วธ. จัดทำคลิป “สงกรานต์แบบไทย ห่างไกลโควิด-๑๙” ผลิตแอนิเมชันการ์ตูน “สงกรานต์ ๒๐๒๐ ๔ ไม่ ๓ ทำ” เสริมสร้างการรับรู้เด็ก เยาวชน จับมือศิลปินแห่งชาติ-พื้นบ้าน-ชุมชนคุณธรรมทั่วประเทศ [กระทรวงวัฒนธรรม]

ข่าวทั่วไป Sunday April 12, 2020 15:40 —สำนักโฆษก

วธ. จัดทำคลิป “สงกรานต์แบบไทย ห่างไกลโควิด-๑๙” ผลิตแอนิเมชันการ์ตูนสงกรานต์ ๒๐๒๐ ๔ ไม่ ๓ ทำ” เสริมสร้างการรับรู้เด็ก เยาวชน จับมือศิลปินแห่งชาติ-พื้นบ้าน-ชุมชนคุณธรรมทั่วประเทศ

วธ. จัดทำคลิป “สงกรานต์แบบไทย ห่างไกลโควิด-๑๙”ผลิตแอนิเมชันการ์ตูน “สงกรานต์ ๒๐๒๐ ๔ ไม่ ๓ ทำ” เสริมสร้างการรับรู้เด็ก เยาวชน จับมือศิลปินแห่งชาติ-พื้นบ้าน-ชุมชนคุณธรรมทั่วประเทศ ทำสื่อรวดเร็ว-เข้าใจง่าย

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้จัดทำประกาศกระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาลประเพณีสงกรานต์ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา โดยงดเว้นการรดน้ำญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด และร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์โดยสรงน้ำพระพุทธรูป กราบไหว้และขอพรพ่อ แม่ และญาติผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกันที่บ้าน โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1 - 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัย และขอพรผู้ใหญ่ที่อยู่ไกลกันผ่านโทรศัพท์และช่องทางออนไลน์ รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขนั้น

นายอิทธิพล กล่าวว่า ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนตามแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาลประเพณีสงกรานต์ของกระทรวงวัฒนธรรม ในการป้องกันตนเอง ครอบครัว และสังคมให้ห่างไกลโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จึงจัดทำคลิปแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาลประเพณีสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์แบบไทย ห่างไกลโควิด-๑๙” โดยคลิปแรกมีเนื้อหาเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการสรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน การจัดวางพระพุทธรูป และอุปกรณ์ที่ใช้ในการสรงน้ำพระ คลิปที่สองเป็นการแสดงความกตัญญูต่อพ่อ แม่ และญาติผู้ใหญ่ เพื่อสืบสานเทศกาลประเพณีสงกรานต์ โดยแสดงขั้นตอนการกราบไหว้และขอพรพ่อ แม่ และญาติผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1 - 2 เมตร และสวมหน้ากากอนามัย

คลิปที่สามเป็นคลิปการ์ตูนแอนิเมชัน เรื่อง “สงกรานต์ ๒๐๒๐ ๔ ไม่ ๓ ทำ” ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) จัดทำขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนหันมาสนใจการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ สิ่งที่ไม่ควรทำ ๔ ข้อ คือ ๑.ไม่เล่นน้ำ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ๒.ไม่กลับบ้านนำเชื้อไปแพร่กระจาย ๓.ไม่รดน้ำผู้ใหญ่เพราะอาจใกล้เกินไปส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ และ๔.ไม่ฉลอง สังสรรค์ เพราะอาจส่งผลกระทบทำให้ไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาสิ่งที่ควรทำ ๓ ข้อ คือ ๑.สรงน้ำพระที่บ้านและทำบุญแบบออนไลน์ ๒.แสดงความกตัญญูขอพรผู้ใหญ่ห่างๆ อย่างปลอดภัย และสวมหน้ากากอนามัย และ ๓.แสดงความรักและขอพรผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้ คลิป “สงกรานต์ ๒๐๒๐ ๔ ไม่ ๓ ทำ” เป็น ๑ ใน 12 คลิปแอนิเมชัน และการ์ตูน 10 ตอน ที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดทำขึ้นเพื่อรณรงค์การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ในมิติทางวัฒนธรรม: แอนิเมชันต้าน COVID-19 ซึ่งจะทะยอยเผยแพร่ตลอดเดือนเมษายนนี้

นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศได้บูรณาการร่วมกับศิลปินแห่งชาติ เครือข่ายวัฒนธรรม และเครือข่ายศิลปินพื้นบ้านของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) อาทิ แม่ฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปี พ.ศ. 2536 แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๙ แม่ศรีนวล ขำอาจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ศิลปะพื้นบ้าน-ลำตัด) ประจำปี พ.ศ. 2562 จัดทำคลิปสงกรานต์ปลอดภัย ห่างไกลโควิด-๑๙ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติช่วงเทศกาลประเพณีสงกรานต์ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) บรรยายเป็นภาษากลางและภาษาถิ่น เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และเข้าใจง่าย อย่างไรก็ตาม คลิปแนวทางการปฏิบัติดังกล่าวกระทรวงวัฒนธรรมจะเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ สื่อสังคมออนไลน์ ไลน์ เฟสบุ๊ค ยูทูป สื่อโทรทัศน์ และเว็บไซต์ของกระทรวงวัฒนธรรม www.m-culture.go.th

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ