นายกฯ ร่วมประชุมในหัวข้อ Partners for Co-creation and Economy and Society of the Future

ข่าวทั่วไป Sunday December 17, 2023 13:44 —สำนักโฆษก

ย้ำ 3 ประเด็นสำคัญ การเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ เศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล และ ความร่วมมือด้าน e-commerce

วันนี้ (17 ธันวาคม 2566) เวลา 12.50 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชม. ณ โรงแรม Okura Tokyo นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมฯ ช่วงที่ 2 การหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน ในหัวข้อ Partners for Co-creation and Economy and Society of the Future ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การร่วมสร้างสรรค์ (co-creation) ก่อให้เกิดศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สามารถสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน และเกิดความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างคู่แข่งได้ ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และคาดว่าอาเซียนเองจะมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ในปี 2573 ซึ่งอาเซียนและญี่ปุ่นมีศักยภาพอย่างมากที่จะร่วมสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับคนรุ่นใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็น ดังนี้

ประการแรก การเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ (seamless connectivity) เป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพ และส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ประเทศไทยสนับสนุน ASEAN-Japan Comprehensive Connectivity Initiative เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางกายภาพ ดิจิทัล และความรู้ การลงทุนเกือบ 3 ล้านล้านเยนของญี่ปุ่นในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพในอาเซียนถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของญี่ปุ่น และไทยสนับสนุนให้มีการลงทุนมากยิ่งขึ้นในอนาคต

โดยสิ่งสำคัญอันดับแรกคือ การสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมการขนส่งและโลจิสติกส์ที่คุ้มทุนมากขึ้น ซึ่งโครงการ Landbridge ของไทย ถือเป็นวิสัยทัศน์ในการพัฒนาความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค และไทยยินดีต้อนรับนักลงทุนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้

ประการที่สอง การเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเร่งการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (advance green economy and accelerate energy transition) ทั้งสองฝ่ายสามารถได้ประโยชน์จากการแบ่งปันความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดจากกัน การเปลี่ยนผ่านนี้อาจก่อให้เกิดต้นทุน แต่ก็เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ได้อีกด้วย ไทยจึงขอเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในการพัฒนาระบบนิเวศ EV ในอาเซียน โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านยานยนต์มายาวนานในอุตสาหกรรมนี้

ไทยสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและด้านเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงไฮโดรเจน และแอมโมเนียมากขึ้น และไทยยังส่งเสริมการเงินสีเขียวเพื่อความยั่งยืนอย่างแข็งขัน ผ่านมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) และการออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond)

ประการที่สาม การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (digital transformation) ถือเป็นตัวเปลี่ยนสถานการณ์ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืนที่แท้จริง และเพื่อสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและบูรณาการ ปัจจุบันอาเซียนกำลังศึกษากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Economy Framework Agreement: DEFA) ที่ถือเป็นกรอบข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาคฉบับแรกของโลก และด้วย DEFA คาดว่าอาเซียนจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค 2 เท่าเป็น 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573

ไทยยินดีร่วมมือญี่ปุ่นด้าน e-commerce รวมถึงเรื่องการไหลของข้อมูลข้ามพรมแดน (cross-border data flows) การปกป้องข้อมูล และการกำกับดูแล AI เพื่อช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ไทยเชื่อมั่นว่า เหล่านี้จะเป็นกลไกการเติบโตใหม่ เพื่อสร้างสังคมที่เจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศชาติของเราในอนาคต

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ