"อนุชา" หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ย้ำไทยพร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Thursday November 24, 2022 15:48 —สำนักโฆษก

"อนุชา" หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ย้ำไทยพร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (24 พฤศจิกายน 2565) เวลา 10.30 น. ณ โรงแรม Inter Continental Grand Ho Tram จังหวัดบ่าเหรียะ-หวุงเต่า นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. และคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมคณะมนตรี คณะกรรมธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 29 และการประชุมระหว่างคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 27

นายอนุชา กล่าวถ้อยแถลงร่วมของกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนาว่า ในนามของรัฐบาลไทยและหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมการประชุมในวันนี้ และยินดีที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมในแบบพบหน้ากันเต็มรูปแบบหลังจากที่การประชุมถูกจัดในรูปแบบออนไลน์เป็นจำนวน 2 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขอขอบคุณกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ประเทศคู่เจรจา และพันธมิตรทั้งหลายที่ให้ความร่วมมือ เสียสละเวลา ความรู้ ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนและวิชาการเพื่อดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนภายใต้ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและตอบสนองต่อข้อห่วงกังวลระดับภูมิภาคและระดับโลก

นายอนุชา ชื่นชมผลงานและความสำเร็จของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในปี 2565 ที่ผ่านมาที่ได้จัดทำคู่มือแนวทางการออกแบบเบื้องต้นสำหรับเอนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน เวอร์ชัน 3.3 ซึ่งเป็นการปรับแก้ไขโดยถอดบทเรียนจากคู่มือ ฉบับปี 2552 การนำแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนไปประยุกต์ใช้โดยสมัครใจ ถือเป็นเครื่องมือสำหรับประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดจากการพัฒนาในแม่น้ำโขงสายประธาน รวมถึงการพิจารณาทบทวนเครือข่ายหลักในการติดตามและเฝ้าระวังแม่น้ำโขง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสถานีติดตามเฝ้าระวัง ความคุ้มทุน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำของการติดตามและประเมินการเปลี่ยนแปลงในลุ่มน้ำโขง เกิดผลลัพธ์ของการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อเป้าหมายร่วมของประเทศสมาชิกและเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการปกป้องและรักษาทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

นายอนุชา กล่าวว่า ทุกคนต่างตระหนักดีว่าบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรอื่น ๆ ในลุ่มน้ำโขง ปัจจุบันการบริหารจัดการทรัพยากรดังกล่าวต้องเผชิญกับความท้าทายเร่งด่วนต่าง ๆ ได้แก่ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เริ่มเด่นชัดขึ้น ไวรัสโคโรนา 2019 ภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงความท้าทายของความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ทุกคนเข้าใจว่ามีการดำเนินโครงการพัฒนาจำนวนหลายโครงการบนลุ่มน้ำโขงเพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านั้น ประเทศสมาชิกตระหนักถึงผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดจากการพัฒนาในลุ่มน้ำโขงซึ่งมีนัยยะสำคัญและอาจส่งผลเชิงลบต่อประชนในลุ่มน้ำโขง ดังนั้น จึงต้องดำเนินกระบวนการ PNPCA อย่างเข้มข้นเพื่อให้มีการดำเนินการอย่างรอบคอบและมีข้อมูลอย่างสมบูรณ์ เพียงพอครบถ้วน ต่อการพิจารณาโครงการ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการคงไว้ซึ่งความสมดุลระหว่างระบบนิเวศและวิถีการดำเนินชีวิตของประชากรริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างเท่าเทียมและเป็นการสร้างความพร้อมสำหรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของประเทศสมาชิก MRC เพื่อให้เป็นไปตามคำขวัญที่ว่า "One Mekong One Spirit"

นายอนุชา ย้ำ ประเทศไทยส่งเสริมความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาเพื่อรับมือกับภัยอันตรายจากน้ำและภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องต่อการดำรงชีวิตและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค นอกจากนี้ ประเทศไทยสนับสนุนการยกระดับและการกระชับความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนา ประเทศคู่เจรจา องค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาคและนานาชาติ รวมถึงพันธมิตรอื่น เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแสวงหากลไกที่เหมาะสมซึ่งครอบคลุมถึงโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว นวัตกรรม เทคโนโลยี และความรับผิดชอบเพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการพัฒนา รวมถึงต้งการที่จะเห็นการประสานงานอย่างใกล้ชิด ความร่วมมือ และการดำเนินการแบบบูรณาการผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล การศึกษาและวิจัยร่วมกันเพื่อประโยชน์โดยตรงของประชาชนในภูมิภาคและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงในลุ่มน้ำโขงผ่านบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในฐานะ "ศูนย์กลางความรู้และข้อมูลของอนุภูมิภาค" ยกระดับความมุ่งมั่นให้แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำแห่งความมั่งคั่ง เชื่อมโยงและยั่งยืน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ