สธ.-วธ. จัดทำคู่มือการจัดพิธีทางศาสนาและการจัดกิจกรรมทางประเพณี [กระทรวงสาธารณสุข]

ข่าวทั่วไป Wednesday July 1, 2020 13:47 —สำนักโฆษก

สธ.-วธ. จัดทำคู่มือการจัดพิธีทางศาสนาและการจัดกิจกรรมทางประเพณี

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม จัดทำคู่มือการจัดพิธีทางศาสนาและการจัดกิจกรรมทางประเพณี เพื่อเป็นแนวทางสำหรับพระภิกษุสงฆ์ นักบวช พราหมณ์ บาทหลวง และประชาชน แบบวิถีชีวิตใหม่ ผลสำรวจพบประชาชนไม่เช็คอิน-เช็คเอาท์ไทยชนะร้อยละ 20.8 เหตุผลส่วนใหญ่คือ ลืม ไม่สะดวก ไม่มั่นใจความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล

วันนี้ (1 กรกฎาคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย และนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม แถลงข่าวเรื่อง การจัดการสถานที่ “ศาสนสถาน” ในช่วงโควิด 19 ว่า ในระยะที่ผ่านมา ประชาชนลดกิจกรรมต่าง ๆ แต่มีความต้องการประกอบศาสนกิจ อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจสถานที่ที่ประชาชนไปใช้บริการหลังการผ่อนปรนพบว่า ประชาชนไปใช้ศาสนสถาน และนิยมไปตลาดสด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม โดยร้อยละ 20.8 ไม่เช็คอินเว็บ/แอปไทยชนะ เหตุผลคือ ลืมร้อยละ 38.8 ไม่สะดวก/เสียเวลาร้อยละ 23.8 และไม่มั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลร้อยละ 22.1

ในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาที่จะมาถึง กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยได้ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมจัดทำคู่มือการจัดพิธีทางศาสนาและการจัดกิจกรรมทางประเพณี เพื่อเป็นแนวทางสำหรับพระภิกษุสงฆ์ นักบวช พราหมณ์ บาทหลวง และประชาชน แบบวิถีชีวิตใหม่ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยกำหนดมาตรการสำหรับศาสนสถาน/ สถานที่จัดงาน, ผู้ประกอบพิธี/ ผู้นำปฏิบัติพิธี/ ผู้เข้าร่วมพิธีหรือร่วมกิจกรรม, การเตรียมอุปกรณ์สิ่งของเครื่องใช้ โดยมีแนวทางปฏิบัติศาสนสถานคือ คัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิและลงชื่อผู้เข้าร่วมพิธี กำหนดจำนวนผู้เข้าร่วม จัดอุปกรณ์ป้องกันตนเองเจ้าหน้าที่ และเตรียมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ จัดที่นั่งเว้นระยะห่าง โดยผู้เข้าร่วมพิธี ต้องลงชื่อเข้าร่วม สวมหน้ากากตลอดเวลา และอาบน้ำ/ เปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีที่กลับถึงที่พัก

ทั้งนี้ ศาสนสถานทั้งวัด โบสถ์ และมัสยิด ได้จัดทำป้ายคำแนะนำ ใช้ข้อปฏิบัติเช่นเดียวกับพื้นที่สาธารณะทั่วไป สำหรับข้อปฏิบัติสำหรับวัด พระสงฆ์และผู้มาทำบุญตักบาตรต้องสวมหน้ากากผ้า/ หน้ากากอนามัยตลอดเวลา จัดให้มีอ่างล้างมือและสบู่ เตรียมโต๊ะสำหรับวางของใส่บาตร กำหนดที่นั่งห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร จัดชุดสำหรับฉันอาหารเฉพาะรูป กำหนดเส้นทางเดินใส่บาตรให้เดินทางเดียว เว้นระยะห่าง 2 เมตร กำหนดเส้นทางเข้า-ออกไม่ให้สวนทางกัน ลดความแออัด และมีการประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนการสวมหน้ากากและล้างมือ ที่สำคัญหากป่วยขอให้งดร่วมกิจกรรมทางศาสนา งานประเพณีต่าง ๆ

นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทุกศาสนาทั้งพุทธ อิสลาม คริสต์ ฮินดู พราหมณ์ ซิกข์ ได้นำแนวทางการควบคุมโรคไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยกรมการศาสนา ได้มีข้อกำหนดให้ละเว้น เลี่ยง หรือหาวิธีเหมาะสมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศาสนิกชนเป็นอย่างดี สำหรับการเวียนเทียน จะต้องเว้นระยะห่าง กำหนดจำนวนคนเข้าร่วมตามขนาดของพื้นที่ เช่น พื้นที่โล่งรอบอุโบสถ รวมทั้งสามารถบริหารจัดการในการเวียนเทียนได้ตลอดเวลา เพื่อลดความแออัด

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ