………….

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ