รองนายกฯ สมคิด กำชับกระทรวงเศรษฐกิจในกำกับ เร่งทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ

ข่าวทั่วไป Thursday August 8, 2019 14:20 —สำนักโฆษก

รองนายกฯ สมคิด กำชับกระทรวงเศรษฐกิจในกำกับ เร่งทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ

วันนี้ (8 สิงหาคม 2562) เวลา 09.00 น. ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝากให้กระทรวงในกำกับทั้ง กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวง การต่างประเทศ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมขอให้ประสานงานกันขับเคลื่อนการทำงานด้านเศรษฐกิจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาปรับเพิ่มภาษีมูลค่า (tariff) ต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมาเป็นผลให้สถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลก ตกลงประมาณ 4 - 7% ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ของไทยร่วงลงไป 3% กว่า หากอนาคตตลาดโลกยังเป็นเช่นนี้อยู่ การส่งออกที่เป็นบวกมาก ๆ อย่างที่เคยเป็นนั้นคงเป็นไปยาก ซึ่งการส่งออกมีสัดส่วน 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพราะฉะนั้นสำคัญคนไทยต้องสร้างความเชื่อมั่นในประเทศ ประกอบกับบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ ควรลงทุนเพิ่มในประเทศไทยให้มากขึ้น ไม่ใช่นำไปลงทุนแต่ในต่างประเทศ วานนี้ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม ไปฟังแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด เพื่อนำมาหารือว่ามีอะไรร่วมผลักดันกันได้บ้าง

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอภาคเอกชนอย่าเป็นกังวลเรื่องความขัดแย้ง วันนี้ประเทศไทยมีรัฐบาลแล้ว เป็นรัฐบาลผสม สามารถทำงานด้วยกันได้ ซึ่งรัฐมนตรีแต่ะละท่านรู้จักกันมานานสามารถปรึกษาหารือระหว่างกันได้ ไม่มีปัญหาเรื่องการทำงาน แต่หากภาคเอกชนไม่ลงทุนในประเทศแล้ว ต่างประเทศจะมาลงทุนได้ยังไง เมื่อไม่มีการลงทุนก็ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทำความเข้าใจกันด้วย สำหรับรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา ได้เตรียมการแผนกระตุ้นเศรษฐกิจไว้แล้ว กระทรวงการคลังก็พร้อมยินดีให้การสนับสนุน

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงภาพรวมการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นมากว่า ไม่สามารถทำได้ ต้องต่อยอดด้วยการฟื้นฟู และการปฏิรูป ซึ่งรัฐบาลได้ต่อยอดดำเนินการแล้ว โดยเน้นการทำใน 3 - 4 มิติ ได้แก่ 1. ความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไม่ใช่นโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่ง มีการแบ่งการทำงานเป็น 3 เฟส คือ ขายความคิด ศูนย์รวมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การลงทุนการคมนาคม ดิจิตอลใน 2 ปีแรก จากนั้นต้องหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้มาลงทุนกันให้มากที่สุด ซึ่งประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจเรื่อง sustainable growth (การเติบโตของบริษัทที่เติบโตด้วยทรัพยากรหรือสินทรัพย์ที่มีอยู่ของบริษัท) ของไทย ถึงจะมาลงทุน ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานต้องช่วยกันในเรื่องดังกล่าว

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต่อไปจะมีการตั้งคณะกรรมการคลัง ประกอบไปด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องจัดทำศูนย์ One stop service ต้องทำให้ได้ เพื่อให้ ease of doing business ดีขึ้น ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ไทยอย่างเดียว แต่ไทยเรายังเป็นศูนย์กลาง hub รวมทั้งไทย+ CLMV ทั้งนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ช่วยดูแลเรื่องความมั่นคง แผนความมั่นคงกับประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน

รองนายกรัฐมนตรีกว่าต่อไปว่า รัฐบาลยังต้องทำอีกหลายอุตสาหกรรม bioeconomy ท่องเที่ยว BOI ซึ่งมีงบเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันประมาณหมื่นกว่าล้านบาท ต้องนำมาใช้ให้เกิดผลซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องดิจิตอล SMEs ซึ่งกระดูกสันหลังของไทย แต่ยังไม่ค่อยตระหนักถึงดิจิตอล ที่จะทำให้ SMEs ตกเวทีหมด

ด้านการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรนั้น เป็นเพียงมาตรการบรรเทาระยะสั้นเท่านั้น จะต้องมีการพัฒนาเกษตรกรในด้านต่าง ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ รวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น ปัญหาเกษตรกรที่ยากจนมาจากการแยกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และงานพัฒนาด้านเกษตรไปอยู่ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น

เรื่องบัตรสวัสดิการ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่ใช่เครื่องมือหาเสียง ไม่ใช่โครงการที่ใช้ไม้ไอศครีม ละลายระหว่างทาง ถึงชาวบ้านเหลือแต่ไม้ไอศครีม ซึ่งกระทรวงการคลังได้ดูแลส่งสวัสดิการตรงถึงชาวบ้าน แต่จะแก้ความเหลื่อมล้ำได้ต้องเน้นการศึกษา วันนี้เด็กเรียนอินเตอร์โตมาทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในอนาคตมากขึ้นอีก ถ้ากระทรวงศึกษาไม่ปฏิรูป

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวตอบข้อสงสัยการตั้งงบประมาณรายจ่ายว่าทำไมต้องงบขาดดุลว่า เพราะการสร้างรายได้โตไม่ทัน ใครอยู่นอกระบบ ต้องนำเข้ามาในระบบให้หมด ทั้งนี้ เราต้องช่วยกัน ไม่ใช่เอาแต่ด่ารัฐบาล ทุกคนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศด้วยกันทั้งหมด ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง พร้อมกับกล่าวย้ำถึงการทำงานของรัฐบาลว่า ขอให้มั่นใจรัฐบาล ทุกกระทรวงทำงานร่วมกันอย่างสามัคคี ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ