รมว.ศธ.ประชุมคกก.คุรุสภา ย้ำเตรียมความพร้อมสอนออนไลน์ ประถมผ่านทีวีดิจิทัล มัธยมพร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ [กระทรวงศึกษาธิการ]

ข่าวทั่วไป Thursday April 2, 2020 14:25 —สำนักโฆษก

รมว.ศธ.ประชุมคกก.คุรุสภา ย้ำเตรียมความพร้อมสอนออนไลน์ ประถมผ่านทีวีดิจิทัล มัธยมพร้อมสนับสนุนอุปกรณ์

(2 เม.ย.63) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ครั้งที่ 3/2563 โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้เป็นการพิจารณาตามวาระปกติ และมีเรื่องที่เน้นย้ำเพิ่มเติม คือ การใช้ระบบดิจิทัลของคุรุสภา ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่ในอนาคตจะต้องนำระบบดิจิทัลนี้เชื่อมต่อข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมถึงภาคเอกชน ให้สามารถทราบว่ามีครูสาขาใดหรือมีความสามารถด้านใดบ้าง เพื่อสำรวจข้อมูลความขาดแคลนบุคลากรครู แล้วนำมาวางแนวทางผลักดันให้เด็กเรียนไปในสาขาที่ต้องการได้ ซึ่งเป็นภาพรวมที่อยากให้คุรุสภานำเอาระบบ Big Data มาเชื่อมโยงให้เต็มที่

ในส่วนการใช้ระบบดิจิทัลกับใบประกอบวิชาชีพ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ง่ายขึ้น และเชื่อมต่อฐานข้อมูลกับ สพฐ. ได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต้องปรับปรุงให้ทันสมัยตลอดเวลา เช่น การใช้ระบบดิจิทัลมาช่วยแจ้งเตือนกำหนดการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพื่อให้ครูสามารถดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ได้สะดวกขึ้น เป็นต้น ถือเป็นการเชื่อมต่อ Big Data ในกระทรวงก่อน หลังจากนั้นจึงขยายไปเชื่อมกับหน่วยงานอื่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อลดปัญหาด้านเอกสารของครูที่ย้ายจาก สพฐ. ไป อปท. โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมถึงการสอนออนไลน์ที่ ศธ.กำลังดำเนินการว่า ขณะนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

ระดับปฐมวัยจนถึงประถมศึกษา จะใช้ช่องทาง TV เนื่องจากเด็กยังไม่มีอุปกรณ์และยังไม่สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีได้ด้วยตนเองทั้งหมด โดยได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้ว เบื้องต้นจะเปิดจำนวน 7 ช่อง ตลอดจนหารือร่วมกับผู้ให้บริการเคเบิลทีวีเพื่อปรับเลขช่องให้ตรงกันทั้งหมด

ระดับมัธยมศึกษา จะต้องมีอุปกรณ์ในการเรียน ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องสนับสนุนอุปกรณ์ ก็จะดำเนินการโยกงบประมาณภายในกระทรวงเอง โดยนำงบประมาณที่อาจจะต้องไปลงทุนในบางเรื่อง เช่น งบประมาณซ่อมแซมอาคารที่ยังไม่มีความจำเป็นเนื่องจากโรงเรียนยังไม่สามารถเปิดเรียนได้มาลงทุนก่อน รวมถึงอุปกรณ์สำหรับครูด้วยเพื่อการสร้างความเท่าเทียมกันให้มากที่สุด

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ประโยชน์ที่การสอนทางออนไลน์น่าจะช่วยได้ คือ การเรียนการสอนที่เป็นพื้นฐานเท่ากันหมด จะทำให้เห็นเด็กที่เรียนอ่อนได้ชัดเจน ซึ่งครูก็ต้องหาทางช่วยสอนเด็กลุ่มนี้ให้ได้ และยกระดับความรู้ให้เท่ากันได้มากที่สุด ส่วนกลุ่มเด็กเก่งก็สามารถเข้าไปดูเนื้อหาของชั้นที่สูงขึ้นไปล่วงหน้าได้ ทำให้เห็นทักษะความสามารถของเด็กแต่ละคนในระดับความรู้ขั้นพื้นฐาน ถือว่าวิกฤตินี้เป็นโอกาสที่จะได้ประเมินมาตรฐานของเด็กเราด้วย

ด้านการทำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนอุปกรณ์จริงนั้น เป็นหน้าที่ของ ศธ. ที่จะต้องสร้างเนื้อหา รูปแบบการเรียนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ให้ได้ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการใช้ดิจิทัลหรือเทคโนโลยีมาสอน ไม่สามารถทดแทนการสอนของครูได้ พร้อมยืนยันว่าครูเป็นส่วนสำคัญในการที่จะทำให้การสอนมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะที่มีวิกฤติที่ไม่สามารถทำให้ครูเจอเด็กได้ ก็จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง

ส่วนข้อกังวลว่าเมื่อผ่านวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 แล้ว จะเกิดความไม่คุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่ รมว.ศึกษาธิการยืนยันว่า แผนงานสนับสนุนอุปกรณ์ เทคโนโลยีต่าง ๆ ถูกเตรียมไว้สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2565 อยู่แล้ว สามารถปรับให้เหมาะสมได้ นอกจากนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน คือ การควบรวมโรงเรียนที่มีครูจำนวน 2-3 คน จะต้องมารวมกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการฝึกฝนกระบวนการต่าง ๆ ในการสอนออนไลน์ โดยมั่นใจว่าหากว่าครูมีความตั้งใจพัฒนาอย่างจริงจัง ในระยะเวลา 2 เดือนจะสามารถเข้าสู่สมรรถนะในการสอนออนไลน์ได้แน่นอน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ