นายกรัฐมนตรี แนะไทยดึงศักยภาพ ปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของโลก เน้น “รวมไทยสร้างชาติ” ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า

ข่าวทั่วไป Thursday September 10, 2020 14:43 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี แนะไทยดึงศักยภาพ ปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของโลก เน้น “รวมไทยสร้างชาติ” ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า

วันนี้ (10 ก.ย. 63) เวลา 14.00 น. ณ หอประชุม ชั้น 2 อาคารอเนกประสงค์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานรับฟังการแถลงผลการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 62 วิทยาลัยเสนาธิการทหาร และวิทยาลัยการทัพของทั้งสามเหล่าทัพ ประจำปีการศึกษา 2563 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา เข้าร่วมรับฟัง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ชื่นชมผลการศึกษาและข้อเสนอของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 62 วิทยาลัยเสนาธิการทหาร และวิทยาลัยการทัพของทั้งสามเหล่าทัพ ประจำปีการศึกษา 2563 ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่ดำเนินการอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคง การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันรัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมการรองรับบริทบของโลก ทั้งสงครามการค้า (Trade war) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศของโลก รวมทั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่จะส่งผลต่อความมั่นคงด้านต่างๆ ในอนาคตได้ ดังนั้นการดำเนินการต้องนำทุกอย่างมาวิเคราะห์ประมวลทั้งหมดให้ครอบคลุมทุกมิติไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะเหล่านี้คือความมั่นคงของชาติและความมั่งของประชาชนด้วย รวมทั้งประชาชนทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนต้องมาร่วมกัน “รวมไทยสร้างชาติ” เพื่อขับเคลื่อนประเทศชาติไปข้างหน้าด้วยกัน

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำให้ทุกคนปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น โดยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบคือ “ร่วมกันทำ รวดเร็ว และร่วมมือ” ซึ่งรัฐบาลได้วางแนวทางความร่วมมือในมิติที่กว้างขึ้นกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เกิดความสมดุลในมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนต้องดึงศักยภาพที่ประเทศไทยมีอยู่ออกมาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างเต็มที่ทั้งอัธยาศัยไมตรีและรอยยิ้มที่เป็นมิตรของคนไทย ความรักสามัคคี ความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ อาหารอร่อยที่หลากหลายและมีราคาถูก อัตลักษณ์ของความเป็นไทย การมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามทั้งทางบก ทางทะเล และภูเขา เป็นต้น ซึ่งต้องหาแนวทางสร้างมูลค่าจากวัฒนธรรมอัตลักษณ์ของไทย ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมผ่านการท่องเทียวเชิงวัฒนธรรม ควบคู่การสร้างสตอรีให้น่าสนใจมากขึ้นเหมือนต่างประเทศทำ อาทิ สอดแทรกผ่านละครหรือการแสดง เพื่อดึงดูดคนให้มาเที่ยว สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

นายกรัฐมนตรียังย้ำการปรับรูปแบบด้านเกษตร ปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และปริมาณน้ำ และผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค จำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ให้มากขึ้น และพัฒนาแรงงานให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้โดยที่ไม่ส่งผลกระทบให้คนตกงาน ขณะเดียวกันต้องเตรียมการเรื่อง cyber Security โดยการพัฒนาและจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านไซต์เบอร์รองรับและป้องกันภัยคุกคามทางไซต์เบอร์ เพื่อคงไว้ซึ่งอธิปไตยทางไซต์เบอร์ของประเทศ โดยภาครัฐและเอกชนมือกันด้วย

สำหรับการแถลงผลการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีประเด็นสำคัญ คือ คณะนักศึกษา วปอ. รุ่นที่ 62 มีแนวคิดในการจัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาประเทศเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในหัวข้อ Thailand : BEST for the best มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชากร ส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดี และมีการกระจายรายได้ที่ยุติธรรม โดยอาศัยพลังขับเคลื่อนหลัก 5 ประการ ภายใต้ตัวย่อ "BEST" ได้แก่ 1) Blue energy & EV Transformation อาทิ เสนอรัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการสร้างตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ 2) E-market platform การส่งเสริม (Enabler) การทำธุรกิจเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาด เพิ่มรายได้ และพัฒนาไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยข้อมูล (data driven economy) 3) Sustainable food & agriculture ใช้เงินลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท เพื่อเป้าหมายหลัก คือเพิ่มรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรจาก 98,000บาท/ปี เป็น 236,000บาท/ปี ภายในระเวลา 5 ปี ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ประชาชาติ (GDP) ให้ประเทศไทยได้ประมาณ 20% ผ่านแนวทางการขับเคลื่อน (1) ส่งเสริมการทำ smart & Precision Farming (2) เปลี่ยนแนวทางจากการอุดหนุนโดยรัฐ มาเป็นการให้ผลตอบแทนเพื่อจูงใจ (3) ส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการเกษตรของไทย 4) Tourism ใช้เงินทุนประมาณ 200,000 ล้านบาท ช่วยเพิ่มรายได้ประชาชาติ (GDP)ให้กับประเทศได้ประมาณ 30% ผ่านการขับเคลื่อน เช่น จัดตั้งองค์กรร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อดำเนินกิจการด้านศูนย์สุขภาพ (Medical Center) ส่งเสริการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง และ5) cyber Security คือการมีหลักประกันด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซต์เบอร์ และข้อมูลส่วนบุคคลที่มีประสิทธิภาพเพื่อคงไว้ซึ่งอธิปไตยทางไซต์เบอร์ของประเทศ ผ่านการขับเคลื่อนโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และแพลตฟอร์มที่คนไทยเป็นเจ้าของ เป็นต้น

----------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ