นายกฯ พบ USABC ขอบคุณนักลงทุนสหรัฐฯ ที่เชื่อมั่น ลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Wednesday November 25, 2020 13:39 —สำนักโฆษก

นายกฯ พบ USABC ขอบคุณนักลงทุนสหรัฐฯ ที่เชื่อมั่น ลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563) เวลา 09.30 น. ณ ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุญาตให้ คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S. - ASEAN Business Council: USABC) ในรูปแบบกึ่งออนไลน์ (hybrid) โดยมีคณะนักธุรกิจบริษัทสมาชิก USABC จำนวน 28 บริษัท เข้าเยี่ยมคารวะที่กระทรวงการต่างประเทศ และคณะนักธุรกิจบริษัทสมาชิก USABC จำนวน 11 บริษัท เข้าเยี่ยมคารวะผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเป็นโอกาสในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ มีสมาชิกคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมการหารือด้วย ได้แก่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุป ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต้อนรับ นายอเล็กซ์ เฟลด์แมน ประธาน USABC นายเจฟฟ์ เลอร์แมน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Chevron Asia South และคณะผู้บริหาร USABC และผู้แทนบริษัทสมาชิก USABC ทุกท่าน ทั้งที่เข้าร่วมที่ทำเนียบรัฐบาลและผ่านระบบทางไกล ชื่นชมนายไมเคิล ดีซอมเบร เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ที่มีบทบาทอย่างแข็งขันในการส่งเสริมความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการพบปะหารือกับคณะผู้แทน USABC เป็นประจำทุกปีเปรียบเสมือนการพบเพื่อนเก่า และการพบกันครั้งนี้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเปรียบเสมือนเครื่องพิสูจน์ความใกล้ชิด และความพร้อมในการร่วมมือระหว่างกัน เชื่อมั่นว่าการพบกันในวันนี้จะเป็นโอกาสที่ดีในการกระชับความร่วมมือ ดำเนินนโยบายมองไปข้างหน้าร่วมกัน เพื่อฟื้นฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น

นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 และได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 8 ร่วมกับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ โรเบิร์ต โอไบรอัน ในฐานะผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้อาเซียน-สหรัฐฯ กระชับความร่วมมือใน 3 ประเด็น ซึ่งเชื่อมั่นว่า ภาคเอกชนสหรัฐฯ สามารถมีบทบาทสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือเหล่านี้ได้ ได้แก่ 1. การส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุข โดยให้ความสำคัญกับการวิจัย และการผลิตยาและวัคซีนต้านโควิด-19 2. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค ด้วยการสร้างความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานสินค้า และ 3. การพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต การฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาในสาขาใหม่ๆ และการพัฒนาทักษะภาษา

ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนยังได้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก ครอบคลุม 15 ประเทศ มี GDP รวมกันมูลค่ากว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 30 ของ GDP โลก ครอบคลุมตลาดที่มีจำนวนประชากรรวมกว่า 2.2 พันล้านคน โดยความตกลงดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นประโยชน์และโอกาสให้แก่ภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ดำเนินธุรกิจและมีการลงทุนในไทยด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงพัฒนาการที่สำคัญของนโยบายไทย กล่าวคือ ไทยดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างจริงจังต่อเนื่อง ไทยมีจุดแข็งด้านระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ได้รับการยอมรับในแวดวงผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของไทยในด้านสาธารณสุขอันเป็นผลจากการลงทุน ในด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความร่วมมือกับ CDC (Centres for Disease Control and Prevention) และ AFRIMS (Armed Forces Research Institute of Medical Sciences) ของสหรัฐฯ ประกอบกับประสบการณ์รับมือการแพร่ระบาดช่วงโรคซารส์ เมื่อปี 2546

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท (เท่ากับ 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยได้ดำเนินมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และมาตรการช่วยเหลือทางภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับภาคธุรกิจ มาตรการช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งในส่วนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลให้ความสาคัญกับการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น การสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะการสนับสนุนเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย โครงการ ?คนละครึ่ง? และโครงการ ?เราเที่ยวด้วยกัน? เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้และการจ้างงานที่สำคัญของไทย

นอกจากนี้ รัฐบาลมองไปข้างหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกยุคหลังโควิด-19 ให้ความสำคัญกับแนวคิด ?สามใหม่? (Three New) ซึ่งได้นำเสนอในการประชุม ASEAN ที่ผ่านมา เป็นแนวทางในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ภายใต้วิถีปกติใหม่ ได้แก่ 1. การส่งเสริมการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน 2. การแสวงหาพลังเศรษฐกิจใหม่โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นจุดแข็งของภูมิภาค และ 3. การสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจใหม่ ที่เน้นการเชื่อมโยงและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ประชาชนและธุรกิจรายย่อยสามารถเข้าถึงได้ ทั้งสามด้านจะประสบความสำเร็จได้เมื่อทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมต่อการลงทุน หากมีการเอื้ออำนวยและส่งเสริมสภาวะแวดล้อมที่ดีต่อการลงทุน ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านการลงทุนอย่างยิ่งในโลก พร้อมกล่าวชื่นชมการรับมือกับการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของไทย ที่ประสบสำเร็จและได้รับการยอมรับเป็นที่ประจักษ์

ประธาน USABC กล่าวชื่นชมการจัดการโรคโควิด-19 ของรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนของสหรัฐฯ โดยไทยเป็นตลาดการค้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูอาเซียนภายหลังโรคโควิด-19 ทั้งนี้ USABC ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแสวงหาความร่วมมือใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข 2) สร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค 3) การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยินดีร่วมมือกับไทยในการแจกจ่ายวัคซีนอย่างทั่วถึงและราบรื่น พร้อมหวังว่าประเทศไทยจะเปิดเสรีในการเดินทางข้ามพรมแดนมากขึ้นเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณผู้เข้าร่วม ชื่นชมทุกบริษัทที่ล้วนเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกอย่างดีที่สุด และย้ำไทยให้ความสำคัญ โครงการ EEC ขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ร่วมขยายการลงทุน ยินดีที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ เชื่อมั่นสนใจเพื่มการลงทุนในไทย และที่ EEC อย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง ในช่วงการตอบคำถามนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนที่ไทยให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ความมั่นคงด้านสาธารณสุข ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับภาคเอกชน และประชาสังคม ซึ่งหวังว่าจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากนักธุรกิจสหรัฐฯ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ