พม. แถลงย้ำเกณฑ์จ่ายเงินสงเคราะห์รายละไม่เกิน 2,000 บาท ไม่ใช่เงินเยียวยา ให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 [กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์]

ข่าวทั่วไป Tuesday April 28, 2020 14:35 —สำนักโฆษก

พม. แถลงย้ำเกณฑ์จ่ายเงินสงเคราะห์รายละไม่เกิน 2,000 บาท ไม่ใช่เงินเยียวยา ให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19

วันนี้ (28 เม.ย.63) เวลา 10.00 น. ที่บริเวณโถงชั้น 1 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการแถลงข่าวเรื่องการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) เป็นกรณีเร่งด่วน โดยใช้งบประมาณปกติและเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือตามระเบียบ พร้อมตั้งครัวกลางและศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้เร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัย ทั่วประเทศ

นางพัชรี กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ได้ส่งผลกระทบ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนในวงกว้าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีความห่วงใยประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว จึงได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือด้านปัจจัยสี่ทั้งอาหาร ที่พัก เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน อีกทั้งยังใช้มาตรการทางบริหารสำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมของกระทรวง พม. ด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์รายละไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งไม่ใช่เงินเยียวยา โดยเบิกจ่ายตามระเบียบและประกาศของกระทรวง พม. ประกอบด้วย 1) การสงเคราะห์เด็กภายในครอบครัว 2) การสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยากในประเทศให้กลับภูมิลำเนาเดิม 3) การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน 4) การสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง 5) เงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ 6) การช่วยเหลือสตรีหรือครอบครัวที่ประสบปัญหาทางสังคม 7) การคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนการจัดที่พักอาศัย อาหารและเครื่องนุ่งห่มให้ผู้สูงอายุตามความจำเป็นอย่างทั่วถึง 8) การคุ้มครอง การส่งเสริมและการสนับสนุนการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรมหรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือถูกทอดทิ้ง และการให้คำแนะนำปรึกษาดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางการแก้ไขปัญหาครอบครัว และหนังสือกระทรวงการคลัง อาทิ 1) การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เพื่อป้องกันโรคเอดส์ และการดำเนินงานช่วยเหลือด้านเงินทุนประกอบอาชีพแก่สตรีที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเอดส์ 2) การเบิกค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เพื่อป้องกันโรคเอดส์ และ 3) เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับตัวชาวเขา ทั้งนี้ การจ่ายเงินสงเคราะห์ไม่ใช่สำหรับประชาชนทั้งหมดในภาพรวมของประเทศ แต่เฉพาะประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน อาทิ เด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย คนไร้ที่พึ่ง ชาวเขา และผู้ที่เดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีกระบวนการตรวจสอบและประเมินข้อเท็จจริงจากนักสังคมสงเคราะห์ว่ามีความเดือดร้อนและความต้องการการช่วยเหลือเร่งด่วนอย่างไร อีกทั้งต้องวิเคราะห์เป็นรายกรณีตามขั้นตอนและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรคโควิด-19 ที่ยังตกหล่นไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ทางกระทรวง พม. สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร จะดำเนินการร่วมกันสำรวจพื้นที่ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน และทุกกลุ่มเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พ.ค. 2563 โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดมาเชื่อมโยงกับทุกกระทรวง เพื่อดูแลประชาชนที่เดือดร้อนให้ครอบคลุมได้มากที่สุด และตกหล่นให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ หากประชาชนประสบปัญหาทางสังคมและเดือดร้อนจากโรคโควิด-19 หรือพบเห็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ขอให้ติดต่อที่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกจังหวัด ในภูมิลำเนาที่อยู่อาศัย หรือแจ้งมายัง สายด่วน พม. โทร 1300 บริการฟรี 24 ชม. ของศูนย์ช่วยเหลือสังคม

นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะที่ กระทรวง พม. ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน ผู้ที่ตกงาน และผู้ที่ประสบปัญหาสังคมที่ไม่มีที่พักอาศัยในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล โดยได้จัดเตรียมสถานที่รองรับ 5 แห่ง ที่สะอาด ปลอดภัย และมีอาหารครบ 3 มื้อ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด อีกทั้งได้เตรียมรถบริการของศูนย์ช่วยเหลือสังคมสำหรับประชาชนที่ไม่มีที่พักอาศัย เพื่อพาไปส่งที่จุดคัดกรองเฉพาะกิจ (ดินแดง) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพฯ โดยจะมีการตรวจสุขภาพในเบื้องต้นก่อนจะให้เข้าพักในสถานที่รองรับ สำหรับในพื้นที่ต่างจังหวัด กระทรวง พม. ยังได้เตรียมหน่วยงานในพื้นที่ทุกจังกวัด เป็นสถานที่รองรับเช่นเดียวกัน อีกทั้งได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทุกจังหวัด ร่วมตั้งครัวกลางเพื่อแจกจ่ายอาหารให้กับประชาชนทั่วไปในที่สาธารณะได้กินครบทุกมื้ออย่างทั่วถึง รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้เร่ร่อน ไร้ที่อยู่อาศัย ทั่วประเทศ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ