นายกรัฐมนตรี หวังสร้างความสุข ให้ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ และแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดนำร่องแก้ปัญหารายได้ ให้คนอยู่ร่วมกับป่า

ข่าวทั่วไป Tuesday October 16, 2018 15:07 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี ติดตามความคืบหน้า แม่ฮ่องสอนและกาฬสินธุ์ โมเดล รูปแบบการแก้ปัญหา ในจังหวัดที่ติดอันดับต้นๆ ของรายชื่อจังหวัดที่ประชากรมีรายได้น้อย ตามแนวทาง ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง โดยมีเป้าหมายให้คนในพื้นที่มีความสุขมากขึ้น

วันนี้ (16 ตุลาคม 2561) เวลา 08.30 น. ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการการนำเสนอ นโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตของ 2 จังหวัดที่มีรายได้น้อยที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ จังหวัดกาฬสินธุ์และภาคเหนือคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ได้ลงเยี่ยมพื้นที่ในช่วงปลายปี 2560 และต้นปี 2561 ประชาชนทั้ง 2 จังหวัดต่างมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยทั้ง 2 จังหวัดจะเป็นต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะยกระดับรายได้ประชาชนใน 2 จังหวัด ที่มีรายได้น้อย ให้มีรายได้มากขึ้น และยั่งยืน รวมถึงการแก้ปัญหาทางด้านที่ดินทำกิน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น โดยระดมหน่วยงานหลายแห่งแก้ปัญหาแบบบูรณาการ รวมถึงการพัฒนาสินค้าในชุมชนต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการเพิ่มมูลค่า ลดต้นทุนการผลิต ซึ่งรัฐบาลเตรียมขยายผลไปสู่อีก 75 จังหวัด พร้อมส่งเสริมตั้งแต่ Start Up , SME สนับสนุนการลงทุน การพัฒนาสินค้า OTOP โครงการปั้นดาวของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อช่วยยกระดับผู้ประกอบการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันในตลาดสมัยใหม่ได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ได้กำหนดไว้

สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์อยู่ภายใต้กรอบแนวคิด “คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Kalasin Happiness Model) เน้นแก้ปัญหารายได้โดยกำหนดแนวทางในการพัฒนา 3 แนวทางหลัก คือ (1) ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยขั้นพื้นฐาน (2) ยกระดับรายได้ และ (3) อำนวยความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ เน้นกลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบ และประชาชนผู้มีรายได้น้อย

การยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยขั้นพื้นฐาน มีประชาชนได้รับความช่วยเหลือรวม 15,413 รายการ ผ่าน 6 ด้าน ได้แก่ (1) เพิ่มการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ โดยจัดกระบวนการที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้ครบถ้วนมากขึ้น (2) ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ โดยสร้างบ้านใหม่และซ่อมแซมบ้านให้กับผู้มีรายได้น้อย(3) แก้ปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบ (4) ส่งเสริมด้านสุขภาพ และ (5) สนับสนุนด้านอาชีพ (6) อำนวยความยุติธรรม

การยกระดับรายได้จากการดำเนินงานระหว่างเดือน มกราคม – กันยายน 2561 โครงการต่างๆ สามารถเพิ่มรายได้ให้กับจังหวัดรวม 3,061.56ล้านบาทโดยมุ่งเน้นการพัฒนากลุ่มเป้าหมายหลักคือภาคเกษตรกรรม การค้าการลงทุน ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม เพื่อสร้างฐานรายได้ให้จังหวัดตามโครงสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

การอำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมแห่งความปลอดภัยมีผลการดำเนินการที่สำคัญ คือ การสร้างความรับรู้ด้านกฎหมายและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วม จำนวนกว่า 13,845 คน โดยมีความรู้เรื่องการขายฝาก จำนอง จำนำ การฉ้อโกง หนี้นอกระบบ แชร์ลูกโซ่ การทำนิติกรรมสัญญา และการเข้าถึงบริการของรัฐ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเชิงรุก นอกจากนี้ ยังมุ่งแก้ไขปัญหายาเสพติดผ่านทั้งการป้องกันปราบปรามและบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับเข้าร่วมกันกว่าแสนคน

ส่วนจังหวัดแม่อ่องสอนจะอยู่ภายใต้แนวคิด “มนต์เสน่ห์แห่งขุนเขา”(The Valley of Charm) เน้นแก้ปัญหารายได้และให้คนอยู่ร่วมกับป่าโดยกำหนดแนวทางในการพัฒนา 3 แนวทางหลัก คือ(1)ปลดล็อกข้อจำกัดเรื่องคนอยู่กับป่าที่ประชาชนรอคอยมากว่า 30 ปี (2) ยกระดับคุณภาพชีวิต และ (3) สร้างความเข้มแข็งจากฐานราก

การปลดล็อกข้อจำกัดเรื่องคนอยู่กับป่า ทั้งในพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์พื้นที่รวมกว่า 50,000 ไร่ เพียง 9 เดือนแรกของปีนี้มีผู้ได้รับประโยชน์แล้วราว 2,000 คน โดยกรมป่าไม้ได้อนุญาตการใช้พื้นที่ป่าสงวน เพื่อดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) เนื้อที่กว่า 9,400 ไร่ และอยู่ระหว่างการขออนุญาตใช้พื้นที่อีก5,790 ไร่มีการออกหนังสือสมุดประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) จำนวน 1,624 คน นอกจากนี้แม่ฮ่องสอนยังเป็นจังหวัดแรกในการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่สำรวจมากถึง46,432 ไร่

การยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านการพัฒนาการคมนาคมทั้งทางถนนและเครื่องบิน เพื่อให้จังหวัดมีรายได้จากการค้าและท่องเที่ยวที่มากขึ้นโดยคาดว่าเฉพาะจำนวนท่องเที่ยวในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อปี ทางจังหวัดได้ผลักดันจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนบ้านห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม เป็นจุดผ่านแดนถาวร และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้อนุมัติให้ดำเนินการปรับปรุงสภาพเส้นถนนรองรับการคมนาคมที่จะเพิ่มขึ้นขณะเดียวกันบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด มีการเปิดให้บริการการบินตรง เส้นทางระหว่าง ดอนเมืองและแม่ฮ่องสอน สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน นอกจากนี้ จังหวัดยังมีโครงการหลัก 3 โครงการเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในอนาคต ได้แก่ โครงการศูนย์รวบรวมพันธุ์และจัดแสดงกล้วยไม้แม่ฮ่องสอน โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์แม่ฮ่องสอน และโครงการพัฒนาน้ำพุร้อน ตำบลผาบ่อง

การสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากเน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการ หรือผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่น โดยคาดว่ามูลค่าการจำหน่ายสินค้า OTOP ปี 2561 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ30 รวมถึงยังมีการนำงานวิจัยมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในการสร้างและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ต่อไป

.................................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ