วันนี้ (21 มกราคม 2563) เวลา 14.00 น. ณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส ภายหลังการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนและการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (นราธิวาส ปัตตานี และยะลา) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวขอบคุณมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ คณะอาจารย์ นิสิต นักศึกษา ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและให้ใช้สถานที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งนี้ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ภาคธุรกิจ หอการค้า อุตสาหกรรม ตลอดจนภาคการเกษตรต่าง ๆ ที่ได้มาหารือร่วมกันในการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน เพื่อนำไปสู่แผนการขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต
สำหรับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนจังหวัดภาคใต้ทั้งเรื่องด่าน การบริหารจัดการน้ำ เส้นทางคมนาคม และศูนย์วัฒนธรรม นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มีการนำไปพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งก็มีบางอย่างต้องมีการศึกษาใหม่ และบางเรื่องสามารถดำเนินการได้ตามแผนโดยจะใช้งบประมาณปี 2564 ขณะที่ในส่วนเส้นทางคมนาคมก็ได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้วและอยู่ในงบประมาณปี 2563 โดยสามารถติดตามได้ผ่านการดำเนินงานของกระทรวงได้ ทั้งนี้คาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และเป็นแนวทางในการลดความรุนแรงลงไปได้ เพราะเป็นการแก้ปัญหาโดยใช้การพัฒนานำการทหาร ซึ่งวันนี้ความรุนแรงก็ลดลงตามลำดับ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้มีการสั่งการมาตรการเชิงรุกให้เข้มงวดในพื้นที่ป่าเขาและระวังในพื้นที่เขตเมืองให้มากยิ่งขึ้น และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนทุกฝ่ายที่ได้ช่วยกันดำเนินการดังกล่าว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงการแก้ปัญหาเกษตรฐานรากว่า ควรมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเกษตรเชิงเดียว (เช่น ปลูกยาง หรือปลูกปาล์ม) มาทำเกษตรแบบอื่นไปด้วย อาทิ การปลูกพืชพลังงาน เช่น การปลูกไม้ไผ่ เพื่อส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงการพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ในพื้นที่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น การสนับสนุนดูแล SME และวิสาหกิจในชุมชน การผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค การเชื่อมโยงการค้าและการตลาดระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น เช่น ไทย – มาเลเซีย โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับ อีกทั้งให้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเชื่อมโยงผลผลิตของเกษตรกรกับผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีความพยายามอย่างมากที่จะพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซ เชื่อมไทยเชื่อมโลกให้ได้
---------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th