รองนายกฯ อนุทิน นำคณะผู้บริหารสาธารณสุขและ สปชส. ศึกษาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าญี่ปุ่น เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นและJICA ที่สนับสนุนการพัฒนาเพื่อดูแลสุขภาพคนไทย

ข่าวทั่วไป Monday November 14, 2022 15:21 —สำนักโฆษก

รองนายกฯ อนุทิน นำคณะผู้บริหารสาธารณสุขและ สปชส. ศึกษาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าญี่ปุ่น เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นและJICA ที่สนับสนุนการพัฒนาเพื่อดูแลสุขภาพคนไทย พร้อมหารือ 2 ฝ่ายติดตามการทำงานศูนย์ ACPHEED ในไทย

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 13-18 พ.ย. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำคณะซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ประธานกรรมการตรวจสอบ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข อาทิ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.พงศ์เกษม ไข่มุก รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ เข้าร่วมการศึกษาดูงานด้านหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสปสช. ของไทย กับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ด้านสุขภาพโลกและการประกันสุขภาพถ้วนหน้า

โดยวันนี้(14 พ.ย. 65) นายอนุทิน ได้นำคณะเข้าร่วมการต้อนรับการศึกษาดูงาน ที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ พร้อมกับเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลญี่ปุ่นและJICA ที่เชิญประเทศไทยเข้าร่วมโครงการความร่วมมือนี้ ซึ่งเป็นโอกาสที่คณะเจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ประเทศได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่ความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขรองรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ใน 3 ปีที่ผ่านมาได้ชี้ชัดแล้วว่า ระบบสุขภาพที่แข็งแกร่งคือสิ่งสำคัญที่ปกป้องชีวิตของคนทั่วโลก

นายอนุทิน กล่าวว่า โควิด19 ได้เผยให้เห็นว่าปัญหาด้านสาธารณสุขเป็นความท้าท้ายของทุกประเทศ เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดจำเป็นที่ต้องมีความร่วมมือทั้งในและระหว่างประเทศในการดูแลแก้ไข ซึ่งญี่ปุ่นเองเป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ รวมถึงการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) รวมถึงการดูแลระบบสังคมผู้สูงอายุ ที่ไทยสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ให้ระบบของไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

?ความร่วมมือภายใต้โครงการนี้ระหว่างไทยและญี่ปุ่นเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 โดยขณะนี้ดำเนินการเป็นระยะที่2 ซึ่งการศึกษาดูงานนับเป็นโอกาสอันดีที่เจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทย ญี่ปุ่น จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน ผมมั่นใจว่าประสบการณ์และบทเรียนที่เราที่ได้รับจากประเทศญี่ปุ่นจะช่วยกำหนดรูปแบบการทำงานทั้งการรักษาพยาบาลและการบริหารกองทุน สปสช. ของไทยให้เข้มแข็งขึ้นอีก รัฐบาลไทยขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่น และJICA ที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาด้านต่างๆ ของไทยด้วยดีเสมอมา? นายอนุทิน กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในโอกาสนี้นายอนุทิน และคณะได้พบหารือกับ นาย Kato Katsunobu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ญี่ปุ่น พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ในประเด็นการขยายความร่วมมือด้านสาธารณสุขของ 2 ประเทศด้ว

ทั้งนี้ 2 ฝ่ายได้หารือถึงการสนับสนุนภารกิจของสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียน ด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ที่ประเทศไทย ซึ่งการริเริ่มโครงการนี้ญี่ปุ่นได้สนับสนุนงบประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผ่านกองทุน Japan ASEAN Integration Fund (JAIF) สำหรับการศึกษาจัดตั้งศูนย์ฯ ซึ่งขณะนี้สมาชิกอาเซียนอยู่ระหว่างการจัดทำ Establishment Agreement (EA) ของศูนย์ฯ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จและมีการลงนาม EA แล้ว ญี่ปุ่นยินดีที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมขับเคลื่อนภารกิจของ ACPHEED กับประเทศไทยและสมาชิกอาเซียนในทุกด้าน

พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุขไทยมีความยินดีที่ญี่ปุ่นจะเป็นประธานการจัดประชุม G7 Summit ในปี 2023 ซึ่งได้มีการจัดตั้ง ?Hiroshima G7 Global Health Task Force? ขึ้นเพื่อการขับเคลื่อนประเด็นด้านสาธารณสุข ซึ่งญี่ปุ่นได้เชิญประเทศไทยเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน (Task Force) ในประเด็นขับเคลื่อนต่างๆ ด้วย ซึ่งฝ่ายไทยยินดีที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วม อันจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและไทย รวมทั้งเป็นการพัฒนาขีดความสามารถด้าน Global Health ของญี่ปุ่นและไทย ในระดับโลกด้วย

นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายยังได้หารือถึงความร่วมมือการวิจัยด้านมะเร็ง ซึ่งโรงพยาบาลภายใต้ National Cancer Institute ของญี่ปุ่นมีความสนใจจะดำเนินโครงการ Asian Cancer Trials Network (ATLAS) เพื่อพัฒนายาที่เป็นองค์ความรู้ของเอเชียพร้อมกับพัฒนา Genomic Medicine และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และ โครงการ Decentralized Clinical Trials (DCT) ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยการรักษาผู้ป่วยมะเร็งผ่านระบบ Telemedicine ซึ่งฝ่ายไทยได้มอบหมายให้สถาบันมะเร็ง กรมการแพทย์เป็นผู้ประสานงานต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ