รองนายกฯ พลเอก ประวิตรฯ หารือ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ย้ำไทยให้ความสำคัญ ต่อต้านการประมง IUU และส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Thursday May 19, 2022 15:39 —สำนักโฆษก

รองนายกฯ พลเอก ประวิตรฯ หารือ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ย้ำไทยให้ความสำคัญ ต่อต้านการประมง IUU และส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน

วันนี้ (19 พฤษภาคม 2565) เวลา 10.00 น. ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเดวิด เดลี (Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ สรุปสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีต้อนรับเอกอัครราชทูตอย่างเป็นทางการ และได้ชื่นชมเอกอัครราชทูตที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน จึงขออวยพรให้เอกอัครราชทูตประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ ส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรปได้อย่างสมดุล สร้างสรรค์ และเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์แก่ประเทศ และประชาชน โดยรองนายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรป ที่ราบรื่น ครอบคลุมในทุกมิติ ไทยยึดมั่นในค่านิยมร่วมกับสหภาพยุโรป และการเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันเพื่อประโยชน์ร่วมของทั้งสองฝ่าย

เอกอัครราชทูตฯ ยินดีที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะรองนายกรัฐมนตรีในวันนี้ เห็นพ้องกับรองนายกรัฐมนตรีถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ เชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยจะนำมาซึ่งความเกื้อกูล และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างประเทศและภูมิภาคทั้งสอง โดยยืนยันความมุ่งมั่นที่จะลงนามความตกลง Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement (PCA) ซึ่งถือเป็นขั้นต่อไปของกรอบความมือ ประสงค์ที่จะได้ร่วมมือด้านการค้า มี FTA กับไทย และยืนยันการเพิ่มพูนความร่วมมือกับไทยในทุกมิติ

ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็น ดังนี้

ด้านสิ่งแวดล้อม รองนายกรัฐมนตรีและเอกอัครราชทูตฯ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสหภาพยุโรปเชื่อว่าเป็นประเด็นที่สำคัญมาก โดยทั้งสองฝ่ายมีแนวนโยบายที่สอดคล้องกันและสามารถแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีระหว่างกันได้ แผนปฏิรูปยุโรปสีเขียว (European Green Deal) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย ซึ่งฝ่ายเอกอัครราชทูตฯ ชื่นชมการแสดงเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีในการประชุม COP26 ที่ผ่านมา

ความร่วมมือเพื่อต่อต้านการประมง IUU รองนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการต่อต้านการประมง IUU และส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน โดยไทยจะนำข้อแนะนำจากสหภาพยุโรปไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อยกระดับ และบูรณาการการทำงานของหน่วยงานไทยต่อไป ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ กล่าวว่าทราบดีว่าเป็นประเด็นที่มีความยากลำบากในการทำงานแก้ไข เห็นความคืบหน้า และเชื่อมั่นว่าผลจากการมุ่งมั่นทำงานของรองนายกรัฐมนตรีจะเกิดผลที่ดีกับประเทศชาติและประชาชน

ในตอนท้าย เอกอัครราชทูตฯ กล่าวชื่นชมมาตรการการจัดการของไทยในการควบคุม และฟื้นฟูประเทศต่อสู้กับโรคโควิด -19 ซึ่งนอกเหนือจากการจัดการโรคโควิด ? 19 ซึ่งเป็นความท้าทายระหว่างประเทศ ยังมีประเด็นความมั่นคงซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจในโลกด้วย ซึ่งในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายห่วงกังวลอย่างสร้างสรรค์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ