นายกฯ มอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 เชิดชูเกียรติ 44 องค์กรต้นแบบทั่วประเทศ ย้ำรัฐบาลพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ ยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้พร้อมแข่งขันในเวทีโลก

ข่าวทั่วไป Monday February 12, 2024 13:58 —สำนักโฆษก

นายกฯ มอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 เชิดชูเกียรติ 44 องค์กรต้นแบบทั่วประเทศ ย้ำรัฐบาลพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ ยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้พร้อมแข่งขันในเวทีโลก

วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 (The Prime Minister's Industry Award 2023) เพื่อเชิดชูเกียรติ 44 องค์กรต้นแบบทั่วประเทศที่มีความเป็นเลิศด้านอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิด ?อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน? สร้างขวัญกำลังใจในการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ ยกระดับขีดความสามารถในแข่งขัน และนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 (The Prime Minister?s Industry Award 2023) รวมจำนวน 14 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย 1. รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม (The Prime Minister?s Best Industry Award) จำนวน 1 รางวัล 2. รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น (The Prime Minister?s Industry Award) แบ่งเป็น 9 ประเภท ประกอบด้วย 1) ประเภทการเพิ่มผลผลิต 2) ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3) ประเภทการบริหารความปลอดภัย 4) ประเภทการบริหารงานคุณภาพ 5) ประเภทการจัดการพลังงาน 6) ประเภทการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 7) ประเภทอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 8) ประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม และ 9) ประเภทเศรษฐกิจหมุนเวียน 3. รางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น (The Prime Minister?s Small and Medium Industry Award) แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) ประเภทการบริหารจัดการที่ดี 2) ประเภทการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ 3) ประเภทการจัดการเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรม และ 4) ประเภทบริหารธุรกิจสู่สากล

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมและรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นทั้ง 44 องค์กร พร้อมกล่าวว่าในช่วงเวลาที่รัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศนับว่าเป็นโอกาสดีที่เศรษฐกิจของไทยจะมีทิศทางที่เติบโตและมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากการขยายตัวของการอุปโภค บริโภคของภาคเอกชนในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ที่กำลังมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในหลาย ๆ มิติ รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอดซึ่งเป็นแหล่งการจ้างงานและที่สำคัญเป็นภาคเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยมากที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งบ่งเพาะความรู้ เทคโนโลยีให้ก้าวหน้าและการกระจายไปสู่ภาคอื่น ๆ การสะสมประสบการณ์และความชำนาญของผู้ประกอบการไทย ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยไม่เป็นรองใครในโลกนี้ อีกทั้งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยและการแข่งขันในเวทีโลก โดยใช้ฐานความรู้อย่างสร้างสรรค์ การลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาฝีมือแรงงานและการบริหารจัดการที่ทันสมัย รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการลงทุน เพื่อสนับสนุนความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมไทยที่แสวงหาประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลจะช่วยเหลือและสนับสนุนความเจริญเติบโตในการส่งออก โดยจะช่วยเปิดตลาดการส่งออกให้มากยิ่งขึ้น ผ่านการเซ็นสัญญา FTA กับประเทศต่าง ๆ ในขณะเดียวกันก็จะช่วยผลักดันยกระดับศักยภาพผ่านการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งจะเป็นการนำพาทักษะใหม่ ๆ และห่วงโซ่อุปทานที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้นเข้ามาเป็นแรงผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องขยับตัวให้เก่งขึ้น อีกทั้งรัฐบาลจะขอสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปยังอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายที่ประเทศเราจะเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคตอันใกล้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้จัดการมอบรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมและรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งนับว่าเป็นการสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการที่จะพัฒนาคุณภาพและผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มีมาตรฐานและสามารถแข่งขันในเวทีโลกต่อไปได้ โดยการทำงานของรัฐบาลนี้จะทำงานเชิงรุก เราจะเปลี่ยนแปลงระบบวิธีการทำงาน จะพาเจ้าของบริษัท นักพัฒนาอุตสาหกรรมหลาย ๆ ท่านที่อยู่ในที่นี้ออกไปทำการค้าในเวทีโลกให้มากขึ้นซึ่งถือเป็นความหวังของรัฐบาลนี้ หากท่านมีพาร์ทเนอร์ในการลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศร่วมกันพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยให้ดีขึ้นในอนาคต ทางรัฐบาลยินดีให้การสนับสนุนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นจาก BOI หรือการนำผู้บริหารระดับสูงของบริษัทร่วมทุนของท่านที่ข้ามชาติ มาเจอกับผู้นำรัฐบาลคือนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นมิติใหม่ในการทำงานเชิงรุกที่จะยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้แข่งขันและไม่น้อยหน้าใครในเวทีโลก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ