ดีอีเอส ร่วมศปอส.ตร. จับแล้ว 2 คดีปล่อยเฟคนิวส์ท้า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน [กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม]

ข่าวทั่วไป Friday April 17, 2020 14:01 —สำนักโฆษก

ดีอีเอส ร่วมศปอส.ตร. จับแล้ว 2 คดีปล่อยเฟคนิวส์ท้า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ดีอีเอส โชว์ผลการทำงานร่วมกันของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และศปอส.ตร. ปูพรมค้น 9 จุดปล่อยเฟคนิวส์ท้าทาย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ดำเนินคดีเด็ดขาดกับมือโพสต์ 2 ราย

พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ หัวหน้าชุดประสานงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวแถลงข่าวผลการปฏิบัติงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ โดยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร., พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผอ.ศปอส.ตร.(PCT) ได้สั่งการตามนโยบายรัฐบาลให้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิด และดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการเสนอข่าวอันไม่เป็นความจริง บิดเบือนข่าวสารในสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ภายใต้ปฏิบัติการร่วมกันครั้งนี้ เบื้องต้นมีการมอนิเตอร์ 9 จุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการตามหมายค้นเป้าหมาย เพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ในจำนวนนี้มีการขอหมายค้นเข้าตรวจค้น จำนวน 2 รายที่มีการโพสต์เฟซบุ๊กข่าวปลอมและสร้างความตระหนกให้ประชาชนในวงกว้าง ซึ่งจะมีการดำเนินคดีต่อไป ได้แก่ ลือเคอร์ฟิว 24 ชม. เริ่มเสาร์-อาทิตย์นี้ ต้องตุนอาหารและเครื่องดื่ม ผู้โพสต์อยู่ที่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ยอมรับว่านำเนื้อหาจากที่อ่านจากคอมเม้นท์ตามเฟซมาโพสต์ โดยไม่ได้กลั่นกรองและตรวจสอบข้อมูล

อีกรายคือ ผู้โพสต์ไปรษณีย์เตือน! มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 จากจดหมายหรือพัสดุ ผู้โพสต์มีที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ที่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี จากการตรวจค้นที่พักไม่พบตัว และทำการออกหมายเรียกเพื่อมาพบพนักงานสอบสวนแล้ว มั่นใจว่าจะได้ตัวแน่นอน

สำหรับการตรวจค้นอีก 7 จุด ได้มีการพบตัวผู้กระทำผิด ได้แก่ พบพนักงานธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยติดเชื้อ, ด่วน! ย้ายศูนย์ ศบค. หลังพบ จนท. เริ่มติดเชื้อ COVID-19, ห้ามกิน! เห็ดเข็มทองเพราะมีพิษโควิด-19 อันตรายถึงชีวิต, รัฐบาลเตรียมประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้าน 24 ชม. ภายในสัปดาห์หน้า (2 รายในพื้นที่ จ.ชลบุรี) และห้ามใช้อินเตอร์เน็ตว่าร้ายรัฐบาล (2 รายในพื้นที่ จ.สงขลา และจ.ฉะเชิงเทรา)

โดยในส่วนของผู้โพสต์ข่าวปลอมอีก 7 รายนี้ หลังสอบสวนได้มีการเตือนให้ระงับ/สั่งให้แก้ไขข่าว อาศัยอำนาจตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) ข้อที่ 6 ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ระบุว่า “การเสนอข่าว ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่าง ๆ ซึ่งมีข้อความ หรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด 19) อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในกรณีเช่นนี้ ให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าว หรือหากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรง ให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

“2 รายแรกมีการดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ให้อำนาจไว้ และถ้าพบความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็จะมีการดำเนินคดีเพิ่มเติม การดำเนินคดีเราจะมุ่งที่บุคคลผู้เป็นคนโพสต์ต้นทาง และโพสต์นั้นเข้าถึงคนจำนวนมาก สร้างความเสียหายหรือความตื่นตระหนก ส่วนกรณีที่เป็นความผิดครั้งแรก และไม่ได้เกิดความเสียหายจำนวนมาก เราจะตักเตือนก่อนในครั้งแรก” พล.ต.ต.พันธนะกล่าว

ขณะที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นช่วงที่ประชาชนทุกคนมีความยากลำบากอยู่แล้ว ดังนั้น การโพสต์ข่าวปลอมที่ทำให้คนเกิดความตื่นตระหนกและวุ่นวาย จึงเป็นการซ้ำเติมประชาชนเข้าไปอีก และยังเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะมีการดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด จึงขอเตือนไปยังผู้ที่คิดจะโพสต์ข่าวปลอมให้ระมัดระวัง และขอให้ใช้วิจารณญาณ ตั้งสติ ไม่ส่งต่อข่าวใดๆ ที่ไม่มีแหล่งที่มา และต้องตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่เชื่อถือได้เท่านั้น

ขณะที่ พล.ต.ต.พันธนะ กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทำให้มีกลุ่มผู้ไม่หวังดี ได้กระทำการโพสต์ เสนอข่าวอันไม่เป็นความจริง ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือบิดเบือนข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงขอเตือนประชาชน การจะโพสต์ข้อมูลข่าวสารซึ่งอาจทำให้เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ