ไทยมุ่งมั่นสานต่อความยั่งยืนในภูมิภาค เสนอจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือ และใช้ประโยชน์จากกลไกและศูนย์ต่าง ๆ ในการตอบสนองต่อวิกฤตโควิด-19

ข่าวทั่วไป Monday November 16, 2020 13:34 —สำนักโฆษก

ไทยมุ่งมั่นสานต่อความยั่งยืนในภูมิภาค เสนอจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือ และใช้ประโยชน์จากกลไกและศูนย์ต่าง ๆ ในการตอบสนองต่อวิกฤตโควิด-19

วันนี้ (วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2563) เวลา 18.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ครั้งที่ 15 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำและผู้แทนประเทศที่เข้าร่วมจำนวน 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีเลขาธิการสหประชาชาติ ประธานกลุ่มธนาคารโลก และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมด้วย ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมว่าเป็นการกำหนดทิศทางและทบทวนความร่วมมือร่วมกัน รวมถึงบทบาทของ EAS ในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อหาแนวทางการตอบสนองและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

เลขาธิการสหประชาชาติยินดีที่ทุกประเทศให้ความสำคัญกับการจัดการเรื่องโควิด-19 และมีการรับมือที่ดี แต่โควิด-19 ส่งผลกระทบกับในวงกว้างหลายมิติ ทุกประประเทศจึงต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น การพัฒนาวัคซีนให้ทุกคนเข้าถึงได้ นอกจากนี้ UN ได้สนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนา เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั่วโลก นอกจากนี้ ปัญหาที่ต้องเผชิญร่วมกัน ยังมีอีกหลายประเด็น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างการพัฒนา

ประธานกลุ่มธนาคารโลก ยินดีที่ได้ร่วมมือกับทุกประเทศในการรับมือโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจถดถอย และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงถึงกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ ยังมีภัยคุกคามรวมถึงความท้าทายด้านความมั่นคงที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ธนาคารโลกได้จัดสรรเงิน ช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี สนับสนุนการรับมือโควิด-19 ยินดีที่ประเทศ G20 มีนโยบายให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารการจัดการภาระหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งธนาคารโลกพยายามอย่างสูงที่จะลดภาระให้กับประเทศเหล่านี้ ทั้งนี้ ประธานกลุ่มธนาคารโลกเชื่อมั่นว่าประเทศกลุ่ม EAS จะเป็นภูมิภาคแรกที่หลุดพ้นจากโควิด-19 ท่ามกลางความท้าทายธนาคารโลกยังคงเชื่อว่าทุกประเทศจะรับมือ และสู้กับโควิด-19 ไปด้วยกันได้

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 15 ปีของ EAS โดยที่ผ่านมา ทั้ง 18 ประเทศ ได้ใช้กลไกของ EAS ในการหารือประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการเสริมสร้างสันติภาพที่ถาวร และความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค ทั้งนี้ EAS มีความสำคัญในฐานะที่เป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันและสร้างความสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยมในการแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง ในขณะเดียวกัน ยังคงสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค

โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้เน้นย้ำหลักการของการดำเนินความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกภูมิภาคผ่านเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) โดยได้ระบุสาขาความร่วมมือที่ทุกประเทศสามารถได้รับประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ อาเซียนขอเชิญชวนให้ประเทศต่าง ๆ ขยายความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเล และการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยไทยพร้อมที่จะมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการเสริมสร้างความร่วมมือดังกล่าว เพื่อลดความขัดแย้ง และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืนในภูมิภาค

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยมุ่งมั่นที่จะสานต่อการเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ โดยจะมุ่งสานต่อการส่งเสริมความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 กับวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 รวมทั้งการนำถ้อยแถลงของผู้นำ EAS ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

ในบริบทของโควิด-19 นายกรัฐมนตรีเสนอให้จัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือ โดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญเร่งด่วน ได้แก่ ความมั่นคงด้านสาธารณสุข ความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยใช้ประโยชน์จากกลไกและศูนย์ต่าง ๆ ตลอดจนผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลและสร้างมาตรฐานด้านดิจิทัลร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างครบวงจร รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยใช้ประโยชน์จากศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ