นายกรัฐมนตรีประชุมบอร์ด กพช. ย้ำรัฐบาลเดินหน้าความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เตรียมพร้อมรองรับการพัฒนาด้านพลังงานในอนาคต

ข่าวทั่วไป Thursday April 1, 2021 14:30 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีประชุมบอร์ด กพช. ย้ำรัฐบาลเดินหน้าความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เตรียมพร้อมรองรับการพัฒนาด้านพลังงานในอนาคต

วันที่ 1 เมษายน 2564 เมื่อเวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2564 ร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายการดำเนินงานด้านพลังงานต่อที่ประชุม กพช. ว่า วันนี้โลกเปลี่ยนไปมาก ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ก็มีมากโดยเฉพาะด้านพลังงาน ทั้งพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน รวมความถึงปัญหาความขัดแย้งในหลายพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งพลังงาน ที่อาจจะเป็นปัญหาในอนาคตด้วย จึงต้องร่วมกันคิดเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา หาแนวทางปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศในอนาคต โดยภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ตลอดจนหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง จะต้องร่วมมือกันทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะเรื่องพลังงานเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างด้านเศรษฐกิจของประเทศด้วย ทั้งนี้ ในวันนี้มีปัญหาที่ประชาชนยังไม่เข้าใจถึงแหล่งที่มาของพลังงาน มีความเข้าใจที่ผิดว่าไทยสามารถผลิตพลังงานได้เอง แต่นำมาขายภายในประเทศในราคาแพง จึงต้องมีการชี้แจงถึงสัดส่วนพลังงานที่มาจากภายนอกประเทศ พลังงานที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ และพลังงานที่ผลิตในประเทศแต่ไม่สามารถใช้ได้ภายในประเทศจึงต้องส่งออก โดยต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจอย่างชัดเจน เพื่อแก้ไขปัญหาการบิดเบือนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการดำเนินงานด้านพลังงานที่ต้องคำนึงถึงตั้งแต่ต้นทางคือการนำเข้าพลังงาน เพื่อมาแปรรูปในกลางทาง จนถึงปลายทางคือผู้บริโภค ซึ่งการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ต้องแก้ปัญหาเรื่องการผูกขาดด้านพลังงาน ให้สามารถมีการนำเข้าพลังงานได้โดยต้องเป็นไปตามกติกาที่กำหนด ทั้งนี้ ในปัจจุบันโลกยุคใหม่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี 5G ทำให้มีการให้โซเชียลมีเดียอย่างมาก มีการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนที่มากขึ้น ส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลกำลังเดินหน้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมแผนรองรับการใช้พลังงานที่มากขึ้นไว้ด้วย

?ท่านนายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลเดินหน้าเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน และพลังงานสะอาด เพื่อลดภาวะโลกร้อน และลดปัญหา PM2.5 และเตรียมพร้อมแผนแม่บทด้านพลังงานในระยะต่อไป เพื่อรองรับการพัฒนาด้านพลังงานในอนาคต โดยจะต้องสร้างความโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น และท่านนายกฯ ยังขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน ที่ร่วมกันเดินหน้าทำงานเพื่อพัฒนางานด้านพลังงานของประเทศไทยให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง? โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ กพช. มีมติ เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 แบ่งออก 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามแนวทางที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. กำหนด (Regulated Market) ซึ่งประกอบด้วย ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติจาก Old Supply และ Shipper ที่จัดหา LNG เพื่อนำมาใช้กับภาคไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ และ 2) กลุ่มที่จัดหา LNG เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง (Partially Regulated Market) พร้อมกับเห็นชอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2018 (Rev.1) จากศักยภาพของโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ และ LNG Terminal ทั้งที่มีอยู่และที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานฯ เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าในเขตนครหลวง 5,420 MW โดยให้ กฟผ. ปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (F-1) ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เป็นร่วมลงทุนกับ ปตท. สัดส่วน 50 : 50 ในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ต.หนองแฟบ จ. ระยอง ขนาด 7.5 MTPA และเห็นชอบให้ ปตท. เป็นผู้ดำเนินการโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าตามแผน PDP2018 (Rev.1) และยกเลิกสถานีเพิ่มความดันก๊าซฯ (Compressor) บนระบบท่อส่งราชบุรี-วังน้อย และโครงการสถานีเพิ่มความดันก๊าซฯ (Compressor) กลางทาง บนระบบท่อส่ง บนบกเส้นที่ 5

กพช. ยังเห็นชอบนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้า ปี พ.ศ. 2564 ? 2568 และกรอบแนวทางการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟ เพื่อให้ กกพ. ไปจัดทำรายละเอียดในการกำกับดูแลและกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนในการให้บริการของกิจการไฟฟ้าอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทั้งผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม เพื่อให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงบริบทของอุตสาหกรรมไฟฟ้า อันเกิดจากนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทาง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ามีความเกื้อหนุนต่อการรักษาประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศโดยรวม

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ