นายกฯ แจงจัดทำงบปี 65 แบบขาดดุลไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและความยั่งยืนทางการคลัง ขับเคลื่ อนประเทศพ้นวิกฤติโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับมาเติบโตปกติ

ข่าวทั่วไป Monday January 11, 2021 13:31 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แจงจัดทำงบปี 65 แบบขาดดุลไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและความยั่งยืนทางการคลัง เพื่อขับเคลื่อนประเทศพ้นวิกฤติโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับมาเติบโตปกติตามศักยภาพ

วันนี้ (11 ม.ค.64) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) โดยกล่าวถึงแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ว่า จะมีความต่อเนื่องจากงบประมาณปี พ.ศ. 2564 โดยยังคงเป็นงบประมาณแบบขาดดุลในจำนวนที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและความยั่งยืนทางการคลัง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวพ้นจากภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้อย่างปกติตามศักยภาพ

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ซึ่งมีจำนวน 3,285,962.5 ล้านบาท) เป็นจำนวน 185,962.5 ล้านบาท เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ประมาณการว่าจะจัดเก็บได้ จำนวน 2,400,000 ล้านบาท ลดลงจากประมาณการการจัดเก็บในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 277,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบกับการดำเนินมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว รวมถึงการชะลอการดำเนินมาตรการภาษีบางมาตรการภายใต้แผนการปฏิรูปภาษี ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 91,037.5 ล้านบาท

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานดำเนินการดังนี้ 1) บริหารงบประมาณรายจ่ายประจำอย่างประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานให้มากขึ้น 2) ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิต 3) ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 4) จัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำถึงประเด็นสำคัญในการจัดทำคำของบประมาณปี พ.ศ. 2565 ตามแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ 4 ประเด็น ที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประกอบด้วย (1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) เช่น ส่งเสริมการจ้างงาน การช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพ SME ฯลฯ (2) การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจร การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และเน้นคุณภาพ การยกระดับภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง การปรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ฯลฯ (3) การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital) เช่น การยกระดับ ปรับทักษะ และส่งเสริมการเรียนรู้ การขยายและพัฒนาระบบหลักประกันทางสังคม การเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ และ(4) การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ การปรับปรุงกฎหมายและส่งเสริมภาครัฐดิจิทัล การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม การเสริมสร้างความมั่นคงและการบริหารจัดการความเสี่ยง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีการพัฒนา เป็นต้น

-------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ