โฆษก ศบค. เผย นายกฯ ห่วงใยให้ความสำคัญ กับการดูแลสุขภาพจิตประชาชน ระบุแม้สถานการณ์ในไทยจะดีขึ้น ก็ยังต้องตรึงมาตรการต่าง ๆ เพื่อไม่ให้มีการนำเชื้อเข้าประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday April 29, 2020 14:50 —สำนักโฆษก

โฆษก ศบค. เผย นายกฯ ห่วงใยให้ความสำคัญ กับการดูแลสุขภาพจิตประชาชน ระบุแม้สถานการณ์ในไทยจะดีขึ้น ก็ยังต้องตรึงมาตรการต่าง ๆ เพื่อไม่ให้มีการนำเชื้อเข้าประเทศ

วันนี้ (29 เม.ย.63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทย

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในประเทศไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ 9 ราย ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ต่ำกว่า 10 ราย ติดต่อกัน 3 วัน ผู้ป่วยยืนยันสะสมรวม 2,947 ราย มีผู้ที่หายป่วยเพิ่ม 13 ราย รวมผู้หายป่วย 2,665 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยยังอยู่ในช่วงวัยทำงาน อายุ 30-39 ปี กลุ่มอายุที่สูงสุดคือ 20-29 ปี ซึ่งเป็นวัยที่อาจเป็นพาหะนำเชื้อไปที่อื่น

ผู้ที่ติดเชื้อใหม่ 9 ราย เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่สัมผัสกับผู้ป่วยรายก่อนหน้านี้ 6 ราย โดย 1) อยู่ที่กรุงเทพฯ 3 ราย 2) ที่ภูเก็ต 3 ราย ซึ่งอยู่ในครอบเดียวกันถึง 2 ใน 3 ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 1 ราย บุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย รวม 9 ราย สำหรับการกระจายตัวของผู้ป่วยในจังหวัดต่าง ๆ วันนี้ ภูเก็ตเป็นอันดับ 1 พบ 4 ราย กรุงเทพฯ 3 ราย สมุทรปราการ 2 ราย จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยเลยยังเป็น 9 จังหวัดคงเดิม ส่วนอัตราการป่วยต่อแสนประชากร พบว่า ภูเก็ตยังเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ กรุงเทพฯ ยะลา นนทบุรี ทั้งนี้ จังหวัดสระบุรี ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู ไม่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 28 วันที่ผ่านมา

โฆษก ศบค. วิเคราะห์ลักษณะการเกิดโรคของกลุ่มผู้ป่วยเด็กเล็ก เด็กอ่อน ตั้งแต่ 0-14 ปี ว่า จากรายงานพบผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ 88 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด แต่ไม่พบผู้เสียชีวิตในกลุ่มนี้ ตรงข้ามกับกลุ่มผู้สูงอายุ สัดส่วนผู้ป่วยเด็กเพศชายต่อเพศหญิง คือ 1:1 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยชาวไทยร้อยละ 90 อายุต่ำสุดคือ 1 เดือน อายุเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0-4 ขวบ ทั้งนี้ ระหว่างเด็กเล็ก เด็กวัยประถม เด็กอายุ 10-14 ปี มีจำนวนเท่า ๆ กัน โดยอายุ 0-4 ปี = ร้อยละ 34 อายุ 5-9 ปี = ร้อยละ 32 และอายุ 10-14 ปี = ร้อยละ 34 พบปัจจัยเสี่ยงที่เด็กติดโรคมาจากการสัมผัสกับผู้ป่วยรายยืนยันก่อนหน้านี้ร้อยละ 86.4 มีประวัติเดินทางมาจากต่างประเทศร้อยละ 3.4 ไปในสถานที่แออัด ชุมชนแออัดร้อยละ 3 จังหวัดที่พบผู้ป่วยเด็กมากที่สุดคือ ภูเก็ต ยะลา ปัตตานี เชื่อมโยงกับผู้ประกอบพิธีทางศาสนาของต่างประเทศ พบเด็กไปสัมผัสเป็นพ่อแม่ มากที่สุดถึงร้อยละ 45รองลงมาคือบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมบ้านร้อยละ 24 ญาติ อื่น ๆ ร้อยละ 8

โฆษก ศบค. ชี้แจง โดยข้อมูลจากมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยรายงานว่า การติดเชื้อไม่ได้ผ่านทางน้ำนมของแม่ ซึ่งแม่ป่วยสามารถให้นมลูกได้แต่ต้องป้องกันในหลายวิธี อย่าเข้าใกล้ลูก อาจจะบีบน้ำนมไว้แล้วมาป้อนลูก หรือจะให้นมลูกด้วยตัวเองแต่ต้องป้องกันทำความสะอาด ใส่หน้ากากอนามัยอย่างดี เพื่อไม่ให้ลูกติดเชื้อจากแม่ เน้นการป้องกันด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ทั้งนี้ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยไม่แนะนำการให้นมผงกับทารกที่ไม่ติดเชื้อ เพราะจะเพิ่มค่าใช้จ่ายทั้งค่านม ค่ารักษาความสะอาด ค่ารักษาต่าง ๆ และจะทำให้เด็กไม่ได้รับภูมิคุ้มกันด้วย หากแม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้หรือเลี้ยงลูกด้วยนมผสมอยู่แล้ว และไม่มีเงินที่จะซื้อนมให้ลูกกิน ขอให้ประสานกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จะมีบุคคล ทีมงาน เข้าไปช่วยในเรื่องนี้

โฆษก ศบค. รายงานบทวิเคราะห์ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข รายงานการสำรวจชุดพฤติกรรมของคนไทยขณะนี้ โดยทำการสำรวจกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป ด้วยการตอบแบบสอบถาม ในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ 1. เรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม ในสองช่วงเวลา คือ ช่วงแรก เดือนมีนาคม ช่วงที่สอง กลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน พบว่า บุคลากรทางการแพทย์ มีระยะห่างที่ดี จาก ร้อยละ 87.1% เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 87.7 ประชาชนทั่วไป จากร้อยละ 86.9 ลดลงเหลือร้อยละ 82.7 หมายความว่าประชาชนมีการผ่อนปรนพฤติกรรมก่อนถึงช่วงระยะเวลาผ่อนปรน จึงขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันเว้นระยะห่าง เนื่องจากมีความสำคัญสูง 2. การล้างมือ พบการให้ความสำคัญดีขึ้นทั้งสองกลุ่ม มีการล้างมือบ่อยขึ้น ในกลุ่มประชาชนทั่วไปจากร้อยละ 83.6 เป็นร้อยละ 87.5 3. หน้ากากอนามัย พบว่าดีขึ้น มีการสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เมื่อไปในที่ชุมชน จากร้อยละ 78.2 เพิ่มเป็นร้อยละ 97.4 ในบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนประชาชน จากร้อยละ 70.0 เพิ่มเป็นร้อยละ 96.8

2. สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 โลก

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก พบตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,138,190 ราย เสียชีวิตไป 217,974 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 6,368 ราย โดยสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก โดยเสียชีวิตเพิ่ม 2,469 ราย รวมเสียชีวิตไปแล้ว 59,266 ราย รองลงมาคืออังกฤษ เสียชีวิตเพิ่ม 586 รายและบราซิล เป็นอันดับที่ 3 สำหรับผู้ป่วยรายใหม่อันดับที่ 1 ก็ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา ตามด้วยรัสเซียและบราซิล ตามลำดับ

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์มีผู้ป่วยรายใหม่ 528 ราย ญี่ปุ่นมีผู้รายใหม่ 589 ราย ขณะที่เกาหลีใต้ มีผู้ป่วยรายใหม่อยู่ที่ 9 ราย ซึ่งประเทศรอบไทยยังพบมีผู้ติดเชื้ออยู่จำนวนมากทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โดยอินเดียขึ้นไปอยู่ที่อันดับ 15 ของโลกแล้วตามด้วยสิงคโปร์ ปากีสถาน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ส่วนไทยลงมาอยู่ที่อันดับ 59 ของโลก

โฆษก ศบค. กล่าวเตือนว่า การเสียชีวิตจะมากหรือน้อยล้วนต้องมีผลกระทบต่อสุขภาพจิต ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยและให้ความสำคัญในการที่จะดูแลเรื่องนี้ด้วย รวมถึงข้อมูลสถานการณ์โลกต่าง ๆ แม้ว่าสถานการณ์ภายในประเทศไทยจะดีขึ้นก็ตาม หากสถานการณ์โลกยังไม่ดี ก็ยังคงต้องตรึงมาตรการต่าง ๆ ไว้เพื่อไม่ให้นำเชื้อเข้ามายังประเทศไทย

3. รายงานผลการปฏิบัติการตามมาตรการ

การปฏิบัติงานตามมาตรการเคอร์ฟิว

โฆษก ศบค. รายงานผลจากการปฏิบัติการจากการประกาศมาตรการเคอร์ฟิวประจำวันที่ 29 เมษายน 63 โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงพบว่า การพนันยังคงเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งในการกระทำความผิด โดยมีผู้กระทำความผิดกรณีชุมนุมมั่วสุม 79 ราย ลดลง 64 ราย ผู้กระทำความผิดกรณีออกนอกเคหสถาน 589 ราย เพิ่มขึ้น 128 ราย ฝากพี่น้องประชาชนในจังหวัด กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ปัตตานี สมุทรสาคร ภูเก็ต สมุทรปราการ สุรินทร์ สระบุรี ระยอง ซึ่งเป็นจังหวัดที่พบผู้กระทำความผิดมากที่สุด ช่วยกันให้ความร่วมมือ และชื่นชมจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้กระทำความผิด 12 จังหวัด คือ สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา สระแก้ว หนองบัวลำภู พะเยา ยโสธร นครพนม มหาสารคาม ลำปาง พิจิตร สุโขทัย และ อุทัยธานี

มาตรการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศ

โฆษก ศบค. กล่าวว่า วันนี้จะมีคนไทยเดินทางกลับมาจากอินเดีย (มุมไบ) 189 คน เดินทางกลับวันพรุ่งนี้ (30 เมษายน 63) จากรัสเซีย 15 คน ศรีลังกา 40 คน และอินเดีย 170 คน ถึงวันที่ 28 เมษายน 63 มีผู้เดินทางกลับมาจาก 22 ประเทศ จำนวน 2,981 คน ในขณะที่มีผู้เดินทางเข้าประเทศทางบกที่ลงทะเบียนไว้แล้ว 364 คน และผู้ไม่ลงทะเบียนมีอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้มีผู้เดินทางเข้ามาในประเทศทางบกทั้งหมด 372 คน โดยจากเมียนมา 3 คน สปป.ลาว 2 คน กัมพูชา 3 คน และมาเลเซีย 364 คน ทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการ State Quarantine

**********************

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ