พม. แถลงผลลงพื้นที่โครงก พม. เราไม่ทิ้งกัน 3 วันแรก และการพักชำระหนี้องค์กรชุมชนจากสินเชื่อ พอช. [กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์]

ข่าวทั่วไป Thursday April 23, 2020 13:47 —สำนักโฆษก

พม. แถลงผลลงพื้นที่ชุมชน พม. เราไม่ทิ้งกัน 3 วันแรก และมาตรการพักชำระหนี้องค์กรชุมชนจากสินเชื่อ พอช. พร้อมขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน

วันนี้ (23 เม.ย. 63) เวลา 10.00 น. นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการแถลงข่าวการดำเนินงานตามภารกิจสำคัญของกระทรวง พม. ดังนี้ 1. ผลการลงพื้นที่ชุมชนใน กทม. ตามโครงการ พม. เราไม่ทิ้งกัน ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (ระหว่างวันที่ 20-22 เม.ย. 2563) 2. มาตรการพักชำระหนี้ระยะเวลา 3 เดือน ให้แก่องค์กรชุมชนที่ใช้สินเชื่อจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และ 3. แนวทางการขับเคลื่อนมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน โดยมี นางสาววิจิตา รชตะนันทิกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และนางสาวสุมล ยางสูง หัวหน้าสำนักสินเชื่อ พอช. ร่วมแถลงข่าว ณ บริเวณโถงชั้น 1 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ

นางพัชรี กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง กระทรวง พม. มีความห่วงใยประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยได้ดำเนินโครงการ พม. เราไม่ทิ้งกัน ตามแนวคิด สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน เพื่อลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือเยียวยาโดยเร็วที่สุดในชุมชนนำร่อง 286 ชุมชน ของ กทม. ซึ่งจากการลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 20-22 เม.ย. 2563 เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ไปแล้ว จำนวน 120 ชุมชน พบว่า ความต้องการของชุมชนในด้านต่างๆ มีดังนี้ 1. ด้านเงินช่วยเหลือ จำนวน 56 ชุมชน 2. ด้านที่อยู่อาศัย จำนวน 12 ชุมชน 3. ด้านอาชีพ-รายได้ จำนวน 41 ชุมชน 4. ด้านการอุปโภคบริโภค/การจัดตั้งครัวกลาง จำนวน 85 ชุมชน และ 5. ด้านการดูแลสุขภาพอนามัย/การป้องกันโรค 43 ชุมชน นอกจากนี้ ยังพบว่า ความต้องการของชุมชนที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเพิ่มเติมในเรื่องต่างๆ ได้แก่ เครื่องอุปโภค บริโภค โรงอาหารครัวกลาง หรือแหล่งจำหน่ายสินค้าและอาหารราคาถูก เงินเยียวยาจากรัฐบาล 5,000 บาท เงินทุนสำหรับประกอบอาชีพ เงินทุนหมุนเวียน ของใช้ที่จำเป็นสำหรับเด็กอ่อน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ อาทิ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป แผ่นรอง นมผง นมกล่อง ยารักษาโรค และอุปกรณ์ทำแผล เป็นต้น การแจกหรือการส่งเสริมให้ชุมชนทำหน้ากากทางเลือก เจลแอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ การกู้ยืมและการพักชำระหนี้ที่อยู่อาศัย การให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ตรงจุด และการเข้าไปดูแลกลุ่มคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ การคัดกรองคนเข้า-ออกชุมชน การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในชุมชน และการปรับปรุงสภาวะแวดล้อมในชุมชน เป็นต้น

นางสาวสุมล กล่าวว่า กระทรวง พม. โดย พอช. มีมาตรการพักชำระหนี้ให้แก่องค์กรชุมชนที่ใช้สินเชื่อจาก พอช. โดยไม่ต้องชำระเงินต้น ดอกเบี้ย และไม่คิดดอกเบี้ยในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายนนี้ โดยมีองค์กรชุมชนที่ใช้สินเชื่อประมาณ 500 องค์กรทั่วประเทศ มีสมาชิกประมาณ 50,000 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง วงเงินดอกเบี้ยที่ลดลงรวมประมาณ 42 ล้านบาท สำหรับโครงการบ้านมั่นคง เป็นโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ทั้งในเมืองและชนบท โดยชาวชุมชนที่มีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยไม่มีความมั่นคงในที่ดิน เช่น เช่าที่ดิน ปลูกสร้างบ้านในที่ดินของรัฐหรือเอกชน รวมตัวกันแก้ไขปัญหาและบริหารงานในรูปแบบของสหกรณ์ โดยการซื้อที่ดินหรือเช่าอย่างถูกต้อง หรือปรับปรุงบ้านในที่ดินเดิม โดย พอช. สนับสนุนงบประมาณและสินเชื่อระยะยาวให้แก่กลุ่ม องค์กร หรือสหกรณ์ที่ชาวชุมชนจัดตั้งขึ้นมา แล้วผ่อนชำระคืนเป็นรายเดือนให้แก่ พอช. เริ่มดำเนินโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2546 ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วทั่วประเทศ รวม 1,231 โครงการ จำนวน 112,777 ครัวเรือน ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นางสาววิจิตา กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน 12 ข้อ ซึ่งมีสาระสำคัญในหลักการที่หน่วยงานต้องถือปฏิบัติ เช่น ต้องมีการประกาศเจตนารมณ์เป็นลายลักษณ์อักษร การให้ความคุ้มครองบุคลากรทุกคนของหน่วยงาน การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากร การกำหนดกลไกการร้องทุกข์ภายในหน่วยงาน การใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างไม่เป็นทางการก่อน การจัดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รวดเร็ว และเป็นความลับ การมีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน พยาน และผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว และติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการฯ โดยรายงานต่อคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ สทพ.) อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เป็นต้น

นางสาววิจิตา กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับร่างมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน จะส่งผลให้บุคลากรในหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ได้รับการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิส่วนบุคคลมากขึ้น สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการฯ ของกระทรวง พม. มีดังนี้ 1. ประกาศเจตนารมณ์ และประชาสัมพันธ์ให้ทราบอย่างทั่วถึงเป็นวงกว้าง 2. ทำหนังสือถึงหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ให้นำหลักการ 12 ข้อ ไปดำเนินการในหน่วยงานให้เหมาะสมอย่างจริงจัง และรายงานต่อกระทรวง พม. อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือสื่อมวลชนทุกภาคส่วน ช่วยประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และประชาชน ได้รับทราบข้อมูล และแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน และพฤติกรรมใดบ้างที่เข้าข่ายเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ และสิ่งที่ควรกระทำเมื่อถูกล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ ทั้งนี้ สามารถร้องทุกข์ภายในหน่วยงานได้ เช่น ผู้บังคับบัญชาทุกระดับของผู้กระทำหรือกลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม หรือร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) รวมถึง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ