นบข.เห็นชอบแก้ไขปัญหาเกษตรกร ที่ตกหล่นเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 59/60 เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติจ่ายเงินฯ เกษตรกร 28,792 ราย กว่า 180 ลบ.

ข่าวทั่วไป Monday May 27, 2019 15:40 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีประชุม นบข.ครั้งที่ 4/62 เห็นชอบการแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่ตกหล่นเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2559/60 เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาการจ่ายเงินโครงการฯ ให้เกษตรกรที่ตกหล่น 28,792 ราย รวม 180,259,906 บาท

วันนี้ (27 พ.ค.62) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 4/2562 ซึ่งภายหลังการประชุม นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ นบข. ได้เปิดเผยผลการประชุมสรุปสาระสำคัญดังนี้

1. รับทราบสถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทยปี 62/63 ดังนี้

1) สถานการณ์ข้าวโลก ปี 2562/63 คาดว่า ผลผลิตข้าวโลก จะลดลงเป็น 498.42 ล้านตัน ลดลง 1.47 ล้านตัน จากปี 61/62 เนื่องจากผลผลิตข้าวของจีน อินเดีย และสหรัฐฯ ลดลง โดยเฉพาะรัฐบาลจีนได้เร่งปรับโครงสร้างการเพาะปลูกเพื่อปฏิรูปด้านอุปทาน โดยปรับลดปริมาณผลผลิตให้เหมาะสมและมีคุณภาพมากขึ้น ในขณะที่สหรัฐฯ เนื่องจากราคาข้าวในปีที่ผ่านมาปรับตัวลดลงเกษตรกรจึงหันไปเพาะปลูกพืชชนิดอื่นแทนข้าว การบริโภคข้าวโลก ปี 2563 จะมีประมาณ 496.13 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.1 ล้านตัน จากปี 62 เนื่องจากแนวโน้มการบริโภคในประเทศหลักยังคงเพิ่มขึ้น เช่น จีน อินเดีย และฟิลิปปินส์ รวมทั้งประเทศในภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง การค้าข้าวโลกปี 2563 จะมีประมาณ 47.96 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.1 ล้านตัน จากปี 62 เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกหลักอย่างจีน อินเดีย และสหรัฐฯ มีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้น ประกอบกับ ผู้นำเข้าหลักอย่างอิรักและไนจีเรีย มีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้น สต็อกข้าวโลก ปลายปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 172.22 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.3 ล้านตัน จากปี 62 เนื่องจากสต็อกข้าวเก่าของจีนมีปริมาณสูง

การส่งออก 1 ม.ค.–7 พ.ค.62 อินเดียส่งออกอันดับ 1 ของโลก รองลงมาได้แก่ ไทย เวียดนาม ปากีสถาน และสหรัฐฯ การค้าข้าวตลาดโลก 4 เดือนแรก ของปี 62 ค่อนข้างซบเซา โดยไทยส่งออกลดลงเนื่องจากความต้องการซื้อมีเข้ามาน้อย ประกอบกับค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าทำให้ข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่ง

ราคาส่งออก เดือนพฤษภาคม 2562 ราคาส่งออกข้าวไทยทุกชนิดปรับตัวลดลง เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงสั้นๆ และคำสั่งซื้อชะลอตัว การส่งออกข้าวคุณภาพสูงของไทย เดือนมกราคม – มีนาคม 2562 การส่งออกข้าว คุณภาพสูงของไทย 302,470 ตัน มูลค่า 353.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 61 ที่มีปริมาณ 345,247 ตัน มูลค่า 361.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากราคาส่งออกข้าวไทยเกือบทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกข้าวคุณภาพสูงชนิดอื่นๆ เช่น ข้าวเคลือบวิตามิน ข้าวกล้องหอมมะลิอินทรีย์ และข้าวกล้องดำ พบว่ามีปริมาณการส่งออก 9,911 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีปริมาณ 11,289 ตัน แต่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 12.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีมูลค่า 11.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

แนวโน้มสถานการณ์ตลาดข้าวไทย ปี 62 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 คณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ได้มีมติปรับเป้าส่งออกข้าวไทยปี 62 เป็น 10 ล้านตัน ลดลงจากปี 61 ที่มีปริมาณ 11.09 ล้านตัน เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าขึ้น และจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญ ของไทยมีสต็อกข้าวปริมาณมากและระบายข้าวเก่าออกมาอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์ข้าวไทยยังคงมีปัจจัยบวก ดังนี้ (1) รัฐบาลไทยสามารถระบายข้าวในสต็อกได้หมด (2) อินเดียมีนโยบายรับซื้อข้าวในประเทศเพื่อเก็บสต็อก (3) เอกชนไทยชนะการประมูลข้าวได้ในหลายประเทศ (4) ปรากฏการณ์เอลนิโญ่ในบางประเทศของเอเชีย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว และ (5) สหภาพยุโรปได้บังคับใช้มาตรการ Safeguard โดยเก็บภาษีนำเข้าข้าวจากกัมพูชาและเมียนมา 3 ปี ทำให้ข้าวไทยมีโอกาสในการแข่งขันเพิ่มในสหภาพยุโรป

สถานการณ์ข้าวนึ่งของไทย ปี 62 (ม.ค. – เม.ย.) ไทยส่งออกข้าวนึ่ง 0.90 ล้านตัน มูลค่า 351.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 0.98 ล้านตัน และมูลค่า 401.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แนวโน้มสถานการณ์ข้าวนึ่ง ตลาดแอฟริกามีความต้องการซื้อข้าวนึ่งปริมาณมาก ขณะที่รัฐบาลอินเดียมีนโยบายรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาสูงกว่าทุกปีเพื่อเก็บสต็อก รวมทั้ง ผู้ซื้อต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อข้าวอินเดียเพื่อรอดูทิศทางราคาข้าว และอาจหันมาซื้อข้าวจากประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

2) สถานการณ์ข้าวไทย ปี 62/63

การเพาะปลูกข้าว ปี 61/62

รอบที่ 1 กระทรวงเกษตรฯ กำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว 58.21 ล้านไร่ คิดเป็นผลผลิต 25.33 ล้านตันข้าวเปลือก ปลูกแล้ว 59.21 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 101.72 เก็บเกี่ยวแล้ว 53.36 ล้านไร่ คิดเป็นผลผลิต 24.22 ล้านตันข้าวเปลือก

รอบที่ 2 กระทรวงเกษตรฯ กำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว 11.36 ล้านไร่ คิดเป็นผลผลิต 7.57 ล้านตันข้าวเปลือก ปลูกแล้ว 11.46 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 100.88 เก็บเกี่ยวแล้ว 9.98 ล้านไร่ ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ผลผลิตรอบที่ 2 จำนวน 7.75 ล้านตันข้าวเปลือก

การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ปี 61/62 รอบที่ 1 ขึ้นทะเบียนแล้ว 4.309 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 107.73 ของเป้าหมาย 4 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 58.63 ล้านไร่ รอบที่ 2 ขึ้นทะเบียนแล้ว 549,684 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 183.23 ของเป้าหมาย 300,000 ครัวเรือน พื้นที่ 9.09 ล้านไร่

สถานการณ์ด้านราคา ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดหมดแล้วและมีความต้องการใช้ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้ภายในประเทศส่งผลให้ผู้ประกอบการรับซื้อ เพื่อเก็บสต็อกเพิ่มขึ้น ข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคาปรับตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และผู้ประกอบการเริ่มมีสต็อกข้าวเพียงพอต่อความต้องการใช้แล้ว ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ราคาปรับตัวลดลงเล็กน้อย เป็นผลมาจากผลผลิตข้าวนาปรังที่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่ความต้องการใช้ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีอยู่ต่อเนื่องช่วยพยุงไม่ให้ราคาลดลงมากนัก

2. รับทราบผลการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด

ดำเนินการ 4 โครงการ เป้าหมายในเชิงจิตวิทยาการตลาดเพื่อดึงอุปทานข้าวเปลือกออกจากตลาด 9 ล้านตัน ณ เดือนพฤษภาคม 2562 สามารถดึงอุปทานออกจากตลาด 6 ล้านตัน หรือร้อยละ 66.66 ของเป้าหมาย ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2561/62 ของ ธ.ก.ส. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 มีผู้เข้าร่วมโครงการ 252,037 ราย ปริมาณข้าว 1.417 ล้านตัน จำนวนเงิน 15,681.01 ล้านบาท การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ธ.ก.ส. จ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 4.204 ล้านราย จำนวนเงิน 57,532.823 ล้านบาท

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2561/62 ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อให้สถาบันเกษตรกร 302 ราย สินเชื่อ 12,260.25 ล้านบาท ปริมาณข้าวเปลือก 1.362 ล้านตัน

3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปี 2561/62 ผู้เข้าร่วมโครงการรับซื้อข้าวเปลือกสูงสุด 194 ราย ปริมาณเก็บสต็อกสูงสุด 3.221 ล้านตัน มูลค่าการตรวจสอบสต็อกสูงสุด 43,403.77 ล้านบาท

4) โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 4,847 ราย สินเชื่อ 529.72 ล้านบาท

5) ผลต่อราคา มาตรการดังกล่าวส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้า 5% และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ณ 17 พ.ค.62 ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก (30 พ.ย.61)

3. เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ทั้ง 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 ช่วงการกำหนดอุปสงค์อุปทาน

1) กำหนดความต้องการใช้ข้าว (Demand) ปี 62/63 ปริมาณ 32.481 ล้านตันข้าวเปลือก ลดจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.56 ดังนี้ (1) เพื่อส่งออก 15.385 ล้านตันข้าวเปลือก (2) เพื่อบริโภค 13.322 ล้านตันข้าวเปลือก (3) ใช้ในอุตสาหกรรม 2.401 ล้านตันข้าวเปลือก คงที่จากปีที่ผ่านมา และ (4) เพื่อทำเมล็ดพันธุ์ 1.375 ล้านตันข้าวเปลือก

2) กำหนดอุปทาน (Supply) เพื่อวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับอุปสงค์ ปริมาณ 34.1579 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น ข้าวหอมมะลิ 8.9644 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวหอมไทย 1.7910 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวเจ้า 16.1463 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวเหนียว 6.7260 ล้านตันข้าวเปลือก และ ข้าวตลาดเฉพาะ 0.2836 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิต กำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 62/63 รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่ และรอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่ โดยมีการดำเนินการจัดการปัจจัยการผลิต ปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว เช่น การบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดภายในประเทศ ได้แก่ การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว เช่น โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าวGAP ครบวงจร และการชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด เช่น โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ส่งเสริมภาพลักษณ์ และประชาสัมพันธ์ข้าว และส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

เห็นชอบการติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 กำหนดแบ่งเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของคณะทำงานติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ชุดที่ 1 – 28 โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อติดตาม กำกับดูแล และแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของหน่วยงานในพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร โดยคณะทำงานฯ จะลงพื้นที่ตรวจติดตาม รอบที่ 1 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 เป็นต้นไป

4. เห็นชอบการแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่ตกหล่นเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวปีการผลิต 2559/60

1) รับทราบผลการตรวจสอบเกษตรกรที่ตกหล่นเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวปี 2559/60 ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562 มีเกษตรกร ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ แต่ยังไม่ได้รับโอนเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2559/60 และเกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือไม่ครบตามสิทธิ จำนวน 28,792 ราย คำนวณเงินที่จะใช้จ่ายจริงในการช่วยเหลือเกษตรกรแต่ละราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 180,259,906 บาท เนื่องจาก

(1) กรอบระยะเวลาการปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ภาคใต้เริ่มวันที่ 16 มิถุนายน 2559 - 28 กุมภาพันธ์ 2560 และขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวต้องขึ้นทะเบียนหลังปลูกแล้ว 15 วัน จนถึงก่อนเก็บเกี่ยวและเกษตรกรจังหวัดสงขลาประสบอุทกภัย ทำให้ต้องเลื่อนเวลาเพาะปลูกข้าวนาปีออกไป ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2560 ทำให้เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนหลังโครงการฯ สิ้นสุด (วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560) ทำให้เข้าร่วมโครงการฯ ไม่ได้ จำนวน 11,582 ราย

(2) เกษตรกรขึ้นทะเบียนตามที่ตั้งแปลงเพาะปลูก แต่ ธ.ก.ส. จัดทำฐานข้อมูลตามภูมิลำเนาของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ นอกเขตภูมิลำเนาส่งผลให้ ธ.ก.ส. ไม่พบข้อมูลและเกษตรกรไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ จำนวน 1,521 ราย

(3) เกษตรกรแจ้งยกเลิกการเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่นเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ แต่ขั้นตอนการยกเลิกต้องใช้เวลา ส่งผลให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ ไม่ทัน (วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560) จำนวน 1,197 ราย

(4) กลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้เงินช่วยเหลือตามโครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตฯ ปี 2559/62 ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินของ ธ.ก.ส. ใช้เวลา 7 วัน ทำให้ข้อมูลเกษตรกรที่จัดส่งช่วงวันที่ 19 – 28 กุมภาพันธ์ 2560 ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทัน จำนวน 7,922 ราย

(5) ข้อมูลไม่สมบูรณ์ เนื่องจากเกษตรกรไม่ระบุพันธุ์ข้าว จำนวน 1,238 ราย

(6) ธ.ก.ส. ตรวจสอบพบว่าเกษตรกรได้รับเงินยังไม่ครบตามสิทธิ จำนวน 5,332 ราย

2) นบข. มอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาการจ่ายเงินโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2559/60 ให้แก่เกษตรกรที่ตกหล่น ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรและ ธ.ก.ส. ได้ตรวจสอบร่วมกันแล้ว โดยมีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ จำนวน 28,792 ราย รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 180,259,906 บาท และมอบหมายให้ ธ.ก.ส. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป

-----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการ นบข.)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ