นายกฯ ร่วมประชุม P4G ผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการพัฒนาอย่างสมดุล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday May 31, 2021 16:30 —สำนักโฆษก

นายกฯ ร่วมประชุม P4G ผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการพัฒนาอย่างสมดุล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยั่งยืน

วันนี้ (31 พฤษภาคม 2564) เวลา 20.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมประชุมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำกรอบหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียว และเป้าหมายโลกปี ค.ศ. 2030 ครั้งที่ 2 ( 2nd Partnering for Green Growth and Global Goals 2030 Summit : 2nd P4G Summit) ซึ่งประเทศเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ ผ่านระบบวีดิทัศน์แบบถ่ายทอดสด ภายใต้หัวข้อหลัก ?การฟื้นฟูสีเขียวอย่างครอบคลุมเพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน? (Inclusive Green Recovery towards Carbon Neutrality) โดยนอกจากนายกรัฐมนตรีไทยแล้ว มีผู้นำ ผู้แทน ประเทศ กลุ่มประเทศ และองค์การระหว่างประเทศร่วมกล่าวถ้อยแถลงด้วย ดังนี้ เกาหลีใต้ เดนมาร์ก โคลอมเบีย สหภาพยุโรป เวียดนาม เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กัมพูชา ออสเตรีย คอสตาริกา และเปรู ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีถือว่าการประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูจากโควิด-19 อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาคมโลกในทุกมิติ ดังนั้น การฟื้นฟูจากโควิด-19 จำเป็นต้องสอดคล้องกับการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SGDs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องหลักสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งครอบคลุมทั้งมนุษย์และธรรมชาติ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ เน้นการเสริมสร้างพลังของประชาชน สร้างความต้านทาน และส่งเสริมความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพื่อให้การพัฒนาประเทศมีความครอบคลุมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาของไทย ซึ่งได้ประกาศให้การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นอีกหนึ่งแนวทางฟื้นฟูประเทศจากโควิด-19 ให้กลับมาเข้มแข็งและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสียทรัพยากรตลอดห่วงโซ่การผลิต และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายด้วยการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านกลไกจตุภาคี ที่ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน ซึ่งเชื่อว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG สอดคล้องกับเป้าประสงค์หลักของการประชุมครั้งนี้ และตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมความร่วมมือ และสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับประชาคมระหว่างประเทศในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบเอเปค (APEC) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า

ด้านสิ่งแวดล้อม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในเวทีระหว่างประเทศชะงัก ซึ่งไทยขอใช้โอกาสนี้สนับสนุนให้ทุกประเทศเร่งดำเนินการตามพันธกรณีต่างๆ เพื่อรับมือกับความท้าทาย และแสดงเจตจำนงร่วมกันผลักดันการประชุมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุม COP 26 ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ที่สหราชอาณาจักร เพื่อให้มีผลลัพธ์เป็นรูปธรรม

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงแนวทางของไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งครอบคลุมการดำเนินการในทุกมิติที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายให้มีการใข้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ จำนวน 15 ล้านคัน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมดในประเทศ ภายในปี 2578 รวมทั้งจะปลูกต้นไม้ยืนต้นร้อยล้านต้น เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดขยะบนบก ขยะทะเล ตามยุทธศาสตร์ และแผนแม่บทที่รัฐบาลกำหนด

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ พร้อมกล่าวเชิญชวนทุกประเทศให้ร่วมกันหารือวางแนวทางความร่วมมือใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการเติบโตสีเขียวอย่างแท้จริงและยั่งยืน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวชื่นชมและพร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัสของเกาหลีใต้ (New Southern Policy Plus - NSPP) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย

โดยในตอนท้ายของการประชุมประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้กล่าวสรุป และที่ประชุมได้รับรองปฏิญญากรุงโซล (Seoul Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศที่ร่วมการประชุม P4G ครั้งที่ 2 มีสาระสาคัญ ดังนี้ 1. การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างบทเรียนต่อการรับมือกับวิกฤตภูมิอากาศของโลก และความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน 2. มุ่งมั่นรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามที่ได้ประกาศในการประชุมระดับผู้นำระหว่างประเทศในเวทีต่าง ๆ และหวังที่จะสานต่อความมุ่งมั่นดังกล่าวในการประชุม G7 G20 และการประชุมระหว่างประเทศ รวมถึงการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) 3. ความสำคัญของการฟื้นฟูสีเขียว การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีสีเขียว และการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และส่งเสริมการรับมือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม 4. ย้ำเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนใน 5 ด้าน ได้แก่ น้ำสะอาด พลังงานสะอาด อาหารและเกษตรกรรม เมืองสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน 5. ย้ำเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการฟื้นฟูสีเขียวและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ