ศบศ. เตรียมเสนอครม. อนุมัติ “คนละครึ่ง” เฟซ 2 เปิดลงทะเบียน 5 ล้านคน เพิ่มวงเงินเป็น 3,500 บาท ตั้งแต่มกราคม-มีนาคม พร้อมเปิด “เที่ยวไทยวัยเก๋า” ส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอาย

ข่าวทั่วไป Wednesday December 2, 2020 14:26 —สำนักโฆษก

ศบศ. เตรียมเสนอครม. อนุมัติ ?คนละครึ่ง? เฟซ 2 เปิดลงทะเบียน 5 ล้านคน เพิ่มวงเงินเป็น 3,500 บาท ตั้งแต่มกราคม-มีนาคม พร้อมเปิด ?เที่ยวไทยวัยเก๋า? ส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ

วันนี้ (2 ธ.ค. 63) เวลา 15.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แถลงผลการประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 6/2563 ดังนี้

ทั้งนี้ นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยที่ประชุม ศบศ. เห็นชอบ ว่า มาตรการคนละครึ่ง ระยะที่สอง โดยจะมีรูปแบบเช่นเดียวกับระยะแรก คือ ภาครัฐจะร่วมจ่ายร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน โดยมาตรการ ระยะที่สอง จะมีรายละเอียดเพิ่มเติม คือ 1. เปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิเพิ่มเติมจำนวน 5 ล้านคน ระยะเวลาการใช้เงินตั้งแต่เดือนมกราคม ? มีนาคม 2564 โดยจะได้รับวงเงินคนละ 3,500 บาท และ 2. เพิ่มวงเงินผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งระยะที่หนึ่ง อีกคนละ 500 บาท และจะขยายระยะเวลาการใช้สิทธิมาตรการระยะที่หนึ่งออกไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ผู้ที่ถูกตัดสิทธิจากโครงการคนละครึ่ง ระยะที่หนึ่ง สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการระยะที่สองได้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินกู้ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาอนุมัติหลักการเห็นชอบต่อไป ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้เห็นชอบมาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน โดยมีระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนมีนาคม 2564

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยังเผยว่า ศบศ. เห็นชอบปรับปรุงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ดังนี้ (1) ปรับปรุงขอบเขตการใช้สิทธิจำนวนการจองห้องพักจากเดิมประชาชนจองที่พักได้ไม่เกิน 10 คืน (Room night) ต่อ 1 สิทธิ เพิ่มเป็น 15 คืน (Room night) ต่อ 1 สิทธิ (2) เพิ่มจำนวนห้องพักในโครงการจากเดิม 5 ล้านคืน เป็น 6 ล้านคืน ทั้งนี้ จำนวนห้องที่เพิ่มมาจะสนับสนุนเฉพาะ E-voucher แต่ไม่อุดหนุนเรื่องค่าเครื่องบิน (3) ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิโครงการถึง 30 เมษายน 2564 (4) ขยายช่วงเวลาการจองที่พัก จากเวลา 06.00 ? 21.00 น. เป็นเวลา 06.00 ? 24.00 น. (5) เพิ่มโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตฯ ธุรกิจโรงแรม แต่มีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการและพยุงการจ้างงาน (6) อนุมัติให้ธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวสามารถใช้ระบบคูปองออนไลน์ (E-Voucher) ได้ ประกอบด้วย ธุรกิจสปา นวดเพื่อสุขภาพหรือธุรกิจการขนส่งภาคท่องเที่ยว (7) ปรับปรุงเกณฑ์สนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบินจากเดิมรัฐสนับสนุนร้อยละ 40 แต่สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อ 1 สิทธิ เป็นสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อ 1 สิทธิ เฉพาะการเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เนื่องการภาคการท่องเที่ยวต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ และเชียงราย และ (8) กำหนดหลักเกณฑ์การลาสำหรับข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลาพักร้อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลาเมื่อใช้สิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

พร้อมปรับปรุงโครงการกำลังใจ ดังนี้ (1) เปิดให้บริษัทนำเที่ยวที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้เพิ่มเติมโดยใช้หลักเกณฑ์เดิมของโครงการ (2) บริษัทนำเที่ยวที่กรอกรายการนำเที่ยวไม่ครบ 15 รายการ สามารถกรอกเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ หากกรอกครบ 15 รายการแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมได้อีก เพื่อเป็นการกระตุ้นให้บริษัทนำเที่ยวลงทะเบียน และ (3) ระยะเวลาที่จะเปิดให้สมัครเข้าร่วมโครงการและกรอกรายการนำเที่ยวภายใน 15 ธันวาคม 2563

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบโครงการ ?เที่ยวไทยวัยเก๋า? ส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ เงื่อนไขโครงการ ผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป และต้องเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัดเฉพาะวันธรรมดา (เข้าพักในวันอาทิตย์ถึงวันพฤหัสบดี) ผ่านบริษัทนำเที่ยว โดยโปรแกรมการท่องเที่ยวต้องมีราคาขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 12,500 บาทต่อคน/โปรแกรม และระยะเวลาการเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน 2 คืน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายผ่านบริษัทนำเที่ยวในลักษณะร่วมจ่าย ไม่เกิน ร้อยละ 40 และไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน ผู้ที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันสามารถใช้สิทธิในโครงการนี้ได้เช่นกัน แต่จะใช้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น สำหรับเงื่อนไขของบริษัทนำเที่ยวที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องจดทะเบียนดำเนินธุรกิจ ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 เนื่องจากต้องการช่วยเหลือบริษัทนำเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างแท้จริง โดยบริษัทนำเที่ยวสามารถรับนักท่องเที่ยวผ่านโครงการได้ไม่เกิน 3,000 ราย มีระยะเวลาการดำเนินการ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เป้าหมายคาดว่าจะมีกลุ่มผู้สูงอายุเดินทางท่องเที่ยวจำนวน 1 ล้านคน โดยใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณเดิมภายใต้โครงการเราเที่ยวด้วยกัน

โอกาสนี้ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังกล่าวว่า สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ตรวจราชการของนายกรัฐมนตรีและการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อรับฟังความเดือดร้อนจากภาคเอกชน นายกรัฐมนตรีมอบหมายคณะที่ปรึกษาประสานงานร่วมกับภาคเอกชน สภาหอการค้าที่จังหวัดภูเก็ต และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำมาตรการช่วยเหลือระยะสั้น อาทิ การส่งเสริมนักท่องเที่ยวชาวไทยให้เดินทางไปจังหวัดภูเก็ตมากขึ้น ดึงดูดให้มีการท่องเที่ยวในวันธรรมดา การกระตุ้นเรื่องตั๋วเครื่องบิน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้มีท่องเที่ยวทางรถยนต์ รสบัส และมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน รวมถึงมาตรการระยะสั้นสำหรับตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะเร่งรัดดำเนินการ Ease of traveling หรือการอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติที่เดินทางมาจังหวัดภูเก็ต ภายใต้มาตรการคัดกรองโรคที่รัดกุม พร้อมขอให้ภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ จัดประชุม สัมมนา ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ภูเก็ต พังงา กระบี่ และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมหารือกระบวนการขั้นตอนวีซ่าประเภทต่าง ๆ ให้อำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางกลับมาประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มชาวต่างชาติที่มีคู่สมรสเป็นชาวไทย หรือมีที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย เป็นต้น

ทั้งนี้ เลขา สศช. ขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการต่างๆ ไม่ฉวยโอกาสเอาเปรียบประชาชน โดยผู้ว่า ททท. ย้ำว่า ทุกกรณีสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ หากพบส่อแววผิดปกติ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยดำเนินการอย่างเด็ดขาดด้วย

---------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ