อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี พร้อมสนับสนุนการพัฒนานโยบายและความร่วมมือด้านสตาร์ทอัพอย่างเป็นรูปธรรม

ข่าวทั่วไป Tuesday November 26, 2019 15:02 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีเปิดและกล่าวแสดงความยินดีในการประชุมสุดยอดผู้ประกอบการรายใหม่อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี

วันนี้ (26 พฤศจิกายน 2562) เวลา 12.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครปูซาน) ณ อาคารนิทรรศการ 1 ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนครปูซาน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมพิธีเปิดและกล่าวแสดงความยินดีในการประชุมสุดยอดผู้ประกอบการรายใหม่อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN-ROK Startup Summit) สรุปสาระสำคัญดังนี้

การประชุม ASEAN-ROK Startup Summit เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ โดยมีผู้นำอาเซียน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ผู้แทนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพจากประเทศอาเซียน และนายชนาธิป ฤกษ์สุขรุ่งเรือง ผู้บริหาร บริษัท เวริลี วิชั่น จำกัด เข้าร่วมในฐานะผู้แทนไทย

นายกรัฐมนตรีชื่นชมความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดของวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพของสาธารณรัฐเกาหลีในเวทีโลก ซึ่งถือเป็นประสบการณ์สำคัญในการแลกเปลี่ยนกับสตาร์ทอัพไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน พร้อมเน้นย้ำว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนสตาร์ทอัพ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมการเติบโตอย่างครอบคลุมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เศรษฐกิจของไทยมีความเข็มแข็งท่ามกลางการแข่งขันและความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นในภูมิภาคและโลก โดยไทยได้ผลักดันการพัฒนาสตาร์ทอัพอย่างเป็นรูปธรรมในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ด้านนโยบาย มีการผลักดันกฎหมายสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1) กฎหมายสตาร์ทอัพ (Startup Act) เพื่อลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ ทำให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และเพิ่มศักยภาพในการเติบโตสู่ตลาดโลก 2) กฎหมายแซนด์บ็อกซ (Sandbox Act) การทดสอบกฎระเบียบสำหรับสตาร์ทอัพ และ 3) กฎหมายเบยห์-โดล (Bayh-Dole Act) เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐานระดับประเทศ (National Quality Infrastructure : NQI) ซึ่งจะทำให้สินค้าและบริการของไทยมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก นอกจากนี้ มีการเปิดพื้นที่ให้ทดลองและทดสอบแนวคิดในมหาวิทยาลัย (Pilot Plant) ให้บริการ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพและเติบโตต่อไปได้

ด้านการสร้างคนและบุคลากร มีการกระตุ้น “ต่อมความอยากเป็นผู้ประกอบการ” ของเยาวชน ด้วยกลไกกองทุนยุวสตาร์ทอัพ (Youth Startup Fund) เพื่อพัฒนาไอเดีย POC/POV สร้าง Business Model จนเกิดธุรกิจสตาร์ทอัพ เปิดเวทีแสดงความคิดและความสามารถของคนรุ่นใหม่ สร้างระบบนิเวศภายในมหาวิทยาลัยให้เหมาะกับการพัฒนาสตาร์ทอัพ รวมไปถึง โครงการบัณฑิตอาสาเพื่อช่วยบัณฑิตจบใหม่ที่ตกงาน และโครงการกลไกอาสาประชารัฐ ที่ให้นักศึกษาปี 3-4 ใช้เวลา 1 ภาคเรียน ทำงานร่วมกับชาวบ้าน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจ นวัตกรรมสังคม และนวัตกรรมสร้างสรรค์

ทั้งหมดนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในไทย เพื่อให้เกิด Ease of Doing “Innovation” Business ทั้งนี้ สำหรับการสนับสนุนสตาร์ทอัพในบริบทของประเทศไทยในปัจจุบัน คือ การสนับสนุน Innovation Startup ให้เกิดเป็น BCG Startup (Bio-Circular-Green) เพื่อใช้ความเข้มแข็งของความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม พร้อมทั้งมุ่งไปสู่สตาร์ทอัพเพื่อสังคม (Social Startup) เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ในปี 2562 นี้ ประเทศไทยได้รับโอกาสในการเป็นประธานอาเซียน โดยบทบาทหนึ่งที่สำคัญก็คือ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในทุกด้าน ซึ่งรวมถึงเรื่องสตาร์ทอัพด้วย เราจึงได้ริเริ่มจัดประชุม Southeast Asia Startup Assembly หรือ SEASA เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ภายใต้แนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนปีนี้ คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” โดยมีผู้เข้าร่วมจากประเทศสมาชิกอาเซียน และพันธมิตร เพื่อขับเคลื่อนและขยายเครือข่ายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งมิติการจัดทำข้อมูล การบ่มเพาะ การขยายตลาด และการพัฒนาศักยภาพและสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศสตาร์ทอัพ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสากล ทั้งนี้ การจัดประชุม SEASA จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ

ความร่วมมือด้านสตาร์ทอัพระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลีเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายควรให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องต่อไป เนื่องจากสอดคล้องกับนโยบายของทั้งสองฝ่าย และสอดคล้องกับถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ร่วมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความเป็นหุ้นส่วน รวมถึงแผนปฏิบัติการอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สำหรับปี ค.ศ. 2021-2024 ในเรื่องส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนสตาร์ทอัพระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี ทั้งนี้ สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายอาจพิจารณาต่อไป คือ การพัฒนาเครือข่าย focal points ของหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนสนับสนุนการพัฒนานโยบายและความร่วมมือด้านสตาร์ทอัพ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติและประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่เมื่อวานนี้ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของสาธารณรัฐเกาหลี พร้อมคาดหวังว่า ความสัมพันธ์และความร่วมมือในเรื่องนวัตกรรมและสตาร์ทอัพระหว่างไทย อาเซียน และสาธารณรัฐเกาหลี จะเข้มแข็งและเติบโตยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกคนมองไปในอนาคต และร่วมมือกัน สร้างโอกาสจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างสรรค์ความก้าวหน้าให้กับภูมิภาค และสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนมากที่สุด

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ