รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีย้ำศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล COVID-19 พร้อมตอบข้อสงสัยและให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19

ข่าวทั่วไป Wednesday March 11, 2020 14:52 —สำนักโฆษก

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีย้ำศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล COVID-19 พร้อมตอบข้อสงสัยและให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19

วันนี้ (11 มี.ค. 2563) เวลา 14.00 น.ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล COVID-19 ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข พล.ต.ท. ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและโฆษกกระทรวงคลัง แถลงชี้แจงข้อสงสัยในประเด็นการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวเนื่อง COVID-19 มาตรการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และข้อควรรู้สำหรับประชาชนทั่วไป

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์บริการสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีข้อมูลข่าวสารชี้แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาให้แก่พี่น้องประชาชน รวมทั้งยังเป็นศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนสามารถติดต่อหลายช่องทาง เช่น ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ 1111 และช่องทางเฟซบุ๊กกรมประชาสัมพันธ์

          จากนั้น นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงข้อสงสัยกรณีชาวสิงคโปร์เจ้าของร้านอาหารในอาคารออลซีซั่นส์ เพลส ที่เดินทางไปสิงคโปร์ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งผ่านไปเดือนกว่าพ้นระยะฟักตัว แต่พบติดเชื้อไวรัสอาจทำให้ไทยเข้าสู่ระยะที่ 3 ว่า ข้อเท็จจริงจากทีมสืบสวนสอบพบประวัติสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงซึ่งเป็นเพื่อนจากประเทศเดียวกัน ถือว่าหาที่มาที่ไปได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร ยังติดตามผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดและไม่ใกล้ชิดทางอีก 84 คน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อ ทุกคนมีอาการปกติดี ทั้งนี้ ต้องชื่นชมเจ้าของร้านถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการแจ้งเรื่อง ปิดร้าน         ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ คาดว่าจะเปิดใช้บริการภายใน 2-3 วัน ยืนยันว่า ประชาชนสามารถเดินทางไปอาคารออลซีซั่นส์ได้ พนักงานยังสามารถเข้ามาทำงานได้ตามปกติ มีการปิดพื้นที่เฉพาะที่ทำการเฝ้าระวัง  จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสมจำนวน  59 ราย เกือบทุกรายอาการเริ่มดีขึ้น เสียชีวิต 1 ราย ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และปัจจุบันพบผู้ป่วยเพิ่มจำนวน 6 ราย   อาทิ รายที่ 1 เจ้าหน้าที่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ รายที่ 2 เจ้าหน้าที่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ (ไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรงกับรายที่ 1) รายที่ 3 พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง รายที่ 4 คนที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้  รายที่ 5 เดินทางกลับจากญี่ปุ่น รายที่ 6 ชาวสิงคโปร์ เจ้าของกิจการในกรุงเทพฯ ยืนยันว่าทั้ง 6 รายนี้  ได้มีการตรวจสอบที่มาที่ไปได้ทั้งหมด ด้านกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง ที่ได้ออกหนังสือชี้แจงเตือนผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศรับมือสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยืนยันไทยยังคงอยู่ในระดับที่ 2 ทั้งนี้ การแจ้งเตือนในเอกสารเป็นการยกระดับการรับมือให้สูงกว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริง เพื่อให้จัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

โฆษกกระทรวงสาธารณสุขยังย้ำถึงวิธีการดูแลตัวเองและคนใกล้ชิด หมั่นล้างมือให้สะอาด แยกสำรับอาหาร ใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง จัดการภายในสถานที่ทำงาน ทำความสะอาดพื้นสัมผัสร่วม ยืนยันไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจไม่ได้ติดต่อทางอาหาร ผู้สวมหน้ากากอนามัยต้องเป็นผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ บุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ต้องเข้าไปสถานที่ที่มีคนแออัด อากาศถ่ายเทไม่ดี

จากนั้น พล.ต.ท. ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงถึงสถานการณ์ปัจจุบัน อาจเป็นช่องทางให้บุคคล กลุ่มบุคคล ผู้ประกอบการบางราย รวมถึงมิจฉาชีพฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สร้างความเดือดร้อนหรือความวุ่นวาย ตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนและสังคมได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้สั่งการให้ติดตามอย่างใกล้ชิด กำหนดมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อทุกหน่วยงานร่วมปฏิบัติทั้งปราบปรามและจับกุมผู้กระทำความผิด จับกุมผู้ที่จำหน่ายหน้ากากอนามัยโดยผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การจับกุมผู้ที่โพสต์หรือส่งต่อข่าวปลอม (Fake News) สร้างความตระหนกให้แก่ประชาชนและสังคม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งเพิ่มความเข้มในการคัดกรองผู้ที่เดินทางจากนอกราชอาณาจักรโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดในทุกช่องทาง ทั้งเตรียมความพร้อมดูแลอำนวยความสะดวกในการรับตัวคนไทยที่จะเดินทางกลับประเทศ โดยบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน พล.ต.ท. ปิยะ ฯ ยังกล่าวถึงการซื้อสินค้าออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าว่า ขอให้ผู้ซื้อเตรียมหลักฐาน รายละเอียด ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อซื้อขาย แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ หากประชาชนพบเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวต่าง ๆ สามารถแจ้งมายังหมายเลขโทรศัพท์ 1111, 191, 1599 หรือสถานีตำรวจได้ในทุกพื้นที่

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงถึงประเด็นมาตรการฟื้นฟู เยียวยาด้านเศรษฐกิจว่า ผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง และการค้าขายที่ซบเซา กระทบไปถึงภาคการผลิต อุตสาหกรรมของไทยที่มีประเทศจีนเป็นคู่ค้า ทั้งการนำเข้า และส่งออก ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้มีมาตรการเยียวยาและบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจในระยะที่ 1 ที่มุ่งเน้นลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการ เสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ทั้งหมด 14 มาตรการด้วยกัน ส่วนแรก คือ การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งผู้ประกอบการและประชาชน เช่น หนี้บัตรเครดิต มีแนวทางเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตให้มีระยะเวลายาวนานขึ้นและดอกเบี้ยต่ำลงกับทางธนาคารออมสิน ยืดระยะเวลาผ่อนชำระ ต่อมา คือ การลดภาระค่าไฟของประชาชน โดยกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทยออกมาตรการ 3 ด้าน ได้แก่ การคืนค่าประกันการใช้ไฟบางส่วน การลดค่าไฟในรอบบิลเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน และ ยืดระยะเวลาการผ่อนชำระค่าไฟ รวมถึงการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน เหลือ 4% ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมเงิน 2 หมื่นล้านบาทเพื่อป้องกัน เยียวยา และสร้างแรงจูงใจ ในการแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่อยู่นอกเหนือจาก 14 มาตรการ เช่น การเยียวยาผู้ถูกเลิกจ้าง การจัดหาอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเสนอแนวทางในการช่วยเหลือและรัฐบาลจะคอยออกมาตรการในการช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่องต่อไป

.....................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ